ค้นหาบทความ

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

จากปรัชญานิพนธ์เลี่ยจื่อ


ภูเลี่ยกูเย่อยู่บนพื้นดินที่เป็นรอยต่อระหว่างแม่น้ำและทะเล
บนภูมีผู้เป็นเทพ
ดูดซับสายลม ร่ำดื่มน้ำค้าง ไม่รับประทานธัญพืชทั้งห้า
ปณิธานแห่งจิตใจเป็นดั่งน้ำใสในธารลึก
ลักษณะอ่อนโยนสงบดั่งดรุณีน้อย มิอิงแอบลุ่มหลง
ถือเอาการมีอายุยืนยาวดุจเซียน
และการมีคุณธรรมกระจ่างจ้าเป็นอำมาตย์บริวาร
ไม่วิตกหวาดกลัว ไม่มีโมโหโทโส
ถือเอาความจริงใจถ้วนถี่เป็นข้ารับใช้
มิบริจาคถือเป็นบุญคุณ
หากทว่าสิ่งทั้งหลาย (อันอยู่นอกกาย) นั้น มีเพียงพอแก่อัตภาพ
ไม่เบียดเบียนสะสม
หากแต่ตนนั้นมิได้อยู่ในความขาดแคลน
อินและหยางอยู่ในสมดุลเป็นนิจศีล
ตะวันจันทราส่องสว่างอยู่โดยสม่ำเสมอ
กาลทั้งสี่ราบรื่นอยู่ตลอดเวลา
ลมและฝนสมดุลเพียงพอ
สัตว์เลี้ยงแพร่พันธุ์เติบโตเป็นปกติ
การเก็บเกี่ยวพืชผลอุดมสมบูรณ์ทุกปี
แผ่นดินมิได้มีความวิปริตป่วยไข้
ผู้คนมิได้ป่วยเจ็บล้มตายแต่อายุยังน้อย
เมื่อสรรพสิ่งทั้งหลายมิได้ป่วยเจ็บ
ผีร้ายก็มิมีปรากฏการณ์ประหลาดแสดงให้เห็น

เลี่ยจื่อ
ปรัชญานิพนธ์เต๋าสมัยราชวงศ์โจว (1066-256 B.C.)


คัมภีร์เลี่ยจื่อ หากจะนับโดยอายุ สันนิษฐานว่าเก่าแก่มากกว่า 2,000 ปี เพียงแต่หลักฐานบันทึกโบราณยังมิอาจสรุปชี้ชัดลงได้อย่างแน่นอนว่า เลี่ยจื่อ คือใคร
ปราชญ์แห่งลัทธิเต๋าทั้งเหลาจื่อ และจวงจื่อนั้น มีหลักฐานบันทึกประวัติเป็นลายลักษณ์อักษร อยู่ในหนังสือ “บันทึกประวัติศาสตร์” (สื่อจี้) อันเป็นหนังสือบันทึกประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการเล่มแรกของจีน ที่เรียบเรียงขึ้นโดยซือหม่าเชียน (145-87 ปีก่อน ค.ศ.)
หากแต่ซือหม่าเชียนมิได้เขียนประวัติของเลี่ยจื่อบันทึกไว้ในสื่อจี้เป็นหลักฐาน
แม้กระนั้น จากหลักฐานข้อมูลอื่นๆ ก็ยังสามารถสันนิษฐานว่า เลี่ยจื่อน่าจะเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง และคัมภีร์เลี่ยจื่อนั้น มีเอกสารหลักฐานตกทอดกันมายาวนาน
ทั้งในคัมภีร์เต้าเต๋อจิง (เต๋าเต๊กเก็ง) ของเหลาจื่อ และคัมภีร์จวงจื่อ โดยจวงจื่อ ล้วนมีส่วนที่อ้างอิงหรือกล่าวโยงไปถึงเลี่ยจื่ออย่างชัดเจนหลายแห่ง โดยเฉพาะในปรัชญานิพนธ์จวงจื่อ มีอยู่หลายบทที่เป็นข้อความเดียวกับคัมภีร์เลี่ยจื่อ

นอกจากในฐานะคัมภีร์ปรัชญาแล้ว เนี้อหาในคัมภีร์เลี่ยจื่อยังมีลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งแปลกไปจากคัมภีร์เต้าเต๋อจิง คือ มีลักษณะเขียนคล้ายการเสนอวิถีแห่งการดำเนินชีวิต ลักษณะเช่นนี้มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์จวงจื่อเช่นกัน ทว่ามิได้เรียบง่ายและมิได้มีจำนวนมากเท่าคัมภีร์เลี่ยจื่อ
แม้ว่าคัมภีร์เต๋าทั้ง 3 เล่มนี้ จะมีเนื้อหาส่วนที่เป็นลักษณะอภิปรัชญาทุกเล่ม แต่คัมภีร์เต้าเต๋อจิงซึ่งมีเพียง 81 บท และบันทึกลงด้วยถ้อยคำน้อยที่สุด กลับเป็นเล่มที่มีลักษณะอภิปรัชญาสูงสุด ขณะที่คัมภีร์จวงจื่อมีลักษณะเชิงอภิปรัชญารองลงมา และคัมภีร์เลี่ยจื่อมีลักษณะการเขียนแบบชี้แนะวิถีแห่งการดำเนินชีวิตมากที่สุดและชัดเจนที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับอีก 2 เล่มดังกล่าว

บทที่เลือกมาแปลในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าแสดงถึงการเสนอวิถีปรัชญาเชิงธรรมชาตินิยม โดยมุ่งเน้นที่คุณธรรมในการดำเนินชีวิต ยืนอยู่บนหลักอันมั่นคงของแนวคิดแบบตะวันออก คือ ความสงบ สันโดษ อ่อนโยน สมดุล เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ และไม่อวดโอ่
ปรัชญานิพนธ์เลี่ยจื่อ เป็นเสมือนปรัชญาคิดเชิงสุขนิยมแบบตะวันออก เป็นเสมือนสายลมบริสุทธิ์พัดแผ่วให้ความเย็นชื่น เป็นดั่งน้ำค้างวาวใส ให้ความรู้สึกบริสุทธิ์สะอาด ทว่าก็เป็นปรัชญาที่จับต้องได้ นำมาประยุกต์ปฏิบัติได้จริง แม้เมื่อกาลเวลาล่วงผ่านมาร่วม 3,000 ปีแล้วก็ตาม

เรืองรอง รุ่งรัศมี
3 / 2000


ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ "สายลมในกิ่งหลิว" เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 407 วันที่ 20-26 มีนาคม 2000

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น