ค้นหาบทความ

วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

จุดผิดพลาดของมือเก่า


1.
ตอนเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง บางทีแรงบันดาลใจให้เริ่มต้นทำสิ่งนั้นก็มีอย่างชัดเจน บางทีก็ค่อนข้างเลือนรางพร่ามัว
นอกจากการทำอะไรด้วยความจำยอม หรือเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แล้ว คนเราคงต้องมีแรงขับบางอย่าง ที่ทำให้ไปทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน หรือแปลกออกไป
สิ่งที่แปลกออกไปหรือไม่เคยทำมาก่อน พอทำบ่อยเข้า ฝึกฝนนานเข้า ก็จะไม่เป็นเรื่องใหม่หรือเรื่องแปลกอีกต่อไป
พอมันไม่แปลก ไม่ใหม่ นอกจากความคล่องแคล่วที่มากขึ้นแล้ว ก็มักจะมีความเคยชิน และความชาชินตามมา
อะไรๆ ที่เคยดูชัด หรือทำยากในตอนแรก ก็เริ่มกลายเป็นเรื่องดูไม่ชัด และทำไม่ยากในเวลาต่อมา

2.
กฎเกณฑ์ หลักการ ตอนเริ่มต้นนั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่ค่อนข้างชัดเจนจะแจ้ง
ต้องมีกฎเกณฑ์ มีหลักการในตอนเริ่มแรก เพราะกฎเกณฑ์และหลักการเป็นเหมือนกรอบและเงื่อนไขประกอบการคิด การฝึกฝน และการทำ
ระหว่างคิดลงรายละเอียด และระหว่างฝึกฝนปฏิบัตินั้น กรอบของกฎเกณฑ์และหลักการย่อมจะต้องถูกปรับถูกแก้ไขบ้าง ไปตามข้อจำกัดที่พบเจอในระหว่างนั้น
การปรับประยุกต์หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น คือการยืดหยุ่น เพื่อให้สิ่งที่ทำนั้นปรากฏเป็นจริงได้ หรือปฏิบัติได้จริง
พอเป็น “มือเก่า” บางทีคนเราก็เลอะเลือนกับกรอบกฎเกณฑ์ ไปกับความเคยชินที่ปรับประยุกต์จากกรอบกฎเกณฑ์เดิม ครั้งแล้วครั้งเล่า
พอลืมนำไปเทียบกับหลักการกฎเกณฑ์เริ่มแรก แล้วใช้แต่ความเคยชินในการปรับประยุกต์ ที่ปรับมาจน “กลายรูป” ไปแล้ว คนเราก็จะไม่ใจกว้างในการรับฟังคำทักท้วง

3.
พวก “มือเก่า” มีจุดอ่อนตรงความเชื่อมั่น
เชื่อมั่นในตัวเองสูง กับดื้อรั้น ไม่ฟังคำทักท้วงของผู้คน เป็นเพื่อนสนิทที่ชอบกอดคอไปด้วยกัน
บางทีมันก็กอดคอพาไปลงน้ำ ลงโคลน ลงหลุม ลงหล่ม
มือเก่าที่ทำอะไรมาได้ตั้งมากมาย กับมือเก่าที่เคยทักท้วงผู้อื่นมาได้มากมาย ก็มีจุดเด่นและจุดด้อยอย่างเดียวกันคือ เรื่องความเชื่อมั่นในตัวเอง และความดื้อรั้น
เมื่อความเชื่อมั่นที่สูง และความดื้อรั้น ชนกับความเชื่อมั่นที่สูง และดื้อรั้นพอกัน จึงเป็นการขัดสีที่ร้อนแรง
การขัดสีที่ร้อนแรงและรุนแรงอาจทำให้ไฟลุกได้
เมื่อไฟลุกไหม้ ไฟย่อมเผาทั้งสิ่งที่ควรเป็นเชื้อฟืน และสิ่งที่มีประโยชน์

4.
เวลาที่ทำอะไรจนเหงื่อไหลไคลย้อย กระทั่งเหงื่อเข้าตา คนเราจะรู้สึกแสบตา และตาพร่ามัวไปชั่วขณะ
ไม่ให้เหงื่อเข้าตา ไม่ใช่การงอมืองอเท้าไม่ทำอะไรให้มีเหงื่อ แต่คือการรู้จักเช็ดเหงื่อเมื่อมีเหงื่อไหล
ทำงานให้มีเหงื่อช่วยให้สุขภาพแข็งแรง
แต่ทำอะไรจนเหงื่อเข้าตาแล้วไม่รู้จักเช็ดนั้น คือการขาดสติ
สติไม่สมบูรณ์ ปัญญาก็คงบกพร่อง
บางเวลา พวก “มือเก่า” ก็ควรหยุดพัก แล้วพินิจพิจารณาแรงบันดาลใจเริ่มแรก และกรอบกฎเกณฑ์เริ่มแรก
ทำอะไรมากๆ ใครๆ ก็ผิดพลาดได้ แต่ผิดพลาดแล้วไม่ควรดื้อรั้น
มือใหม่มือเก่าล้วนพลาดและผิด เพราะความดื้อรั้นได้ทั้งนั้น

เรืองรอง รุ่งรัศมี
12/2005


ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ "สายลมบูรพา" กรุงเทพธุรกิจ (กายใจ) วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม 2005

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น