ค้นหาบทความ

วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ศรัทธาของอาม่า



อาม่าแก่ๆ ในครอบครัวคนจีนจุดธูปไหว้ “แป๊ะกง” และ “ตี่จู๋เอี๊ย” ทุกเช้า อาม่าบางคนกินเจในมื้อเช้าด้วย
อาม่าไม่ไปปิดทองพระพุทธรูป ทำสังฆทาน หรือเลี้ยงพระเพล นั่นไม่ใช่วัฒนธรรมที่อาม่าคุ้นเคย อาม่าคุ้นเคยกับการสวดมนต์นับลูกประคำมากกว่า อาม่าทำบุญทำทานในวิธีของอาม่า ทำบุญกับวัด ทำทานกับมูลนิธิหรือศาลเจ้าอาม่าก็ทำ ปล่อยปลา ไถ่ชีวิตวัวควายอาม่าก็ทำ
ความเชื่อความศรัทธาในความดีงามในแบบของอาม่า บางทีลูกหลานก็ทำเอาใจอาม่า โดยไม่ศรัทธาหรือเข้าใจเลย
แต่แค่ดูแลช่วยเหลือให้อาม่าได้ทำบุญทำกุศลได้โดยสะดวก อาม่าก็มองดูลูกหลานคนนั้นด้วยความเอ็นดูแล้ว

เมตตาธรรม คือ ความมีน้ำใจอ่อนโยน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใครๆ ก็ทำได้ ทำโดยวิธีไหน ด้วยความศรัทธาแบบไหน คงไม่ต่างกันมากนัก
เมตตาต่ออาม่าแก่ๆ ที่บ้าน หรือที่อยู่ใกล้ๆ บ้าน สังคมภายนอกอาจไม่รับรู้เหมือนกับการแสดงตัวเป็นคนรักช้าง รักหมา รักแมว รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ความรักความเมตตาที่คนเล็กๆ ทำไปอย่างเงียบๆ นี่แหละ ที่ช่วยให้โลกดำเนินไปอย่างปกติสุข การทำความดีโดยใจสบายนี่แหละ คือความงดงามในอุดมคติ “ความจริง ความดี ความงาม
ศรัทธาความเชื่อของคนนั้นไม่เหมือนกัน ศรัทธา ความเชื่อ ความคุ้นเคยอย่างหนึ่ง นำไปสู่การประพฤติปฏิบัติอย่างหนึ่ง ขอเพียงเป็นศรัทธา ความเชื่อ และการปฏิบัติที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่นและไม่เบียดเบียนตน ก็น่าจะถูกมองและถูกปฏิบัติด้วยความใจกว้าง
แต่ความเชื่อความศรัทธาที่อยู่ในอาการเบียดเบียน รุกราน ครอบงำ หรือปรารถนาในการครอบครองโดยไม่สิ้นสุดนั้น ทำให้แบ่งเขา แบ่งเรา และเกิดความคิดยกตนข่มท่านได้ง่าย

สวรรค์ใดๆ ล้วนคือแดนสุขาวดีทั้งนั้น ทำความดีเล็กๆ น้อยๆ ง่ายๆ ใกล้ๆ ตัว พระเจ้าก็อนุญาตให้สู่แดนสุขาวดีเท่ากับความดีที่ทำยากๆ ทำอย่างยิ่งใหญ่
บางทีทำความดีอย่างยิ่งใหญ่ อย่างเอิกเกริก ครึกโครม อาจเป็นหนทางสู่นรก ทั้งของตนและผู้อื่นก็ได้ หากไม่รู้ถึงการปล่อยวางและอนัตตา
การยึดมั่นถือมั่นทำให้ดูถูกดูแคลนผู้อื่น ทำให้จิตยึดมั่นในชั้นวรรณะ ยึดมั่นว่าตนอยู่ในวรรณะที่ทำความดีมากกว่าผู้อื่น คิดว่าตนเป็นวรรณะที่จิตบริสุทธิ์ผุดผ่องกว่าผู้อื่นนั้น จิตพ้นไปจากความเป็นประภัสสร สู่ความสกปรกโสมมไม่น้อยแล้ว

ศากยะพุทธะแบ่งคนเป็นบัวสี่เหล่า เป็นการแบ่งในเชิง “เทคนิค” เพื่อแยกวิธีการบ่มเพาะปัญญา มิใช่การแบ่งรรณะหรือชนชั้น
วรรณะหรือชนชั้นในสังคมพุทธนั้น ทลายลงแต่แรกแล้ว ด้วยการให้นักบวชพุทธโกนหัวเหมือนกัน นุ่งห่มเหมือนกัน และใช้ระเบียบทำความเคารพกันโดยถือพรรษาบวช ไม่ใช่ถืออายุเกิดในโลกฆราวาสหรือตำแหน่งยศศักดิ์ฐานะ
ความศรัทธาในความไม่มีวรรณะ ไม่มีชนชั้น น่าจะเป็นปรัชญาพุทธะข้อสำคัญ ที่เป็น “ธรรม” เป็น “มรรค” หรือ “มรรคา” หรือ “วิถี” หรือ “เต๋า” หรือ “หนทาง” ที่ผู้เชื่อในพุทธะพึงมุ่งไป

อาม่าไหว้แป๊ะกง ไหว้ตี่จู๋เอี๊ย ปากพูดอธิษฐานว่า “เหล่า เอี๊ย ป๋อ ห่อ” อาม่าไหว้เจ้าแม่กวนอิม อธิษฐานว่า “นัมโม กวง ซี อิม ผ่อสักกิ้ว โข้ว กิ้ว หล่าง” อาม่าไหว้พระสังกัจจาย อธิษฐานว่า “นัมโม ออ หนี่ ถ่อ ฮุก” ล้วนแต่ทำให้จิตสงบ เป็นสมาธิ และโน้มนำไปสู่กุศล มีเป้าหมายต่างอันใดกับการสวดมนต์แบบอื่นๆ เพียงแค่คำบาลีสันสกฤตในบทสวดส่วนหนึ่งของอาม่า ถอดเสียงออกเป็นภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋วเท่านั้น ลูกหลานผู้ตื้นเขินในธรรมจำนวนหนึ่งก็รู้สึกเป็นเรื่องน่าขัน
และถึงอาม่าจะไม่ท่องบ่นคำบาลีสันสกฤตเลย ก็ไม่ได้หมายความว่าอาม่ามิได้ยึดถือความเชื่อเรื่องคุณงามความดี
และถึงไม่ใช่อาม่าที่บ้าน แต่เป็นลุงสม ยายไฮ นายมูฮัมหมัด คุณรีเบคก้า ฯลฯ หากเขาไม่ใช่ชาวพุทธ ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ใช่คนดี ไม่ได้ศรัทธาในความดี
และถึงบุคคลใดจะประกาศตัวไม่สังกัดเป็นศาสนิกของศาสนาใด ก็ไม่ได้หมายความว่า เขามิได้เชื่อและศรัทธาในคุณงามความดี

อาม่าอาจเป็นคนแก่ที่มิได้ทำการผลิต อาม่า อากง คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย อาจไม่มีเรี่ยวแรงสร้างผลผลิต ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซ้ำร้ายความแก่ชรายังทำให้เจ็บป่วย ออดๆ แอดๆ เป็นภาระของครอบครัวและสังคม แต่คนที่ดำเนินชีวิตมาจนถึงวัยปลาย โดยยังคงดำรงความเชื่อ ความศรัทธาต่อความดีงามเอาไว้ได้ ล้วนเป็นนักรบชีวิต ผู้ที่เราควรให้เกียรติและแสดงความนับถือ คารวะ
อาม่าแก่ๆ ตายายแก่ๆ คนไหนๆ ล้วนมีชีวิตผ่านวันเวลามาแล้วไม่น้อย หากคนเฒ่าคนแก่เหล่านี้ยังมีศรัทธาต่อการทำความดี อย่างน้อยคนรุ่นหลังที่อยู่ใกล้เขาก็ยังมีโอกาสรับผลจากจิตอันเป็นกุศลของพวกเขาบ้าง
ใครที่ยังมีปู่ย่าตายาย หรืออากงอาม่ายังมีชีวิตอยู่ ท่านรู้ตัวไหมว่า ครั้งสุดท้ายที่ท่านสัมพันธ์กับคนแก่ที่เป็นญาติของท่านนั้น นานเท่าไหร่แล้ว


เรืองรอง รุ่งรัศมี
8 / 2004


ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ "สายลมในกิ่งหลิว" เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 636 วันที่ 9-15 สิงหาคม 2004

2 ความคิดเห็น:

  1. ครั้งหนึ่งเคยคิดว่าอย่างนี้โง่งมงาย วันนี้มองว่าเป็นรากฐานความเป็นมนุษย์

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เมื่อหัวใจเราละเอียดอ่อนขึ้น
      เราก็จะมองเห็นในความงามที่เราเคยมองผ่าน

      ขอบคุณที่ติดตามผลงานครับ
      หวังว่าคงได้มีโอกาสร่วมจิบในวันอันใกล้

      ลบ