ค้นหาบทความ

วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เพลงพิณพระจันทร์ในวสันต์

ลมเย็นยามค่ำโชยพลิ้ว จันทร์กระจ่างทอแสงนวลกลางฟ้า บรรยากาศช่างปลอดโปร่งชวนให้รู้สึกสบาย
จินตนาการไปว่าเอื้อมคว้าเอาดวงเดือนบนฟ้าลงมากอดแนบอกได้พลันนั้น เพลงพิณดังมาจากเครื่องเสียงที่เปิดไว้
เพลงพิณพระจันทร์” ทำให้ค่ำคืนเช่นนี้งดงามยิ่งขึ้น เสียงนั้นเร้ารัว สดใส และทรงพลัง
“พิณพระจันทร์” หรือ “พิณวงเดือน” เป็นเครื่องดนตรีจีนโบราณชิ้นหนึ่ง ภาษาจีนเรียกว่า “เยว่ฉิน” “เยว่” แปลว่า พระจันทร์หรือดวงเดือน “ฉิน” แปลว่า พิณ “เยว่ฉิน” จึงถูกเรียกในภาษาไทยว่า “พิณพระจันทร์” หรือ “พิณวงเดือน” เป็นเครื่องดนตรีจีนที่มีชื่อไทยไพเราะ และบ่งบอกถึงลักษณะเฉพาะได้อย่างชัดเจนงดงามที่สุด

พิณพระจันทร์หรือพิณวงเดือน เป็นพิณรูปวงกลมเหมือนจันทร์เต็มดวง มีสาย 4 สาย แต่คอสั้นกว่ากีตาร์ ไวโอลิน หรือแบนโจของฝรั่ง โดยรูปลักษณ์แล้ว พิณพระจันทร์มีรูปทรงคล้ายแบนโจของฝรั่งมาก เพียงแต่ลำตัวที่เป็นวงกลมหรือวงเดือนของเยว่ฉินมีขนาดใหญ่กว่า และมี “คอ” ที่สั้นมาก
ลักษณะน้ำเสียงของพิณพระจันทร์ใกล้มาทางเสียงพิณของภาคอีสานและภาคเหนือของเรา วิธีการเล่นก็คล้ายคลึงกับวิธีการเล่นพิณไทย เครื่องดนตรีประเภทพิณของชาวเขาทั้งเอเชีย และพิณพื้นบ้านทั้งหลายในย่านซีกโลกตะวันออก ถือเป็นเครื่องดนตรีที่เป็น “เครือญาติ” ของพิณพระจันทร์ได้ทั้งในแง่ของรูปร่าง น้ำเสียง และวิธีการเล่น
ในยุคโบราณ พิณพระจันทร์มีชื่อเรียกภาษาจีนอีกชื่อหนึ่งว่า “หญ่วน” หญ่วนในสมัยโบราณของจีนกับพิณซามิเซ็นของญี่ปุ่นนั้นคล้ายกันมาก พิณพระจันทร์หรือเยว่ฉินในปัจจุบันนี้ได้ดัดแปลงพัฒนามาจาก “หญ่วน” ในยุคโบราณนั่นเอง

พิณพระจันทร์เป็นเครื่องดนตรีที่เล่นกันแพร่หลายมากในประเทศจีน ในดนตรีของชนพื้นเมือง และในการแสดงงิ้ว พิณพระจันทร์ก็ถือเป็นเครื่องดนตรีชิ้นสำคัญ
ในคณะดนตรีที่เล่นประกอบการแสดงงิ้ว (จิงจวี้) นั้น เยว่ฉินถือเป็นเครื่องดนตรีชิ้นสำคัญ 1 ใน 3 ชิ้น ซึ่งประกอบด้วย เยว่ฉิน เอ้อร์หู และจิงเอ้อร์หู้ เครื่องดนตรีทั้งสามชิ้นนี้ถูกเรียกว่า “3 เครื่องดนตรีหลัก” หรือ “ซานต้าเจี้ยน”
ชนชาติอี๋ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนนั้น เรียกเยว่ฉินหรือพิณพระจันทร์ว่า “เสวียนจื่อ” พวกเขามีความคุ้นเคยกับเครื่องดนตรีชิ้นนี้มาก และนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายในเวลาขับระบำรำฟ้อนในชีวิตประจำวัน
พิณพระจันทร์แต่ดั้งเดิมนั้นมิได้มีช่วงเสียงกว้างอย่างในปัจจุบัน ที่นิยมบรรเลงอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นพิณพระจันทร์ที่ได้ผ่านการพัฒนาและปรับปรุงทั้งในด้านช่วงเสียง และนำเอาสายไนลอนอย่างสมัยใหม่มาขึงแทนสายที่ทำจากเส้นไหมแต่เดิมด้วย

แผ่น YUEQIN AND ORCHESTRA LEI QIN-AN ของบริษัท HUGO แห่งฮ่องกง รหัสแผ่น HRP 7102-2 นี้ เป็นแผ่นน่าสนใจอย่างยิ่ง สำหรับคอเพลงคลาสสิคจีน
ซีดีแผ่นนี้บันทึกระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน -1 กรกฎาคม 1994 ที่ RECORDING STUDIO OF PLA ORCHESTRA ในปักกิ่ง ผู้บรรเลงเดี่ยวเยว่ฉินหรือพิณพระจันทร์นี้ คือ เหลยฉวินอาน โดยเธอร่วมเล่นกับวง THE SYMPHONY ORCHESTRA OF THE CENTRAL BALLET COMPANY (จงยางปาเหลยอู่เจียวเสี่ยงเยว่ถวน) ผู้อำนวยเพลงคือ เปี่ยนจู่ซ่าน ลีลาท่วงทำนองโดยรวมของแผ่นนี้ มีกลิ่นอายของเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงบัลเล่ต์อย่างชัดเจน คอเพลงคลาสสิคฝรั่งสามารถรับฟังได้อย่างไม่รู้สึกแปลกแยกมากนัก
ตลอด 65.18 นาที ที่นั่งฟังซีดีชุดนี้ เราจะสัมผัสได้ถึงฝีมือการเล่นและการกำกับเพลงที่เด็ดขาด ชัดเจน เสียงแต่ละเสียงที่เปล่งออกมาในบทเพลงล้วนเต็มไปด้วยความมั่นใจของตัวผู้เล่นและผู้อำนวยเพลง หากสามารถเปิดฟังด้วยเสียงดังๆ ได้ จะยิ่งทำให้เพลงชุดนี้เปล่งอานุภาพได้ดียิ่งขึ้น

รายละเอียดเกี่ยวกับตัวเหลยฉวินอาน ผู้บรรเลงพิณเยว่ฉินที่ให้มาในแผ่นเสียงมีว่า
เหลยฉวินอานสำเร็จการศึกษาด้านดนตรีมาจากแผนกการดนตรีในวิทยาลัยนาฏศิลป์และการดนตรีแห่งประเทศจีน เมื่อปี ค.ศ.1984 เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้รับการบรรจุเข้าเป็นอาจารย์สอน ณ สถาบันที่เธอเคยเรียนนั้นเอง ปัจจุบันเธอเป็นสมาชิกของสมาคมดนตรีแห่งชาติ และเป็นสมาชิกสมาคมนักดนตรีแห่งปักกิ่งอีกด้วย
เหลยฉวินอานเกิดในครอบครัวตระกูลช่างตัดเย็บเสื้อผ้า บิดาเป็นคนที่หลงใหลในอุปรากรงิ้ว และส่งอิทธิพลความชอบนี้มาถึงเธอด้วย ทำให้เธอเกิดความนิยมชมชื่นการเล่นพิณเยว่ฉินตั้งแต่วัยเยาว์ เธอได้เป็นศิษย์เรียนการบรรเลงพิณเยว่ฉินกับอาจารย์ จินลี่ฮว๋า ในคณะงิ้วที่อู่ฮั่น ฝีมือความสามารถของเธอก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ค.ศ.1978 เธอได้รับคัดเลือกเข้าเรียนในวิทยาลัยการดนตรีและอุปรากรจีน ระหว่างนี้เธอได้รับคำชี้แนะจากอาจารย์ ชุยหย่งขุย และอาจารย์ เฝิงซ่าว ทำให้สามารถพัฒนาเทคนิคการเล่นพิณเยว่ฉินได้อย่างมาก ค.ศ.1984 เธอสำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนดีเด่น
สำหรับ เปี่ยนจู่ซ่าน ผู้เป็นวาทยกรนั้นก็มีชื่อเสียงเลื่องลือ มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงและกำกับดนตรีมามาก ชื่อของท่านเป็นอีกชื่อหนึ่งที่สามารถประกันถึงความสมบูรณ์แบบของผลงาน

วงดนตรี THE SYMPHONY ORCHESTRA OF THE CENTRAL BALLET COMPANY ของจีน เป็นวงดนตรีเก่าแก่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1959 มีผลงานการแสดงบรรเลงประกอบการแสดงบัลเล่ต์ ทั้งที่เป็นเรื่องทางตะวันตกและเรื่องของจีนเองมามากมาย
ฟังซีดีแผ่นนี้แล้ว จะรับรู้ได้ถึงความลงตัวสมบูรณ์แบบของนักดนตรีทั้งวง และฝีมือการอำนวยเพลงได้อย่างน่าชื่นชม ฝีมือนั้นเต็มเปี่ยมทั้งความเด็ดขาด ชัดเจน และมั่นใจ
บทเพลงในซีดีแผ่นนี้มีทั้งหมด 5 บทเพลงใหญ่ เป็นเพลง SUITE เสีย 1 เพลง และเป็น CONCERTO อีก 1 บทเพลง
SUITE FOR YUEQIN SPRING” เป็นเพลง SUITE สำรับแรกแบ่งเป็น 4 ท่อนย่อย อยู่ในแทร็คที่ 1, 2, 3, 4 ของแผ่น เพลงนี้แต่งโดย เฉิงข่าย เห็นชื่อเพลงในภาษาจีนแล้วอยากเรียกชื่อเพลงนี้ว่า “เพลงพิณพระจันทร์ชุด เพลงวสันต์

แทร็คที่ 1  “คืนสู่วสันตกาล” หรือ RETURNING OF SPRING เปิดเพลงเหมือนลีลาของเสียงกบเขียดที่ตื่นฟื้นจากการจำศีลในฤดูหนาวอันยาวนาน เราจะรับรู้ได้ถึงสายลมที่พลิ้วพัด และความสดชื่นอ่อนโยนของการคืนสู่ฤดูใบไม้ผลิอีกครั้งหลังจากฤดูหนาวอันหนาวเหน็บ ต้นไม้พากันแตกใบและหน่ออ่อน ดอกไม้แย้มบาน หมู่นกและแมลงบินฟ้อน เป็นบรรยากาศที่ชวนให้สดชื่นเบิกบานใจ เพลงในแทร็คที่ 1 นี้ ฟังรื่นหู สดใส น่าชื่นบาน
แทร็คที่ 2ระบำวสันต์” หรือ DANCING OF SPRING ท่วงทำนองคึกคักขึ้น เสียงกระหึ่มคึกคักของดนตรีทั้งวง ชวนให้รู้สึกอยากลุกขึ้นมาเต้นระบำรำฟ้อน เป็นท่วงทำนองที่สนุกสนาน สดใส และสง่างาม ฟังคุ้นหูมาก สำหรับคนฟังเพลงจีน
แทร็คที่ 3เพลงวสันต์” หรือ SPRING SONG เปิดเพลงด้วยเสียงขลุ่ยพลิ้วไหว ลีลาคล้ายท่วงทำนองของ THE BUTTERFLY LOVERS อยู่พอสมควร และแล้วเสียงของเยว่ฉินหรือพิณพระจันทร์ก็ดังสอดรับอย่างอ่อนหวาน ไพเราะ เป็นบทเพลงแห่งฤดูใบไม้ผลิที่หวานไหว เราจะรู้สึกถึงฟ้ากว้างสดใส สายลมเย็นสบาย เหมือนจะดมดอมได้ถึงกลิ่นหอมของมวลดอกไม้ และได้แลเห็นสีสันงดงามของธรรมชาติ เป็นลีลา ท่วงทำนองที่ให้ความรู้สึกฉ่ำเย็น อ่อนโยน หรืองดงามอย่างเต็มที่
แทร็คที่ 4ท่องวสันต์” หรือ OUTING SPRING ลีลาคึกคักสดใส ชวนให้คิดถึงการออกท่องเที่ยวไปด้วยความเบิกบานและปลอดโปร่งใจเป็นอย่างยิ่ง
จากแทร็คที่ 1-4 รวมกันเป็นเพลงชุด จะแยกฟังเดี่ยวๆ หรือฟังต่อเนื่องทั้งสี่แทร็คก็ดูลงตัวและไพเราะ สมบูรณ์ เป็นเพลงหวาน ไพเราะ ที่ปราศจากกลิ่นอายความหม่นเศร้า ฟังแล้วชื่นบานใจเป็นอย่างยิ่ง

แทร็คที่ 5วสันตกาลที่เทียนซาน” หรือ SPRING IN TIANSHAN เดิมเพลงนี้เป็นเพลงสำหรับบรรเลงเดี่ยว ด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านของชนชาติอุยกูร (UYGUR) ที่เรียกว่า REWAFU เป็นเพลงที่แต่งขึ้นโดย อูซื่อหม่านเจียง และอวี๋หลี่ฉุน และต่อมา หวางฟ่านตี้ ได้นำมาเรียบเรียงใหม่เพื่อให้ใช้เล่นกับพิณผีผา (พิณรูปหยดน้ำ) ในปี ค.ศ.1961 ทำให้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายต่อมา จากนั้น สวีเจิ้นหมิง ได้นำมาเรียบเรียงใหม่เพื่อให้ใช้แสดงเดี่ยวด้วยพิณเยว่ฉินร่วมกับวงออร์เคสตร้า
เพลง “วสันตกาลที่เทียนซาน” นี้ เริ่มด้วยเสียงของออร์เคสตร้าทั้งวง จากนั้นเยว่ฉินจะรับด้วยเสียงอันสดใส แล้วขลุ่ยก็สอดร้อยเป็นท่วงทำนองที่สดใส รื่นเริง ดนตรีลื่นไหลไปอย่างสดใสงดงามเช่นนี้อยู่ช่วงหนึ่ง แล้วจึงร้อนแรงขึ้นด้วยลีลาท่วงทำนองที่มีสีสันบรรยากาศ แบบดนตรีของชาวมุสลิมในแถบถิ่นทะเลทราย เสียงดนตรีที่คึกคักนี้ ถ้าสามารถเปิดฟังด้วยเสียงดังๆ จะให้ความรู้สึกที่สนุกสนานมาก ดนตรีมีลูกเล่น ฟังเร้าใจ ชวนให้ขยับแข้งขยับขาตามจังหวะทำนอง ถ้าฟังเพลงนี้อยู่กลางแจ้งในกลุ่มมิตรสหาย ก็น่าลุกขึ้นมาจับคู่เต้นระบำกันอย่างยิ่ง
เป็นเพลงที่สดใส มีชีวิตชีวา เปี่ยมพลัง จบลงอย่างหมดจดและเต็มอิ่มในอารมณ์ ฟังแล้วโล่งอกโล่งใจไม่น้อย ใครกำลังเครียด เพลงนี้เป็นเพลงคลายเครียดที่ใช้ได้เลย
แทร็คที่ 6เย่เซินเฉิน” หรือ “ดึกดื่น” หรือ NIGHT THOUGHTS เป็นเพลงหนึ่งที่ใช้ประกอบงิ้วบ่อยๆ คนที่ชอบดูงิ้วหรือแฟนหนังกำลังภายในรุ่นเก่าคงคุ้นหู เป็นเพลงที่เมื่อนำมาเล่นร่วมกับวงดนตรีใหญ่ๆ แล้วให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ สง่างาม และฟังเต็มอิ่มในอารมณ์มาก
ระหว่างแทร็คที่ 6 กับ 7 เพลงหักอารมณ์รุนแรงไปนิดหนึ่ง กำลังฟังเพลินๆ อยู่ในอารมณ์แบบหนึ่ง แล้วพลันต้องมาฟังเพลงที่หนักหน่วง เคร่งเครียด จริงจัด โดยทันที ทำให้รู้สึกสะดุดเหมือนหัวคะมำ ทำให้รับอารมณ์ของเพลงที่ 7 ได้ไม่ค่อยทัน
แทร็คที่ 7นิรวาณ” หรือ NIRVANA เป็นเพลงที่แต่งขึ้นจากบทกวีขนาดยาวเรื่อง “นิรวาณแห่งเฟิ่งฮว๋าง” (เฟิ่งฮว๋างเนี่ยผาน) ของ กวอมว่อยว่อ กวีใหญ่คนหนึ่งของจีนยุคใกล้
เพลง “นิรวาณ” หรือ “นิพพาน” นี้อยู่ในลีลากึ่งๆ ระหว่างเพลงประกอบภาพยนตร์และเพลงอุปรากร แต่ค่อนไปทางเพลงอุปรากรมากกว่า มีช่วงที่กระหน่ำเสียงอย่างหนักหน่วงรุนแรงและต่อเนื่องอยู่หลายช่วง หากไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะรับดนตรีที่หนักหน่วงและจริงจังแล้ว อาจทำให้หงุดหงิดได้
แต่หากว่าอารมณ์พร้อม เพลงนี้จะทำให้รู้สึกถึงพลังอันยิ่งใหญ่ได้เป็นอย่างดี
ถือเป็นเพลงหนวกหูและน่าเบื่อสำหรับคนที่ชอบฟังเพลงเสียงเรียบรื่น สดใส เบาสบาย แต่เป็นเพลงฟังสะใจสำหรับคอเพลงที่ชอบเสียงเครื่องเป่าแผดดัง กลองรัวกระหน่ำก้อง บรรยากาศแทบถล่มทลายในบางช่วง สลับกับท่วงทำนองที่บาดลึก โหยเศร้า
ออกจะต้องใช้สมาธิมากหน่อยสำหรับเพลงนี้ และหากฟังตอนดึกๆ ในสถานที่การเก็บเสียงไม่ดี ระวังวัตถุลึกลับมากระทบบ้านหรือร่างกายไว้บ้างก็ดี

แทร็คที่ 8, 9, 10 เป็นเพลงชุดคอนแชร์โต้ “เปียนไจ้เฟิงฉิง” หรือ YUEQIN CONCERTO CUSTOMS IN BORDERLAND VILLAGE” เพลงนี้สวีเจิ้นหมิงแต่งขึ้นเมื่อปี 1992 ตามคำขอของเหลยฉวินอาน ถือเป็นคอนแชร์โต้สำหรับพิณเยว่ฉิน ที่แต่งขึ้นเป็นบทแรก โดยผู้แต่งเก็บซับบรรยากาศและความประทับใจจากครั้งไปเยือนยวิ๋นหนาน (ยูนนาน) เมื่อเดือนเมษายน 1982
เพลงบรรยายถึงดินแดนห่างไกล ฟ้ากว้าง แลดูเวิ้งว้างสุดลูกหูลูกตา บรรยากาศแฝงความหม่นหมอง เปล่าเปลี่ยวอยู่ในที
จากบรรยากาศที่เรียบเรื่อยในช่วงแรก แล้วเปลี่ยนเป็นคึกคักในเวลาต่อมา สลับด้วยท่วงทำนองหวานๆ ที่สดใสขึ้น สามารถนำพาอารมณ์ผู้ฟังให้เคลิ้ม คล้อยตามได้เป็นอย่างดี โดยสลับช้าเร็วไปเรื่อยๆ นำพาอารมณ์ให้สูงขึ้นๆ จนสู่จุดสูงสุด แล้วค่อยผ่อนคลายเบาลงๆ แทร็คที่ 8 นี้เป็นการเล่าเรื่องราวสมดังชื่อเพลงภาษาอังกฤษว่า BALLADE
แทร็คที่ 9 เพลงรัก” หรือ LOVE SONG เป็นเพลงรักในบรรยากาศป่าเขา เยว่ฉินยังคงเป็นเสียงที่โดดเด่นงดงาม ให้ความรู้สึก ขลุ่ยและดนตรีทั้งวงบรรเลงรองรับสอดประสานอย่างยิ่งใหญ่ เป็นเพลงรักหวานล้ำที่ฟังไพเราะยิ่ง
แทร็คที่ 10เพลงระบำ” หรือ DANCE ดนตรีทั้งวงเปิดเพลงอย่างยิ่งใหญ่ แล้วเยว่ฉินก็เล่นทำนองหลักให้ทั้งวงเดินตาม เคล้าคลอไปอย่างไพเราะ ลีลาของเพลงปลอดโปร่ง เบาสบาย ลื่นไหลทั้งเพลง โดยจบท้ายเพลงลงด้วยความรื่นเริง เด็ดขาด
YUEQIN CONCERTO CUSTOMS IN BORDERLAND VILLAGE” ให้ภาพและความรู้สึกถึงดินแดนห่างไกลที่หมดจดงดงามและเต็มอิ่มในอารมณ์

ฟัง “เพลงพิณพระจันทร์” ในซีดีแผ่นนี้ด้วยความเอิบอิ่ม โปร่งใจ แหงนมองดวงจันทร์บนฟ้า อยากเอามากอดแนบอกแล้วบรรเลงเพลงพิณให้ใครต่อใครฟังเหลือเกิน
และถ้ามีตาซึ้งๆ อีกคู่ร่วมมองดวงจันทร์ด้วยแล้ว เพลงพิณพระจันทร์ คงหวานและหวามเสียจนอยากตากน้ำค้างอาบแสงจันทร์นวลจวบจนฟ้ารุ่งราง


เรืองรอง  รุ่งรัศมี


พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในหนังสือ “ขลุ่ยผิวพิณพระจันทร์” แพรวเอนเตอร์เทน พ.ศ.2542

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น