ผู้เฒ่าแห่งหูชิวกล่าวต่อซุนสูอ๋าวว่า
“มนุษย์เรานี้ มีความคับแค้นใจอยู่ 3 ประการ ท่านรู้ถึงเรื่องราวเหล่านี้ไหม?”
ซุนสูอ๋าวกล่าวว่า
“หมายความว่ากระไร?”
ผู้เฒ่าแห่งหูชิวตอบว่า
“ผู้ที่มียศศักดิ์สูง
ผู้คนย่อมจะริษยาเขา
ผู้ที่มีอำนาจในตำแหน่งมาก
ผู้เป็นราชาย่อมเกิดความเกลียดชังรังเกียจเขา
ผู้ที่มีเงินทองสินทรัพย์มาก
คำนินทาว่าร้ายย่อมจะมุ่งไปที่ตัวเขา”
ซุนสูอ๋าวกล่าวว่า
“ยศศักดิ์ของข้ายิ่งสูง
ความทะเยอทะยานของข้าก็ยิ่งต่ำลง
อำนาจในตำแหน่งของข้ายิ่งมาก
ความปรารถนาแห่งใจของข้าก็ยิ่งเล็กลง
เงินทองสินทรัพย์ของข้ายิ่งมาก
การมอบอุทิศของข้าก็ยิ่งกว้างไกล
ดังนั้น
ข้าจึงสามารถละเลี่ยงเสียซึ่งความคับแค้นใจทั้ง
3 ประการนี้
ข้ากระทำไปเช่นนี้ใช้ได้กระมัง?”
เลี่ยจื่อ
ปรัชญานิพนธ์เต๋าสมัยราชวงศ์โจว (1066-256 B.C.)
เลี่ยจื่อ เป็นชื่อปรัชญานิพนธ์โบราณของจีน
ถือเป็นคัมภีร์สำคัญ 1 ใน 3 ของลัทธิปรัชญาเต๋า คัมภีร์ปรัชญาเต๋าทั้ง 3
เล่มของจีนคือ
เต๋าเต๋อจิง
(เต๋าเต๊กเก็ง) โดย เหลาจื่อ (เล่าจื๊อ)
คัมภีร์จวงจื่อ
(จวงจื๊อ) โดย จวงจื่อ
คัมภีร์เลี่ยจื่อ
(เลี้ยกจื๊อ) โดย เลี่ยจื่อ
คัมภีร์ทั้ง 3 เล่มนี้ต่างถือเป็นสดมภ์หลักของแนวปรัชญาเต๋าที่สอนถึงเรื่องสุญญะ
การปล่อยวาง และการใช้ชีวิตกลมกลืนกับคุณธรรมแห่งจักรวาล
มองด้วยสายตาสมัยใหม่
ปรัชญาเต๋านั้นนอกจากเป็นคัมภีร์เชิงอภิปรัชญาแล้ว ยังเป็นปรัชญาเชิงธรรมชาติด้วย
นอกจากความสำคัญในฐานะคัมภีร์ปรัชญาแล้ว
คัมภีร์ทั้ง 3 เล่มนี้
ยังถือเป็นผลงานเชิงวรรณกรรมชั้นเยี่ยมในยุคโบราณของจีน
ในภาษาไทยนั้น
คัมภีร์เหลาจื่อ มีแปลไว้เป็นฉบับสมบูรณ์หลายสำนวน
ที่จำได้และยังหาซื้อได้ง่ายบนแผงหนังสือไทย คือ “วิถีแห่งเต๋า” ที่
พจนา จันทรสันติ แปลผ่านฉบับภาษาอังกฤษ และ “เต๋าเต๊กเก็ง”
ที่ โชติช่วง นาดอน แปลผ่านฉบับภาษาจีน
“คัมภีร์จวงจื้อ”
ที่ ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ แปลผ่านภาษาจีน
ก็เป็นอีกเล่มหนึ่งที่หาได้ไม่ยากบนแผงหนังสือไทย
ทั้ง “วิถีแห่งเต๋า”,
“เต๋าเต๊กเก็ง” และ “คัมภีร์จวงจื้อ” เป็นคัมภีร์ปรัชญาเต๋าฉบับภาษาไทยที่เชื่อมั่นได้ในความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้แปล
และใช้ภาษาไทยได้อย่างผู้มีฝีมือและมีภูมิปัญญา
น่าเสียดายที่
“คัมภีร์เลี่ยจื่อ” ยังไม่มีฉบับภาษาไทยที่สมบูรณ์ให้เห็นในปัจจุบัน
ท่านผู้ที่เป็นนัก ‘เล่น’ หนังสือเก่า หากลองค้นคว้าอย่างจริงจัง อาจพบฉบับแปลเก่าๆ
ที่น่าสนใจก็เป็นได้ หากว่ามี “คัมภีร์เลี่ยจื่อ” ภาษาไทย ฉบับสำนวนเก่าอยู่จริง
ก็น่าที่จะนำมาตีพิมพ์ใหม่ เพื่อความสมบูรณ์ของหนังสืออ้างอิงคัมภีร์ปรัชญาเต๋า
เรืองรอง รุ่งรัศมี
3 / 2000
ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ "สายลมในกิ่งหลิว"
เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 406 วันที่ 13-19 มีนาคม 2000
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น