กลุ่มมิตรสหายของเราเรียกท่านว่า “คุณพ่อ”
ด้วยความสนิทสนมและคุ้นเคย ดูเหมือนคนหนึ่งในกลุ่มของเราซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับลูกสาวของท่านจะเรียกท่านอย่างนี้
แล้วเราก็พากันเรียก “คุณพ่อ” ตามเขาต่อมา
และคุณพ่อก็เป็นคุณพ่อของลูกๆ เช่นพวกเรา
เต็มตามความหมายและความรู้สึกของทั้งเราและท่านตลอดมา
คุณพ่อไม่ได้เป็นนักบวช ท่านเป็นฆราวาสที่ครองเรือนด้วยความรักความอบอุ่นอย่างชาวพุทธแท้
เราพากันมาเป็นลูกๆ ของคุณพ่อคุณแม่ครอบครัวนี้
ภายหลังท่านสูญเสียลูกสาวซึ่งเป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนของเรา
เวลาผ่านไปยี่สิบกว่าปีแล้ว ลูกๆ แต่ละคนเปลี่ยนจากเด็กหนุ่มที่ห่ามและคะนอง
เป็นคนย่างเข้าสู่วัยกลางคนที่มีบาดแผลริ้วรอย
คุณพ่อคุณแม่ชราและอ่อนแรงไปตามวัยด้วยเช่นกัน
แต่เรายังคงรักนับถือท่านเป็นคุณพ่อ คุณแม่
และท่านก็ผูกพันรักใคร่พวกเราเป็นลูกอย่างไม่เปลี่ยนแปลง
หลายเดือนที่แล้วคุณพ่อโทรศัพท์มาหา
น้ำเสียงของท่านยังคงแสดงออกถึงความผูกพันเอาใจใส่ในตัวลูกๆ อย่างเดิม ข้าพเจ้ามักรู้สึกผิดที่ไม่ค่อยได้โทรศัพท์ไปพูดคุย
และไม่ค่อยได้ไปเยี่ยมเยียนคุณพ่อที่บ้าน นานๆ
ครั้งจึงจะนัดแนะกับเพื่อนเพื่อไปเยี่ยมท่านที่บ้านสักครั้ง
ครั้งนั้นคุณพ่อดีใจมาก ท่านพูดคุยถึงชีวิตและงานการของเรา
นอกจากจะบ่นว่าท่านแก่ตัวไปมาก และสุขภาพก็ไม่แข็งแรงเหมือนเก่าแล้ว
คุณพ่อได้เล่าถึงงานหนังสือที่ท่านกลับมาทำอีกครั้งหนึ่ง
ในเวลาที่สุกงอมกับความคิดและชีวิตเต็มที่แล้ว
คุณพ่อเคยเขียนหนังสือและแปลหนังสือเมื่อครั้งวัยหนุ่ม
ท่านเคยเล่าถึงมิตรสหายในแวดวงหนังสือให้เราฟังเป็นบางครั้ง
แต่ท่านก็มักจะเล่าข้ามส่วนที่เป็นตัวท่านและผลงานหนังสือของท่านไป
มิตรสหายคนหนึ่งของคุณพ่อ คือ จิตร ภูมิศักดิ์
อีกท่านหนึ่งคือ ทวีป วรดิลก ซึ่งเป็นมิตรสหายของจิตร ภูมิศักดิ์ เช่นกัน
คุณพ่อไม่ค่อยจะพูดถึงคุณจิตร ภูมิศักดิ์ บ่อยนัก
ท่านคงเกรงว่าจะเป็นการอวดอ้างตนว่ารู้จักสนิทสนมกับคนเก่งที่มีชื่อเสียงมากๆ
อย่างจิตร ภูมิศักดิ์ ลักษณะถ่อมตนอย่างจริงใจนี้เป็นธรรมชาติในบุคลิกของคุณพ่อ
เรารู้ว่าคุณพ่อสนิทสนมกับจิตร ภูมิศักดิ์ รู้มาว่าในช่วงหนึ่งของชีวิต จิตร
ภูมิศักดิ์ เคยเดินทางไปเที่ยวสิงคโปร์โดยเรือเดินสมุทร
เรารู้ว่าคุณพ่อมีอาชีพเป็นกัปตันเรือเดินสมุทร จากครั้งวัยหนุ่มจวบจนเกษียณจากงาน
อีกทั้งผู้คนในแวดวงหนังสือหลายคนก็เล่าให้ฟังว่า จิตร ภูมิศักดิ์
มีเพื่อนเป็นกัปตันเรือ
ชื่อของจิตร ภูมิศักดิ์
กลายเป็นชื่อที่น่าทึ่งและเร้าความสนใจของเราอย่างยิ่ง
ในช่วงกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมของปัญญาชนสูงเมื่อช่วงยี่สิบกว่าปีที่แล้ว
เวลานั้นเองที่พวกเราต่างเป็นเด็กหนุ่มคะนอง
และเป็นช่วงเวลาที่พวกเรากระหายใคร่รู้ในเรื่องต่างๆ ตามวัย
เราพากันเข้าร่วมในกิจกรรมทางสังคม ไปฟังอภิปราย ไปเดินขบวน ไปดูหนังเรื่องต่างๆ
แล้วนำมาถกเถียงพูดคุย หลายคนในกลุ่มของเราเริ่มฝึกฝนการเขียนหนังสือ
และทุกคนในกลุ่มของเราต่างก็กระหายในการอ่านหนังสือนอกห้องเรียน
เรามักนำเรื่องราวต่างๆ ที่เราไปพบไปทำมาเล่าให้คุณพ่อฟัง
บ้านของคุณพ่อมีหนังสือต่างๆ ตั้งแต่ช่วงก่อน
พ.ศ.2500 เก็บเอาไว้มาก
นอกจากหนังสือแนววรรณกรรมที่พวกเราชอบอ่านแล้ว คุณพ่อยังมีหนังสือด้านสังคมศาสตร์
แนวคิดทางปรัชญา และหนังสือที่ให้ความรู้ด้านพุทธศาสนาเก็บเอาไว้มาก
พวกเราชอบหยิบยืมหนังสือของคุณพ่อไปอ่าน เรายืมหนังสือของคุณพ่อครั้งละนานๆ
บ่อยครั้งนานจนหนังสือหายหรือลืมนำมาคืนก็เคย แต่คุณพ่อก็ไม่เคยบ่นหรือตำหนิพวกเรา
ตรงกันข้ามบ่อยครั้งที่คุณพ่อมอบหนังสือเล่มที่คุณพ่อมีซ้ำให้กับพวกเรา
ตู้หนังสือที่บ้านคุณพ่อมีหนังสือของท่านพุทธทาสอยู่มาก
นอกจากจะศึกษาด้วยการอ่านแล้ว คุณพ่อยังปฏิบัติตนเยี่ยงชาวพุทธ
ที่แท้ท่านครองตนเป็นแบบอย่างที่ดี แต่แม้คุณพ่อจะครองตนด้วยศีลด้วยธรรม ท่านก็ใจกว้าง
เข้าใจธรรมชาติของช่วงวัยคะนองของลูกๆ ได้ดี
เรามักนัดกันไปให้คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงข้าวที่บ้านในช่วงวันหยุด
อิ่มข้าวอิ่มขนมแล้ว เราพากันไปค้นตู้หนังสือของคุณพ่อ จากนั้นพูดคุยเรื่องต่างๆ
กับคุณพ่อคุณแม่บ้าง คุยโม้ และถกเถียงกันเองเอะอะโวยวายบ้าง พอเย็นย่ำเราก็ลากลับ
มีขนมบ้าง หนังสือบ้าง ติดมือไปด้วย
แต่ลากลับแล้ว เราไปกินเหล้าเมายากันอยู่เสมอๆ
โดยกลับไม่ถึงบ้านพักตนเอง ข้าพเจ้าคาดว่าคุณพ่อเองก็น่าจะรู้อยู่ในใจว่า ลูกๆ
วัยคะนองกลุ่มนี้มิได้เป็นเด็กดีหรือเรียบร้อยอย่างที่อยู่ต่อหน้าคุณพ่อ
ดูเหมือนช่วงนั้นเราทุกคนในกลุ่มจะติดบุหรี่ เมาเหล้า เมาเบียร์ เป็นเรื่องประจำ
มีเพียงกัญชาเท่านั้นที่เราปกปิดไม่ให้คุณพ่อรู้ว่า พวกเราก็เสพมันบ่อยๆ
คุณพ่อคุณแม่มักจะเตือนสติพวกเราด้วยความอ่อนโยน
แต่แม้กระนั้นเพื่อนบางคนในกลุ่มของเราก็ยังเตลิดไปตามจิตใจอ่อนแอ แม้จนบัดนี้
หลัง 6 ตุลาคม 2519 ปัญญาชนนักศึกษาหลบหนีซ่อนตัวจากสังคมและมหาวิทยาลัย
บางคนในกลุ่มของเราเข้าป่า ส่วนใหญ่เตลิดหลบซ่อนตัวตามที่ต่างๆ
กลุ่มของเรากระจัดกระจายไปคนละทิศคนละทาง
พวกเราไม่ค่อยได้ติดต่อกับคุณพ่ออีกหลังจากนั้น
คุณพ่อคุณแม่ยังคงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายสมถะเหมือนเดิม
พวกเราหายกันไปคนละหลายๆ ปี นานๆ ครั้งจะมีใครสักคนไปเยี่ยมคุณพ่อ
พร้อมทั้งฟ้องให้ฟังว่าลูกคนนั้นกำลังทำตัวเละเทะเหลวไหล
คนนี้เลอะเทอะเลยเถิดไปใหญ่แล้ว เรามาปรับทุกข์ให้คุณพ่อฟัง
มาระบายความอึดอัดคับข้องของเรา คุณพ่อรับฟังด้วยความเป็นห่วงทุกครั้ง เราสัมผัสได้ถึงความรัก
ความอบอุ่นผูกพันทุกครั้งที่ไปหาคุณพ่อ ไม่ว่าสังคมจะเป็นเช่นไร
ไม่ว่าภาวะชีวิตของเราและคุณพ่อจะเป็นเช่นไร
คุณพ่อก็เป็นคุณพ่อคนเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลง
จนไม่กี่ปีหลังนี้เองที่เราไปติดต่อคุณพ่อบ่อยครั้งขึ้น
แต่บ่อยครั้งของเราคือปีละไม่กี่ครั้ง
คุณพ่อดีใจทุกครั้งที่พวกเราไปเยี่ยมหรือโทรศัพท์ไปพูดคุย
แต่พวกเราก็ช่างบกพร่องเหลือเกิน อ้างโน่น อ้างนี่ จนลืมครั้งละนานๆ
ครั้งหลังๆ ที่ไปเยี่ยมคุณพ่อ
ดูเหมือนจะหลายเดือนแล้ว คุณพ่อตัดเก็บบทความที่เห็นว่าเราได้ควรอ่านไว้ให้
ให้กำลังใจด้วยการพูดถึงงานเขียนในกรอบหน้าของข้าพเจ้า คุณพ่อพูดด้วยอารมณ์ดีว่า
คุณพ่อก็กลับมาเขียนหนังสือแล้วเหมือนกันนะ
จากนั้นก็ไปค้นหนังสือที่ท่านเรียบเรียงมาเซ็นมอบให้ เราไปดูที่โต๊ะหนังสือ
เห็นต้นฉบับลายมืออีกปึกหนึ่งวางอยู่
คุณพ่อกำลังเรียบเรียงหนังสือที่ท่านตั้งชื่อคร่าวๆ ไว้ว่า “ธรรมนิยม”
ซึ่งเป็นผลงานชิ้นที่ท่านผูกพันมาก
คุณพ่อศึกษาความคิดทางสังคม และปรัชญาต่างๆ
มาเป็นเวลาเนิ่นนาน ท่านบอกด้วยความสุขกับข้าพเจ้าว่า
ธรรมนิยมคือคำตอบที่น่าจะมีประโยชน์ต่อผู้คนในทัศนะของท่าน
หลังจากศึกษาค้นคว้าทั้งทุนนิยม สังคมนิยม และปรัชญาศาสนาต่างๆ มากมาย
คุณพ่อเล่าให้ฟังว่า ให้คำตอบกับตนเองได้อย่างหนักแน่นแล้วในวัยสนธยาของชีวิต
มือเย็นวันนั้นคุณพ่อชวนไปเลี้ยงข้าวนอกบ้าน
และยังเอ่ยปากให้ข้าพเจ้าและเพื่อนสั่งเบียร์มาดื่ม แม้ว่าจะเป็นชาวพุทธที่แท้
แต่คุณพ่อก็ไม่เคยทำให้เรารู้สึกว่าตนผิดรุนแรงกับการดื่มเหล้าดื่มเบียร์ต่อหน้าคุณพ่อ
ท่านยอมรับในความเป็นโลกียชนที่ยังเป็นเหมือนผลไม้ดิบของเรา
ท่านเพียงแต่ให้สติและรอคอยให้ผลไม้ดิบเช่นเราสุกงอมตามความควรเป็นของเราเอง
คุณพ่อเป็นชาวพุทธที่คุณธรรมและดวงปัญญาตลอดยี่สิบกว่าปีที่เราไปมาหาสู่คุณพ่อ
นอกจากข้อคิดและหนังสือต่างๆ ที่คุณพ่อมอบให้สม่ำเสมอแล้ว
ของขวัญสิ่งเดียวที่ต่างออกไปคือ ใบโพธิ์จากพุทธคยา
วันนั้นข้าพเจ้าและเพื่อนไปเยี่ยมคุณพ่อด้วยกัน
คุณพ่อนำใบโพธิ์จากพุทธคยามามอบให้เราคนละใบ
หลังๆ มานี้สุขภาพของคุณพ่อไม่แข็งแรง
แต่คุณพ่อก็ยังแจ่มใสร่าเริง
ข้าพเจ้าพบกันคุณพ่อช่วงที่เราต่างเดินทางไปที่สวนโมกข์เมื่อปีที่แล้ว
หลังจากนั้นโทรศัพท์ไปพูดคุยและนัดกินข้าวกับคุณพ่ออีกไม่กี่ครั้ง
มารับรู้ข่าวว่าคุณพ่อจากไปด้วยโรคหัวใจ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 กันยายนนี้
คุณพ่อเป็นคนที่มีทั้งสติและปัญญาถึงพร้อม
แม้ยามเจ็บป่วย ท่านจึงร่างพินัยกรรมคำสั่งของท่านด้วยลายมือของท่านเอง
เป็นพินัยกรรมที่แสดงความเป็นคนอย่างคุณพ่ออย่างแท้จริง
คนที่ไปงานสวดพระอภิธรรมของคุณพ่อต่างก็ยืนอ่านพินัยกรรมนี้ด้วยความทึ่ง
และเคารพในความเป็นคุณพ่อที่น่านับถือ
พินัยกรรมคำสั่งเสียของคุณพ่อมีข้อความดังต่อไปนี้
_______________________________________________
พินัยกรรมคำสั่งก่อนตายและหลังตาย
ของนายอรุณ แสงทอง
ทำขึ้น ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2539
1) เมื่อเจ็บหนักจนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล
1.1 ไม่ขอเข้าพักรักษาตัวในห้อง I.C.U.
1.2 เมื่อหัวใจหยุดเต้นแล้ว ขอห้ามไม่ให้ปั๊มหัวใจ
1.3 ขอไม่ใช้เครื่องมือแพทย์ไฮ-เทคเพื่อยืดความตาย (prolong death)
1.1 ไม่ขอเข้าพักรักษาตัวในห้อง I.C.U.
1.2 เมื่อหัวใจหยุดเต้นแล้ว ขอห้ามไม่ให้ปั๊มหัวใจ
1.3 ขอไม่ใช้เครื่องมือแพทย์ไฮ-เทคเพื่อยืดความตาย (prolong death)
2) เมื่อถึงแก่กรรมแล้ว
2.1 ให้ติดต่อทางราชการตามระเบียบ
และนำศพอุทิศโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เพื่อศึกษาทางการแพทย์ (เอกสารการติดต่อกับ
ร.พ.อยู่ในตู้คุณยาย)
2.2 แต่งตัวศพด้วยชุดพระราชทานสีขาว, ถุงเท้าดำ
2.3 ไม่ต้องมีพิธีรดน้ำศพ
2.4 ไม่ต้องขอซากศพมาทำพิธีอะไรอีก
ให้โรงพยาบาลทำลายไปเลย
3) กิจกรรมในส่วนของครอบครัวหลังจากตายไปแล้ว
3.1 ไม่ต้องไว้ทุกข์
3.2 ให้ทำบุญเลี้ยงพระที่เรียกว่าทำบุญ 7 วัน ตามธรรมเนียมประเพณี
เพื่อรักษาวัฒนธรรมแห่งความรักและความผูกพันของสังคมไทย
3.3 ในการทำบุญ 7 วัน ให้ประกาศแจ้งในหน้าหนังสือพิมพ์
2 ฉบับ เป็นการล่วงหน้า 5 วัน
3.4 ญาติมิตรที่มาร่วมทำบุญ 7 วัน
ผู้ใดจะบริจาคทรัพย์ร่วมทำบุญด้วยให้รวบรวมเงินก้อนนี้สมทบทุนบุญนิธิในมูลนิธิเผยแพร่ชีวิตประเสริฐ
(ผชป.)
3.5 ถ้าเป็นไปได้ การทำบุญ 7 วัน
ให้กระทำพิธี ณ วัดชลประทานรังสฤษฎ์
_______________________________________________
คุณพ่อได้จากไปแล้ว
ฝากพินัยกรรมอย่างชาวพุทธที่แท้และต้นฉบับงานเขียนเรียบเรียงเชิงพุทธศาสนาไว้เตือนสติผู้อื่นต่อไป
คุณพ่อทำตัวเป็นผู้ให้
ทั้งในสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม แม้จนในเวลาสุดท้ายของชีวิต
เรืองรอง รุ่งรัศมี
พิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ กิ่งไผ่และดวงโคม ผู้จัดการรายวัน 14-15 กันยายน พ.ศ.2539
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น