ในสมัยจ้านกว๋อที่นักปาฐกเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก
ได้ปรากฏเรื่องราวหนึ่ง
สมัยกษัตริย์จ้าวอู่หลิงหวาง (ครองอำนาจระหว่าง 352 ปี – 299 ปี ก่อน ค.ศ.) คือสมัย 55
ปีก่อนที่ฉินกว๋อจะพ่ายแพ้ต่อจ้าวกว๋อใน “สงครามฉางผิง”
จ้าวกว๋อยุคนั้นยังร่ำรวย ประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุข
เป็นประเทศที่เข้มแข็งด้วยอำนาจอิทธิพล
เวลานั้น 7 ประเทศใหญ่ ซึ่งถูกขนานนามว่า “7 ประเทศเข้มแข็งแห่งจ้านกว๋อ”
ต่างวางแผนเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของประเทศ จ้าวกว๋อนั้นอยู่ในดินแดนจงหยวน
(ที่ราบภาคกลาง) จึงมักตกอยู่ในภาวะสงคราม และเพื่อป้องกันการรุกราน
จ้าวกว๋อจำต้องเสริมความเข้มแข็งทางทหาร การเสริมสร้างความเข้มแข็งนี้นับว่าเป็นจริงเป็นจังกว่าประเทศอื่น
หลังจากใช้ความคิดหาวิธีการเพื่อทำศึกให้ได้ชัยชนะอย่างแท้จริง
ในที่สุดอู่หลิงหวางก็ได้ความคิดอันแยบยล โดยนำศิลปะการขี่ม้า
ซึ่งเป็นความสามารถพิเศษเฉพาะชนเผ่าร่อนเร่ทำปศุสัตว์ในดินแดนทางเหนือมาใช้ทำศึก
วิธีการทำสงครามสมัยนั้น
ใช้มาลากรถศึกรบประจันหน้ากับข้าศึก ด้วยขบวนทัพที่เป็นระเบียบ
การแพ้ชนะในสงครามชนิดนี้สรุปผลได้ในเวลาอันรวดเร็ว
เมื่อขบวนรถศึกถูกศัตรูทำให้แตกขบวนทำให้แตกขบวนระส่ำระสาย
ไม่อาจจัดขบวนทัพขึ้นใหม่ได้โดยง่าย ไม่สามารถทำทำการรบต่อไปได้
เป็นวิธีการสงครามเมื่อสมัย 2,000 – 3,000 ปีที่ผ่านมา การทำสงครามสมัยนั้นเป็นเรื่องเรียบง่ายไม่ซับซ้อนอะไร
อู่หลิงหวางมองเห็นโอกาสการทำสงครามให้คล่องตัว
คือการทำสงครามบนหลังม้าโดยตรง สามารถบังคับม้าให้อยู่ในขบวนทัพแบบต่างๆ
ได้คล่องตัวกว่า เมื่อขบวนทัพถูกตีแตกกระจายก็สามารถรวมตัวกันใหม่ได้รวดเร็ว
การใช้วิธีรบบนหลังม้าย่อมได้เปรียบแน่นอน และจะไม่พ่ายแพ้ต่อขบวนรถศึกอีกต่อไป
ทัศนะของอู่หลิงหวางในยุคนั้น
ต้องถือว่า เป็นแนวความคิดก้าวหน้าล้ำยุคอย่างยิ่ง
ตั้งแต่อู่หลิงหวางเริ่มใช้กลยุทธ์เช่นนี้ในการทำสงครามเป็นต้นมา
กลยุทธ์การรบด้วยขบวนรถศึกก็ค่อยถูกละทิ้งจากเวทีประวัติศาสตร์แห่งการทำสงคราม
รูปแบบในการทำสงครามถูกเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
แม้ว่าการใช้กลยุทธ์ทำศึกบนหลังม้าเป็นแนวความคิดที่ฉลาดล้ำยุค
แต่ปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไขมีอยู่เรื่องหนึ่ง คือเครื่องแต่งกายของทหาร
หากต้องการขี่ม้าให้ได้คล่องตัว จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงจากเครื่องแต่งกายแบบชาวจงหยวน
(ซึ่งถือตนเป็นอารยชน) มาใช้เสื้อผ้าแบบชนเผ่าเร่ร่อนทำปศุสัตว์
(ซึ่งถูกดูถูกว่าเป็นคนเถื่อนด้อยอารยธรรม) เครื่องแต่งกายของพวกทำปศุสัตว์
คือเครื่องแต่งกายที่เป็นกางเกง
การใช้เครื่องแต่งกายแบบชาวหู
ซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อน มีปัญหายุ่งยากอย่างไร
แผ่นดินจงหยวนในสมัยนั้น
สืบทอดแนวความคิดโดยให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมประเพณีของตนเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้เครื่องแต่งกายแบบชาวหูยังเป็นเสื้อผ้าของคนเถื่อนไร้อารยะ
การจะนำเครื่องแต่งกายของชาวหูมาใช้
จึงพบกับการทดสอบเพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ย่อมต้องพบกับการต่อต้านอย่างรุนแรงแน่นอน
ปัญหาข้อนี้จำต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ
อู่หลิงหวางถูกความเย้ายวนของการเสริมความเข้มแข็งในการทำสงครามกระตุ้นให้ตัดสินใจที่จะใช้การแต่งกายแบบชาวหู
ในที่สุดการต่อต้านที่คาดว่าจะมีก็มีมาทั่วสารทิศ
อันดับแรก การต่อต้านอย่างรุนแรงของขุนนางอำมาตย์ระดับผู้ใหญ่ในวัง
เหตุผลคือการให้ทหารแต่งกายตามอย่างชนเผ่าอนารยะ
เป็นการขัดต่อจารีตประเพณีอันดีงามของจีน
กับการต่อต้านของเหล่าเสนาอำมาตย์นี้
อู่หลิงหวางมีท่าทีจัดการกับปัญหานี้เช่นใด
อู่หลิงหวางมิได้แสดงท่าทีเยี่ยงกษัตริย์ผู้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ
แต่กลับอธิบายเหตุผลแก่เหล่าขุนนางอำมาตย์ที่ต่อต้าน คืออาศัยการเจรจานั่นเอง
เฉพาะกับพระเจ้าอา
ซึ่งไม่ยินยอมแต่งกายตามแบบชาวหู โดยอ้างเหตุว่าป่วยเพื่อลาราชการ อู่หลิงหวางเดินทางไปเยี่ยมอาการด้วยตนเอง
พร้อมทั้งทำการเจรจาเกลี้ยกล่อมไปด้วย
ลักษณะเช่นนี้เหมือนกับการที่ผู้จัดการทั่วไปของกิจการขนาดใหญ่ในสมัยปัจจุบัน
ไม่เห็นด้วยกับการตั้งกิจการที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์
แล้วอ้างลาป่วยเพื่อจะไม่ต้องเข้าประชุมในที่ประชุมผู้อำนวยการ
แล้วผู้อำนวยการเดินทางไปเยี่ยมเยียนอาการของเขาถึงบ้าน
อู่หลิงหวางใช้วิธีการเจรจาเกลี้ยกล่อมอย่างไร
ไม่ใช่จุดที่สำคัญ การใช้วิธีการเกลี้ยกล่อมเช่นนี้ต่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา
ย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า
ถือได้ว่าอู่หลิงหวางเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง
เรืองรอง รุ่งรัศมี แปลและเรียบเรียง
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในหนังสือ "อ่านพงศาวดาร อ่านกลยุทธ์
ผิวขลุ่ยใต้ร่มไผ่" สำนักพิมพ์เคล็ดไทย กรกฎาคม 1994
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น