แรกเห็น
รู้สึกประหลาดใจอย่างยิ่งที่มีใครแกะสลักช้างหินใหญ่เท่าช้างจริงไว้ที่ลานวัด
พอเดินเข้าไปพินิจดูใกล้อย่างละเอียด
กลับทึ่งยิ่งกว่า ช้างหินตัวนี้ไม่ได้ถูกยกมาวางจากที่อื่น
แต่แกะสลักขึ้นมาจากพื้นหินใหญ่ตรงนั้นเอง
“น้าตุ๋งติ๋ง” เป็นผู้ชายชาวบ้านตัวโต
แกะสลักแผ่นหิน แท่งหิน และวัสดุอื่น เป็นงานศิลปะ
ประติมากรรมพื้นบ้านมอบไว้ให้วัดใกล้บ้าน ออกเหงื่อ และออกเงินทำขึ้นด้วยใจ
ทำเสร็จชิ้นหนึ่ง มีแรงกระตุ้นเร้าใหม่ น้าก็สร้างงานชิ้นใหม่
นอกจากที่วัดถ้ำพระศิลาทองแล้ว
น้ายังสร้างงานศิลปะฝากไว้กับวัดอีกแห่งหนึ่งที่อยู่บนภู ห่างจากตัวเมืองอุบลฯ
มาทางอำเภอเขมราฐ
จังหวะของแดดบ่ายวันนั้นสวย
ต้นไม้ใหญ่รายรอบทิ้งใบไปทั้งพื้น บางใบค้างอยู่บนตัวช้างหิน ฟ้าสดกระจ่าง แดด
อากาศ และประติมากรรมช้างหินในธรรมชาติง่ายๆ ที่ไม่ปรุงแต่งเกินงาม
เสมือนจะบอกเล่าปริศนาธรรมบางอย่าง
น้าตุ๋งติ๋งเป็นชาวบ้านธรรมดา
ใช้ชีวิตอย่างธรรมดา คิดและกระทำสิ่งต่างๆ ในชีวิต ไปในความเป็นธรรมดา
ความธรรมดาของน้านั้น น่าค้อมคารวะ
เรืองรอง รุ่งรัศมี
พิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “โลกกว้างได้เท่ากับครอบฟ้า” ปาจารยสาร
ฉบับที่ 6 ปีที่ 33 มกราคม – กุมภาพันธ์ 2553
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น