ค้นหาบทความ

วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เก้าอี้

สีน้ำ บนกระดาษ


นาฬิกาปลุกดังขึ้นตอนเช้า คุณเอื้อมมือไปกด งัวเงียลุกขึ้นอาบน้ำ แต่งเนื้อแต่งตัว
คุณส่องกระจก เห็นเงาที่คุ้นเคยอยู่ในกระจกเงานั้น ใบหน้าซีดเซียว คุณไม่ค่อยรู้ตัวว่า ไยดีหรือไม่ไยดีต่อเงาในนั้น
บนท้องถนน คุณพบผู้คนที่เป็นเช่นเดียวกับคุณ

วันแล้ววันเล่า
สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า
เดือนแล้วเดือนเล่า
ปีแล้วปีเล่า
จะถึงชาติแล้วชาติเล่า ภพแล้วภพเล่าหรือเปล่า ?
คุณเคยมีอารมณ์ขันคิดเช่นนี้หรือไม่ บางทีคุณก็ไม่ทันได้นึก


ทำงาน พักเที่ยง กินอาหาร กลับเข้าไปทำงาน เลิกงาน แวะดื่มระหว่างทางกลับบ้านเป็นครั้งคราวกลับไปนอนหลับบ้างไม่หลับบ้าง และตื่นขึ้นมากับเสียงนาฬิกาปลุกอีก

ชีวิตของคุณกลายมาเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เมื่อใด ?
คุณกลายมาเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร ?
บางทีคุณก็ไม่ทันได้คิด ไม่ทันได้รู้สึกตัว
คุณอาจเป็นโสด คุณอาจแต่งงาน คุณอาจเป็นม่าย
คุณอาจมีลูก มีเมีย มีผัว มีนายจ้าง มีลูกจ้าง หรือมีตัวคุณคนเดียว
คุณอาจเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นปู่ ย่า ตา ยาย
คุณอาจเป็นลูก หลาน เหลน โหลน หรือคนไร้ญาติขาดมิตร
คุณอาจเป็นนายจ้าง คุณอาจเป็นลูกจ้าง คุณอาจเป็นคนรวย คุณอาจเป็นคนจน
คุณอาจเป็นคนดี คุณอาจเป็นคนเลว คุณอาจเป็นคนเก่ง คุณอาจเป็นคนไม่ได้เรื่อง
คุณอาจเป็นคนฉลาด คุณอาจเป็นคนโง่
คุณอาจเป็นเพียงหนูถีบจักร !

หรือคุณเป็นเพียง "เก้าอี้" ตัวหนึ่ง
นิ่งอยู่ตรงนั้น ใครขึ้นนั่งขึ้นขี่ก็ได้ ไม่รู้จักเปล่งเสียงร้อง ไม่รู้จักสลัดความหนักหน่วงที่กดทับให้ร่วงตกลงมาจากหลังของคุณ
นาฬิกาปลุกเสียงดังอย่างไร และปลุกกี่ครั้งคุณก็ไม่รู้จักตื่น
คุณเพียงแต่เปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ วนเวียนอยู่อย่างซ้ำซากเท่านั้น
ไม่ทันไรคุณก็ตาย แล้วคุณก็เกิดเป็นหนูถีบจักรหรือเก้าอี้อีก

คุณมาทำอะไรที่โลกแห่งนี้ ?
คุณมาทำไม ?!?!
ใครให้คุณมาเป็นเพียงหนูถีบจักร หรือเก้าอี้ที่ไม่รู้จักเปล่งเสียงร้อง
คำสาปเช่นใดยังคงความอาถรรพ์ของมันต่อเนื่องมาได้ยาวนานเช่นนี้
จากยุคบรรพกาล ยุคทาส - ศักดินา ผ่านสังคมร่อนเร่ ผ่านสังคมกสิกรรม ผ่านสังคมอุตสาหกรรม ผ่านสังคมเงินตรา ผ่านมาจนถึงวันเวลาที่คุณอยู่ในวันนี้
คุณมาทำอะไรที่นี่ ?
คุณมาทำไม ?
คุณได้เคยมีชีวิตอยู่จริงหรือ ?
คุณยังหายใจอยู่หรือ ?
คุณคือเก้าอี้ตัวไหน ?

นาฬิกาปลุกดังอีกแล้ว ชาติภพใดเก้าอี้จึงจะวิวัฒนาการมาถึงการรู้จักมีความรู้สึก และต้องใช้เวลาอีกยาวนานเท่าไร กว่าเก้าอี้จะรู้จักเปล่งเสียงร้องออกมา


เรืองรอง รุ่งรัศมี

พิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ "สายลมในกิ่งหลิว" เนชั่นสุดสัปดาห์ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น