ดูหนังกำลังภายในจะรู้จัก
2 สำนักมาตรฐานในยุทธจักรที่ถูกอ้างอิงเสมอ คือ สำนักเส้าหลิน กับสำนักบู๊ตึ๊ง
เส้าหลิน
คือ สำนักฝ่ายพุทธ
บู๊ตึ๊ง คือ สำนักฝ่ายเต๋า
ทั้งสองสำนักเป็นสำนักของนักบวช
มีทั้งศิษย์ที่เป็นบรรพชิต และศิษย์ฆราวาส ศิษย์บรรพชิตของสำนักเส้าหลินคือ ภิกษุ
สงฆ์ สามเณร และภิกษุณี ในเรื่องบู๊เฮียบ ภาษาไทยใช้คำว่า 'หลวงจีน' หรือ 'ไต้ซือ' เรียกภิกษุสงฆ์ ตัวละครภิกษุณี เรียก 'ซือไท่' มีปรากฏในนิยายบู๊เฮี้ยบไม่มากเท่าบรรพชิตพุทธฝ่ายชาย
สามเณรมักถูกเรียกแทนด้วยคำไทยว่า
'สามเณรน้อย' หรือ 'หลวงจีนน้อย' มีบทบาทไม่มากเช่นกัน
น่าสังเกตว่า 'ซือไท่' นอกจากใช้เรียกภิกษุณีฝ่ายพุทธ
และยังใช้เรียก แม่ชี และนักบวชสตรีฝ่ายเต๋าด้วย
นักบวชของสำนักบู๊ตึ๊งฝ่ายชาย
คำไทยในนิยายบู๊เฮี้ยบเรียก 'นักพรต' หรือ 'เต้าหยิน' หรือ 'เต้าสือ' บู๊ตึ๊งเป็นสำนักฝ่ายเต๋า
นักบวชทั้งชายหญิงจะผูกมวย มือถือแส้ปัดฝุ่นแบบเซียน
วิทยายุทธ์ของฝ่ายเส้าหลิน
คือ วิชาหมัดมวย และวิชาอาวุธยาว จำพวกกระบอง วิทยายุทธ์ของฝ่ายบู๊ตึ๊งคือ
เพลงกระบี่ เพลงแส้ปัดฝุ่น และมวยไท้เก๊ก
รูปเคารพของเส้าหลิน
คือ พระพุทธรูปปางต่างๆ
ซึ่งมีแตกต่างออกไปจากพระพุทธรูปที่รู้จักนับถือแบบไทยอยู่อีกไม่น้อย
แม้พุทธเส้าหลินจะสวดมนต์ นั่งวิปัสสนากรรมฐาน แต่คติความเชื่อเชิงอุดมคติ
และวัตรปฏิบัติ ก็มีลักษณะเฉพาะตัวไม่น้อย
พุทธแบบจีน เมื่อผสมผสานกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับท่านโพธิธรรม
หรือท่านตั๊กม้อ โจ๋วซือ
นั่งเข้าฌานสมาธิอยู่ในถ้ำจนคิดค้นวิชามวยเพื่อออกกำลังกายออกมา
กลายเป็นต้นธารหนึ่งของวิทยายุทธ์เส้าหลิน ผูกโยงไปถึงพุทธแบบเซน หรือธยานะ
หรือฌาน ที่มีอุดมคติการส่งทอดธรรมแบบจากจิตสู่จิต ไม่ติดยึดคัมภีร์
แล้วโยงกับอุดมคติแบบโพธิสัตว์ คติความคิดในเรื่องเล่าของจีน
จึงมีลักษณะพิเศษอย่างยิ่ง
เทพจี้กง
คือเทพเจ้าจีนที่มีลักษณะเป็นทั้งเซียน นักบวช และจอมยุทธ
เป็นเทพเจ้าที่มีลักษณะเป็นสัญลักษณ์ปริศนาธรรม อุดมคติความดีงามแบบจีน
แบบไม่ติดเปลือกนอก พิชิตคนพาล อภิบาลคนดี และกระทำคุณความดีโดยไม่ป่าวประกาศ
สร้างบุญกุศลโดยไม่เรียกร้องสิ่งตอบแทนหรือไม่ห่วงความเข้าใจ
ล้วนมีอยู่ในเรื่องตำนานจี้กง ถ้าจัดแบ่งตามแนวทางศาสนา
จี้กงน่าจะอยู่ในสายธารของพุทธ
จี้กง
มีลักษณะร่วมหลายอย่างกับ 'อั้งชิดกง'
หัวหน้าพรรคกระยาจก ทั้งสองมีลักษณะชีวิตแบบขอทาน ถือฝาบาตรขอเงินและขออาหารไปทั่ว
'ผู้ขอ'
อย่างขอทานเฒ่าอั้งชิดกงและจี้กง คำศัพท์ภาษาจีนคือ gi zhe :
ฉี่จื่อ เป็นคำเดียวกับที่ใช้แทนคำว่า 'ภิกษุ'
สำนักบู๊ตึ๊ง
นักบวชจะถือแส้ปัดฝุ่น เรียกว่า ฝู เฉิน (fu chen) ฝู คือการปัดออก, สะบัดออก
เฉิน คือ ฝุ่น ในที่นี้คือ โลกียวิสัย เพราะคำภาษาจีน 'ฝุ่นแดง' (hong chen : หงเฉิน)
หมายถึงโลกมนุษย์ หรือโลกแห่งโลกียวิสัย เป็นโลกของคนมีกิเลสที่มิได้สะอาด สว่าง
สงบ ไม่ได้ปล่อยวางอย่างโลกที่เหนือโลก
นักบวชบู๊ตึ๊ง
ก็นั่งสมาธิหรือเข้าฌาน และออกจาริกเช่นเดียวกับการถือธุงควัตรของนักบวชสายพุทธ
การออกจาริกท่องพเนจรเช่นนี้ เป็นทั้งการถือสันโดษ และการแสวงความหลุดพ้นทางธรรม
ยามออกจาริก หากประสบพบเรื่องไม่เป็นธรรม นักบวชมักกระทำตนเยี่ยงจอมยุทธ์
คือเข้าแบกรับภาระ สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น
รูปเคารพของสำนักบู๊ตึ๊งคือ
ไท่เสียงเล่ากุน (tai shang lao jun : ไท่ ซ่าง เหล่า จวิน) หรือ
เล่าจื๊อ (lao zi) ปรมาจารย์ผู้รจนาคัมภีร์เต๋า (dao
de jing : เต้าเต๋อจิง)
ซึ่งถูกนักพรตเต๋าสายพิธีกรรมถือเป็นปรมาจารย์ของลัทธิเต๋า คำว่า 'ลัทธิ' ในที่นี้ถือเป็น 'ลัทธิศาสนา' มีน้ำหนักความหมายเท่ากับคำ 'ศาสนา'
นอกจากปรมาจารย์ไท่เสียงเล่ากุน
นักบวชเต๋ายังนับถือ 'เตียซำฮง' หรือ 'จางซานฟง' (chang san feng) การบรรลุมรรคผลทางธรรมขั้นสูงสุดของเต๋า คือกลายเป็นเซียน (xian) คืออยู่เหนือโลก เป็นอมตะ หรือมีสถานะเสมอด้วยเทพเจ้า
การ 'ล้างมือในอ่างทองคำ'
ถอนตัวออกจากยุทธจักร เป็นสภาวะทางอุดมคติอย่างเดียวกับการอยู่เหนือโลก
เป็นสภาวะของการปล่อยวาง ละความยึดมั่นถือมั่น เป็นสภาวะหลุดพ้นสู่ความว่าง สะอาด
สว่าง สงบ เป็นสภาวะอันผ่อนคลาย รวมทั้งทางโลกียธรรม และโลกุตรธรรม
บุคคลจำพวกหนึ่งที่ถูกเขียนถึงอย่างยกย่องอยู่ลึกๆ
คือคนอย่าง อึ๊งเอี้ยะซือ มารบูรพาแห่งเกาะดอกท้อ ในเรื่อง 'จอมยุทธ์ยิงอินทรี' หรือมังกรหยก อีกคนคือ เล่งฮู้ชง
ในเรื่อง 'หัวร่อเย้ยยุทธจักร'
ตัวละครทั้งสองมีลักษณะบู๊เฮี้ยบ เรียกว่า 'มีแบบฉบับของตัวเอง' เขามิได้มองโลก สังคม ชีวิต และเรื่องราวทั้งหลายตามแบบแผนตายตัว
การตัดสินใจของพวกเขาล้วนเป็นอิสระจากพันธนาการกรอบคิดเชิงแบบแผน
นี่ก็เป็นแนวคิดแบบอยู่เหนือพ้นความรัดรึงทั้งหลาย
การกระทำของพวกเขามิได้รับการยอมรับ และไม่ได้ถูกมองด้วยความเข้าใจ
แต่นี่มิได้มีผลต่อตัวตนจิตวิญญาณของพวกเขา
มองอีกแง่หนึ่ง
พวกเขาก็คือผู้ตื่นรู้ และพวกเขาดูแคลนการหลับใหลจอมปลอม
พวกเขาจึงจะไปเสียจากความกลวงเปล่าเช่นนั้น
การหัวเราะเย้ยยุทธจักร
เป็นการยืนยันแนวคิดแห่งการไม่ยึดมั่นถือมั่นที่พวกเขาแสดงออกมา
บางทีนี่อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่คนควรเลือก
เรืองรอง รุ่งรัศมี
ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ "ในยุทธจักร"
เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 15 ฉบับ 780 วันที่ 11-17 พฤษภาคม 2550
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น