ค้นหาบทความ

วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

จีนสยามและใต้บรรทัด


ชาวจีนที่อพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่ดั้งเดิม มีทั้งคนที่พูดภาษาแต้จิ๋ว, แคะ (ฮากกา), กวางตุ้ง, ไหหลำ, ฮกเกี้ยน ภาษาจีนหลักๆ ที่ใช้แพร่หลายในสยามและอุษาคเนย์แต่เดิม คือ ภาษาจีนเหล่านี้ ในเมืองไทยกลุ่มคนจีนที่ใช้ภาษาแต้จิ๋วมีมากที่สุด ในมาเลเซีย และสิงคโปร์ก็มีจีนแต้จิ๋วอยู่ไม่น้อย ความจริงแล้วคนจีนครั้งอดีตยังเข้าไปตั้งรกรากอยู่ในอินโดนีเซีย, บูรไน และ ฟิลิปปินส์ และก็มีจำนวนคนไม่น้อย แต่เรามักละเลยข้อมูลเหล่านั้น
สิ่งหนึ่งที่ต่างกันระหว่างในกรุงเทพกับในมาเลเซียและสิงคโปร์ หรือกระทั่งในอินโดนีเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ คือ ในพื้นที่เหล่านั้น ครอบครัวจีนยังสื่อสารกันเองด้วยภาษาจีนของตนอยู่ แต่กรุงเทพ และประเทศไทย ภายในเวลาไม่ถึง 100 ปี การสื่อสารกันเองภายในชุมชนจีนด้วยภาษาจีนได้ถดถอยลงอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันมีน้อยอย่างยิ่งที่ครอบครัวจีนจะสื่อสารกันเองในชุมชนด้วยภาษาจีน
อะไรเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น นี่เป็นเรื่องน่าพิจารณา

อ้างอิงกันต่อๆ กันมาว่า ชาวจีนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยส่วนใหญ่ มาอย่างเสื่อผืน หมอนใบ และเป็นคนใช้แรงงานมากกว่าคนมีวิชาความรู้ แต่เมื่อพิจารณาหนังสือเก่าๆ จำพวกพงศาวดารจีน. และไล่เลียงรายชื่อ ความเป็นมาของขุนนางเก่าๆ จะเห็น "ร่องรอย" ข้อมูลอีกด้านอย่างชัดเจน
หนังสือพงศาวดารจีนที่แปลเป็นภาษาไทยอย่างเรื่องประเภท สามก๊ก, ไคเภ็ก, ไซฮั่น ฯลฯ ในยุคเก่านั้น ไม่ใช่ภาษาจีนระดับพื้นๆ ที่คนเรียน ป.3 ป.4 ก็อ่านได้. แม้ว่าจะแปลโดยมีอารักษ์คอยจด มีผู้อื่นคอยเรียบเรียงสำนวนไทย ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายๆ. จำนวนพงศาวดารมากมายเหล่านั้นคือร่องรอยว่า คนจีนยุคแรกๆ ที่มาสู่แผ่นดินสยาม มีเป็นจำนวนไม่น้อยที่เป็นคนมีวิชาความรู้สูง ยิ่งเมื่อพิจารณาที่ขุนนางที่ทำงานให้ทางการในหน้าที่ต่างๆ ที่ต่อมาได้เป็นขุน เป็นพระ เป็นพระยา ก็จะเห็นได้ว่า หน้าที่การงาน ความรับผิดชอบเหล่านั้นต้องใช้ "องค์ความรู้" และ "วิชาหนังสือ"อยู่มาก

หากพิจารณาจากข้อมูลประวัติศาสตร์ชาวจีนโพ้นทะเลในเอเชียอาคเนย์  จะพบว่าครั้งอดีตนั้น ชาวจีนในพื้นที่เหล่านี้อพยพมาจากท้องถิ่นแผ่นดินจีนเดียวกัน  แต่เมื่อไปสู่แผ่นดินใหม่แล้วจึงได้รกรากปักฐานในระยะยาวตามเหตุปัจจัยของแต่ละคน
ถ้าสืบค้นไปที่ความสัมพันธ์ของครอบครัวจีนในเอเชียอาคเนย์ พบว่ามีลักษณะเครือญาติข้ามแผ่นดินใหม่ที่ตั้งรกรากในภายหลัง. เช่น ครอบครัวจีนที่นครสวรรค์ บางครอบครัวมีญาติใกล้ชิดตั้งรกรากอยู่ในมาเลเซียหรือสิงคโปร์. บางครอบครัวมีญาติอยู่ที่บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ หรือฮ่องกง. เพียงแต่ต่อมาขาดการติดต่อสัมพันธ์กัน
เรื่องชาวจีนในแผ่นดินไทยดูเสมือนจะเป็นเรื่องใกล้ตัว. แต่ในเชิงข้อมูลเชิงลึกและเชิงสถิติแล้วดูจะมิได้มีเป็นระบบเป็นแก่นเป็นสารมากนัก ผิดกับในสิงคโปร์ และมาเลเซียที่มีหลักฐานข้อมูลแน่นหนาและเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่า

เรื่องราวเกี่ยวกับชาวจีนในแผ่นดินสยามมีความเป็นตำนานบอกเล่าสูง ขณะที่มีลักษณะบันทึกอย่างเป็นทางการน้อย. ข้อมูลทั้งภาษาไทยและภาษาจีนมีลักษณะขาดเป็นห้วงๆ ไม่เป็นระบบ และต่อไม่ค่อยติด. ปรากฏการณ์นี้ไม่น่าจะเป็นไปโดยธรรมชาติ. หากแต่มีการ "จัดการ" ให้เป็นไปเช่นนี้ทั้งโดยทางตรงและโดยอ้อมตั้งแต่อดีตจนแม้กระทั่งในปัจจุบัน
ข้อมูลพื้นฐานบางอย่างสูญหายไปกับวันเวลา  ประวัติศาสตร์สิ่งพิมพ์ภาษาจีนในแผ่นดินสยามยาวนานกว่า 100 ปีไปมาก. และสิ่งพิมพ์ภาษาจีนในสยามยุคเริ่มแรกก็ไม่ใช่เรื่องสายลมแสงแดด หากแต่มีเนื้อสารอันเข้มข้น. สิ่งนี้ปรากฏร่องรายในงานศึกษาวิจัยของต่างชาติ ทว่าเอกสารสำคัญที่เป็นเอกสารภาษาจีนเหล่านี้หาได้น้อยมากในสมุดในแผ่นดินสยาม. นี่ก็เป็นข้อบ่งชี้หนึ่งว่า "เรื่องเล่า" เกี่ยวกับจีนในสยามนี้มีเรื่อง "ใต้บรรทัด" ที่ต้องพิจารณา

เรืองรอง  รุ่งรัศมี
26/6/2012


พิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “Dragon Square” นิตยสาร Mix เดือนกรกฎาคม 2012

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น