ค้นหาบทความ

วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กระจกเงาของผู้ชาย


กระจกเงาของผู้ชาย

จะต้องมีกระจกเงาบานหนึ่งที่รอคอยข้าอย่างเปล่าประโยชน์
กระจกเงาที่รอคอยข้า ช่างว่างเปล่า รอบข้างของมัน
ไม่มีเครื่องเรือน ไม่มีโคมไฟ และหนังสือ
ไม่มีกิ่งใบที่แผ่ออกอย่างยุ่งเหยิงราวผมยาวของผู้หญิง
และผลแอปเปิ้ลที่ไม่เคยถูกคนลิ้มชิม

ภายในกระจกเงายิ่งไม่มีใบหน้าของข้า
ความทุกข์ตรมในดวงตาและรอยย่นเต็มหน้าผาก
มิได้เปล่งร้อง มันจะแตกร้าวจากการเปล่งร้อง
มิได้ครวญคราง มันจะเปลี่ยนรูปในการครวญคราง
บิดเบี้ยว ทำให้ใบหน้าของโลกกลายเป็นชวนขัน

กระจกเงานี้ เพียงแต่กลืนกินฝุ่นธุลีอยู่ทุกวันคืน

จากบทกวี : หนาน เหญิน เตอ จิ้ง จื่อ
โดย : จื่อ เหวิน

            บทกวีทำหน้าที่อะไร?
            บางทีคำถามนี่ไม่น่าจะถามนี้ก็ทำให้เราชะงัก
            บทกวีบอกเล่าอะไรบางอย่างนั้นเป็นของแน่ แต่อะไรบางอย่างนี้บางทีก็ทำให้พร่ามัว งุนงง
            บทกวี คือ การแสดงความในใจส่วนตัว ความในใจส่วนตัวนี้น่าจะเป็นทั้งความรู้สึก และความคิด แต่ความในใจส่วนตัวนี้น่าจะเป็นทั้งความรู้สึก และความคิด แต่ความในใจส่วนตัวเมื่อเป็น 'ส่วนตัว' ทำไมจึงต้องเขียนเพื่อให้ผู้อื่นได้อ่านด้วย
            เพื่อแสดงถึงลักษณะร่วม และลักษณะเฉพาะ ของมนุษย์เพื่อการทำความเข้าใจ มนุษย์ ชีวิต โลก ร่วมกัน นี่น่าจะเป็นเป้าหมายหรืออุดมคติที่สำคัญกว่าการแสดงความเก่งกล้าสามารถของตัวผู้เขียน
            การไปถึงสัจจะสูงสุด น่าจะคือจุดมุ่งหมายของบทกวี เช่นเดียวกับศิลปะวิทยาแขนงอื่นๆ ทั้ง คีตศิลป์ วิจิตรศิลป์ นาฏศิลป์

            การเขียนเพื่อแสดงความเก่ง ความยิ่งใหญ่ บางทีก็เป็นเพียงเป้าหมายตื้นเขิน และการหลงตัวเอง
          แต่หากไม่มีความเก่ง ความสามารถเลยก็ยากที่จะบรรลุถึงซึ่งสัจจะสูงสุดตามที่ตั้งใจไว้
            เว้นแต่ว่ากำลังลวงทั้งตนและผู้อื่นว่าตนนั้นอยู่เหนือระดับมนุษย์สามัญ
            แน่นอนว่า อัจฉริยะ หรือผู้อยู่เหนือระดับมนุษย์สามัญนั้นมี แต่คนเช่นนั้นก็ยังต้องค้นคิด ศึกษา เรียนรู้ ไม่มียกเว้น
           
            สิ่งที่แยกบทกวีที่มีคุณค่า ออกจากบทกวีพื้นๆ ทั่วไป แง่มุมหนึ่งคือ บทกวีที่มีคุณค่าทำให้ความในใจเฉพาะนั้นกลายเป็นข้อร่วมของบุคคลทั่วไปได้ จากนั้นยกระดับอารมณ์ และภูมิปัญญาให้สูง
            ที่เขายกย่องให้จัดหนังสือบทกวีไว้ในชั้นเดียวกับปรัชญาก็อยู่ที่ตรงเงื่อนไขนี้
          คำไพเราะ จินตภาพสวยๆ ภาษาที่ลื่นไหล ความสามารถในเชิงช่าง เป็นแต่เพียงความเก่ง ความสามารถยังมีอีกชั้นหนึ่งที่ต้องมุ่งไปสู่นั้นคือภูมิปัญญาที่นำมาสื่อสารเพื่อให้ชีวิต และโลกดีขึ้น
           
            บทกวี 'กระจกเงาของผู้ชาย' เป็นแต่เพียงบทกวีแสดงความในใจของปัจเจกบุคคล หรือว่าเป็นบทกวีที่ควรให้คะแนนมากกว่านั้น ท่านส่องเห็นสิ่งใดในกระจกเงานั้น และกระจกเงานั้นสะท้อนเงากลับไปกลับมาอย่างไร
            บทกวีสามารถเป็นได้ทั้งสิ่งที่เป็นเฉพาะกาล และนิรันดร์กาล
          ชั่วขณะหนึ่งข้าพเจ้าเห็นภาพผู้ชายคนหนึ่งในฐานะมนุษย์คนหนึ่งมองดูกระจกบานเดียวกับที่ฮุ่ยเหนิง สังฆปรินายก องค์ที่ 6 ของนิกาย ฌาณ (ธยานะ) เคยมอง
          พวกเขากำลังเจรจากันถึงชีวิต สนทนาจากโลกียะ สู่โลกุตระ


เรืองรอง รุ่งรัศมี


พิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ สายลมในกิ่งหลิว เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 629

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น