ค้นหาบทความ

วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เลข 0 กับความเป็นตัวอักษรจีน


0 เป็นตัวเลขหรือตัวอักษร
ประเด็นนี้อาจไม่เป็นปัญหาสำหรับภาษาไทย แต่สำหรับภาษาจีนแล้วนี้เป็นประเด็นสำคัญทางวิชาการ
ภาษาจีนมีอักษรเขียนแทนตัวเลขอารบิค 1234567890 ว่า 一二三四五六七八九零 ไทยใช้เลขไทย (ซึ่งยืมมาจากอักษรขอมหลายตัว) ๑๒๓๔๕๖๗๘๙๐
เลข๐ของจีนกับของไทยเป็นวงกลมเหมือนกัน มีลักษณะแผกไปจาก 0 ที่เป็นวงรูปไข่ตามตั้งของฝรั่ง
จีนกลางอ่านเลข 0 ว่า "หลิง" ตัวอักษรที่แท้จริงคือ อ่านว่า"หลิง" แต่ประเด็นคือ 0 สามารถถือเป็นตัวอักษรจีนหรือไม่ หรือว่ามันเป็นเพียง"ตัวยืม" ที่ไม่ใช่ตัวอักษรจีน

ตัวอักษรจีนมีลักษณะเฉพาะ มีลักษณะเป็นเส้นประกอบกันอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม ตัวอักษรแต่ละตัวมีเสียงอ่านเฉพาะและแปลความหมายได้ ลักษณะโครงสร้างเส้นสายของตัวอักษรจีนมีเส้นลักษณะต่างๆดังนี้คือ
1 เส้นตามแนวนอน เช่น 一二三
2 เส้นตามแนวตั้ง เช่น 十 上 小 下
3 เส้นในแนวเฉียง เช่น 才 木
4 เส้นที่ล้อมเป็นกรอบเหลี่ยม เช่น 口 国
5 เส้นที่มีลักษณะเป็นจุดหรือขีดสั้นๆ เช่น 冰 河 流 点

โดยหลักๆแล้วตัวอักษรจีนสร้างขึ้นโดยนำเส้นเหล่านี้มาผสมกันในสี่เหลี่ยมช่องหนึ่ง หนึ่งตัวอักษรจะสร้างขึ้นบนพื้นที่สี่เหลี่ยมนี้ พิจารณาตัวอักษรจีนที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นน่าจะพอทำความเข้าใจหลักการนี้ได้พอสมควรกระมัง

ตัวเลข 0 ไม่เข้าเงื่อนไขทั้ง 5 ข้อของตัวอักษรจีนเลย
อีกทั้ง 0 ยังมีตัวเขียน แต่ดั้งเดิมอยู่แล้ว
ในที่นี้ยังไม่เคยค้นคว้าให้กระจ่างจนสามารถอ้างอิงได้ว่าโลกรู้จักการนับจำนวนมาได้อย่างไร และจีนรู้จักเลข 0 มาอย่างไร
0 ในฐานะจำนวนนับ เป็นการค้นพบครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ
แต่ 0 ในฐานะตัวอักษรจีนเป็นประเด็นวิชาการที่ยังถกกันไม่จบ
ถ้ามันถือเป็นตัวอักษรจีน ทำไมมันมีลักษณะวิธีเขียนอยู่เหนือกฎเกณฑ์อย่างโดดเดี่ยวตัวอักษรเดียว และทำไมพจนานุกรมภาษาจีนส่วนใหญ่จึงมิได้บรรจุตัวอักษรสำคัญตัวนี้เอาไว้
ถ้ามันไม่ใช่ตัวอักษรจีน ความคิดเกี่ยวกับ สูญ , ความว่าง , ความไม่มี ทำไมจึงถูกสื่อด้วยภาพวาดเส้นพู่กันจีนที่เป็นวงกลมมาอย่างเนิ่นนาน

ในปรัชญาจีน และศิลปะจีน ความว่าง , ความไม่มี , สูญ ,สุญญตา เป็นประเด็นสำคัญที่ถูกศึกษาค้นคว้าและอ้างอิงถึงเสมอ
ปรัชญาเต๋าอันเป็นปรัชญาแท้ของจีนพูด ถึง ความว่าง , ความไม่มี , สุญญตา , สูญ ฯลฯ ไว้มากมายนับพันๆ ปีแล้ว เต้าเต๋อจิง 道德经 ของ เหลาจื่อ (เล่าจื๊อ)老子 ,ปรัชญาเต๋าของจวงจื่อ 庄子 ,และ เลี่ยจื่อ 列子 ล้วนแต่พูดเรื่องความว่าง
แม้กระทั่งพุทธศาสนาของจีนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องความว่าง
ธยานะ หรือ เซน (禅宗) ยิ่งย้ำชัดเรื่องความว่าง กระทั่งให้ ฉีกคัมภีร์ และผ่าพระพุทธรูปไม้ทำฟืน
เซนเน้นการถ่ายทอดธรรมแบบจากจิตสู่จิต ไม่จดบันทึกเป็นตัวหนังสือ และเน้นเรื่องความว่าง การไม่ยึดมั่นถือมั่นในรูปแบบ แบบแผน
เต๋า และ เซน เป็นแนวคิดที่ใกล้ชิดชีวิตคนจีนอย่างยิ่ง สำหรับชาวจีนแล้ว เต๋าและเซนไม่ใช่ "ลัทธิ" หากแต่เป็น "ศาสนา" () ถ้าคุ้นเคยกับหนังกำลังภายในหรือวรรณกรรมบู๊เฮี้ยบจะเห็นแนวคิดแบบนี้ได้อย่างชัดเจน
เส้าหลินซึ่งเป็นสำนักคิดแบบพุทธแท้ๆ ก็ยังเชื่อเรื่องความว่างแบบเดียวกับบู๊ตึ๊งที่ถือแนวปรัชญาเต๋า
นักพรตเต๋าแบบจางซานเฟิง แห่งบู๊ตึ๊ง และหลวงจีนอิกเต็งไต้ซือแห่งสำนักเส้าหลิน หรืออั้งชิดกงแห่งพรรคกระยาจก ล้วนแต่สนทนาธรรมกันด้วยประเด็นสุญญะ, ความว่าง, ความไม่มี, การปล่อยวาง

เอกสารโบราณของจีนมีตัวอักษร อย่างมากมาย
ภาพวาดจีนมีภาพเส้นวงกลมเก่าแก่มาก
บทกวีจีนโบราณพูดถึงความว่างด้วยคำว่า และถ้อยคำอื่นอีกหลายคำ
การจดจำนวนนับของจีนโบราณมีทั้งที่เป็นตัวอักษร และที่เป็น ๐ วงกลมเมื่อบันทึกเลขศูนย์
เดิมนั้นสรรพสิ่งรวมตัวมิได้แยกจากกัน ต่อมาสิ่งที่เบาลอยขึ้นกลายเป็นฟ้า สิ่งที่หนักอยู่เบื้องล่างกลายเป็นดิน....
หนึ่งกำเนิดสอง สองกำเนิดสาม สามกำเนิดสรรพสิ่ง
เดิมนั้นสรรพสิ่งรวมตัวมิได้แยกจากกัน

วงกลมง่ายๆ วงหนึ่ง
คือความว่าง
คือความไร้
คือศูนย์
คือสุญญะ
คือความกลมกลืน
คือสรรพสิ่ง
และมิใช่สิ่งใดเลย


เรืองรอง  รุ่งรัศมี
4/6/2013



พิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “Dragon Square” นิตยสาร Mix เดือนกรกฎาคม 2013

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น