ค้นหาบทความ

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

หนังจีน

 ปี ค.ศ.1895 พี่น้องลูเมียร์คิดค้นเทคโนโลยีภาพยนตร์ได้สำเร็จ การถ่ายและการฉายภาพเคลื่อนไหวปรากฏเป็นความตื่นเต้นใหม่ของโลกตะวันตก
ปี ค.ศ.1896 เทคโนโลยีภาพยนตร์แพร่จากชาติตะวันตกเข้ามาสู่เซี่ยงไฮ้และฮ่องกง
          ปี ค.ศ.1905 เริ่นจิ่งเฟิง (任景丰) เจ้าของร้านถ่ายรูปเฟิงไท่ (丰泰) ที่ปักกิ่ง ทำการถ่ายภาพยนตร์เรื่อง "ติ้งจวินซาน" (定军山) ถือเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าแรกของภาพยนตร์จีน

ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์จีน เริ่มขึ้นโดยสามัญชนผู้เป็นเจ้าของกิจการร้านถ่ายรูป แน่นอนว่าความรู้เรื่องการถ่ายภาพนิ่งคือความรู้เชิงวิชาชีพของเขา การขยับไปถ่ายภาพเคลื่อนไหวที่มีเรื่องราวเป็นการต่อยอดพื้นฐานความรู้เดิม เป็นความตื่นเต้นใหม่ๆ ของยุคสมัย และเป็นลู่ทางความก้าวหน้าทางงานอาชีพด้วย เพียง 10 ปีให้หลัง จากที่โลกมีภาพยนตร์ของพี่น้องลูเมียร์ โลกภาพยนตร์ของจีนได้เปลี่ยนผ่านจากการรับเข้ามาอย่างสำเร็จรูป เป็นการสร้างสรรค์งานของตนขึ้นเอง
            ถึงราวปี 1913 ก็มีคนอย่าง เจิ้งเจิ้งชิว (郑正秋) จางสือชวน (张石川) หลีหมิงเหว่ย (黎明伟) ทยอยกันถ่ายทำภาพยนตร์ขึ้นทั้งที่เซี่ยงไฮ้และฮ่องกง
หนังจีนรุ่นแรกที่เป็นหนังเรื่องคือ "คู่ทุกข์คู่ยาก" (难夫难妻 ) และ "จวงจื่อทดสอบภริยา" (庄子試妻) เป็นหนังขนาดสั้น เริ่มมีเป้าหมายเพื่อความบันเทิงของผู้คนและคาดหวังรายรับด้านธุรกิจ
ปี 1920 หนังขนาดยาวของจีนก็กำเนิดขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ ถึงเวลานี้หน่ออ่อนของศิลปะการสร้างภาพยนตร์ของจีน ก็ได้หยั่งรากลงบนผืนดินอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว. สังคมจีนในเวลานั้นเป็นรอยต่อของการก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ รูปแบบโครงสร้างต่างๆ ของสังคมกำลังเปลี่ยนแปลง ประเทศชาติตกอยู่ในภาวะยากลำบากทั้งเรื่องสงคราม ภาวะฝืดเคืองด้านการเงิน และการรุกรานเข้ามาของต่างชาติในทุกด้าน
สภาพสังคมแบบกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาเช่นนี้ การลงทุนสร้างภาพยนตร์ของเอกชนย่อมมีปัญหาทั้งเรื่องความรู้เชิงเทคโนโลยีด้านเครื่องไม้เครื่องมือ การหาเงินลงทุน ความเข้าใจของผู้คนในสังคม(ซึ่งนอกจากจะคือกลุ่มนายทุน/คนงาน/นักแสดง/ฝ่ายทำงานเบื้องหลัง ยังรวมถึงผู้ชมที่จะเสียเงินซื้อตั๋วเข้าไปดูหนังอีกด้วย)
            หนังจีนในยุคแรกอิงอยู่กับการถ่ายทำการแสดงจากเวทีงิ้ว และจัดแสดงขึ้นใหม่เพื่อถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ แต่ในเวลาอันสั้น บทภาพยนตร์แบบใหม่ก็กำเนิดขึ้นมา  การแสดงแบบใหม่ การกำกับ การตัดต่อ ล้วนแต่เป็นสิ่งใหม่ของโลกยุคนั้น

            ยุคทศวรรษที่ 1920 เป็นยุคของหนังเงียบขาวดำ เป็นยุคเริ่มลงรากปักฐานของหนังจีน พอเข้าสู่ทศวรรษที่ 1930 ศิลปะการภาพยนตร์ของจีนก็แข็งแรงมากแล้ว จากฟิล์มหนังเก่าๆที่ตกทอดมา ทำให้เราได้เห็นผลงานหนังในยุคนั้นหลายเรื่องที่องค์ประกอบในความเป็นหนังสมบูรณ์และน่าทึ่ง หนังบางเรื่องเรายังหาดูผ่านอินเทอเน็ตได้ในปัจจุบัน
            เข้าสู่ทศวรรษที่ 1930 กระแสความคิดซ้ายได้กลายเป็นกระแสหลักของหนังจีนอย่างโดดเด่น หย่วน หลิง อวี้ (院玲玉) คือนักแสดงหญิงคนหนึ่งที่โดดเด่นมากของยุคนี้ น่าเสียดายที่เธอฆ่าตัวตายตั้งแต่อายุยังน้อย จึงเหลือผลงานตกทอดมาถึงเราไม่มาก หนังที่หย่วนหลิงอวี้แสดงเนื้อหาค่อนข้างจริงจัง เธอมักรับบทหญิงยุคใหม่ที่สู้ชีวิต เรื่องราวชีวิตของเธอเคยถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์คุณภาพที่ได้ทั้งกล่องและได้ทั้งเงินเมื่อราวยี่สิบปีที่แล้ว หนังอำนวยการสร้างโดยเฉินหลง แสดงนำโดยจางม่านอวี้ (张曼玉)

            จากยุคทศวรรษที่ 1930 เป็นต้นมา หนังจีนก็หยั่งรากลงบนพื้นดินของศิลปะสกุลอัตนิยม (realistic) อย่างมั่นคง ช่วงเวลานั้นฐานการผลิตภาพยนตร์ยังอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ แต่ที่ฮ่องกงและไต้หวันก็มีการสร้างภาพยนตร์ออกมาอย่างสม่ำเสมอแล้ว เพียงแต่ผลงานที่โดดเด่นส่วนใหญ่ยังเกิดจากกลุ่มผู้สร้างที่เซี่ยงไฮ้
สงครามโลกและสงครามภายในจีนมีส่วนกระทบต่อแวดวงภาพยนตร์จีนอย่างมาก การรบพุ่งและการเปลี่ยนระบอบการปกครองจากรัฐบาลก๊กมินตั๋ง (กว๋อหมินตั่ง - 国民党) ทำให้ผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ไม่น้อยไหลมาตั้งหลักใหม่ที่ฮ่องกง บางบริษัทก็ยังคงฐานเดิมไว้ที่เซี่ยงด้วย แต่บริษัทใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในฮ่องกงก็มี
            พูดถึงหนังฮ่องกงแล้วจะข้ามชื่อบริษัท ชอว์ บราเธอส์ (邵氏公司) ไปไม่ได้ ชอว์ บราเธอส์เป็นบริษัทเก่าแก่ที่ครั้งยังอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ใช้ชื่อบริษัทเทียนอี (天一) การเกิดขึ้นของ ชอว์ บราเธอส์ ฮ่องกงได้เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ขนานใหญ่ และได้ชักนำให้กระแสการสร้างภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงเป็นจริงและประสพผลสำเร็จทางด้านการตลาดด้วย

            ภาพยนตร์จีนช่วงทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา มิได้มีฐานการผลิตอยู่เฉพาะที่เซี่ยงไฮ้แล้ว ที่ไต้หวัน และฮ่องกง ศิลปะภาพยนตร์ได้พัฒนาตัวเองในทุกด้าน และต่างก็ผลิตภาพยนตร์ของตนออกสู่โลกภายนอก ในช่วงเวลานี้ หนังจีนใน 3 แผ่นดินนี้มีลักษณะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด คือ ที่ฮ่องกงก้าวเข้าส่วนยุคธุรกิจอุตสาหกรรมภาพยนตร์ (แน่นอนว่าหนังที่"ขาย"หลายเรื่องก็มีหนังที่เข้มข้นทางคุณภาพด้านศิลปะและเนื้อหาด้วย) ทางไต้หวันตกอยู่ภายใต้นโยบายต่อต้านและปลุกผีคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลเจียงไคเชค ส่วนทางจีนแผ่นดินใหญ่กำลังวางรากฐานใหม่ของภาพยนตร์แนวสังคมนิยมควบคู่กับการสร้างสรรค์ประเทศจีนใหม่
  
เข้าสู่ทศวรรษ 1960 ลักษณะภาพยนตร์จีน ฮ่องกง , ไต้หวัน และจีนแผ่นดินใหญ่ ก็สร้างลักษณะเฉพาะของตนจนเห็นได้ชัดแล้ว
            สังคมไทยตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1960 เป็นต้นมาอยู่ในแนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์ตามลูกพี่อเมริกา การรับรู้ข้อมูลภาพยนตร์จากทางด้านจีนแผ่นดินใหญ่จึงมีค่อนข้างน้อย ภาพยนตร์ที่ได้ชมกันในโรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่มาจากฝั่งฮ่องกงและไต้หวัน. เพิ่งจะหลังทศวรรษ 1980 นี่เองที่ข้อมูลภาพยนตร์จีนฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มเข้ามาสู่การรับรู้ของคนไทย หลังจากที่หนังจีนรุ่นใหม่ของกลุ่มผู้กำกับรุ่นจางอี้โหมว (张艺谋) ไปคว้าเอารางวัลทางด้านภาพยนตร์จากเทศกาลภาพยนตร์ครั้งแล้วครั้งเล่า
            ปัจจุบัน หนังจีนทั้งฝั่งฮ่องกง, ไต้หวัน และจีนแผ่นดินใหญ่ ล้วนมีที่ทางชัดเจนอยู่ในกระแสประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ร่วมสมัยของโลก ผู้กำกับภาพยนตร์จีนหลายๆ คน ก้าวข้ามพรมแดนประเทศไปทำหนังในที่ต่างๆ ทั่วโลก และแนวของภาพจีนในทั้ง 3 แผ่นดินก็หลากหลาย น่าชื่นชม
            คนทำหนังรุ่นใหม่ๆ กำลังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ใน 3 แผ่นดินนี้ ถึงวันนี้ คำว่า ผู้กำกับรุ่นที่ 5 เป็นคำที่เก่าไปเสียแล้ว โลกไม่อาจจัดผู้กำกับรุ่นจางอี้โหมวให้หยุดนิ่งอยู่กับความเป็น "รุ่นที่ 5และโลกภาพยนตร์จีนก็กำลังก้าวสู่วันเวลาใหม่อย่างขะมักเขม้น และน่าตื่นตาตื่นใจ

เรืองรอง รุ่งรัศมี
3/5/2013



ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Dragon square นิตยสาร Mix magazine ฉบับเดือน มิถุนายน 2013

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น