ค้นหาบทความ

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กระจกที่ส่องไม่ค่อยเห็นตัว

หากว่าแต่งงานมีครอบครัว คนอายุ 3550 ปี ก็คงเป็นพ่อแม่ของเด็กๆ ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงอุดมศึกษาได้สบายๆ หากเป็นพ่อแม่ของลูกที่เป็นวัยรุ่นหรือเรียนอยู่ระดับอุดมศึกษา ปัญหาช่องว่างทางความคิด ซึ่งแตกต่างตามช่วงวัย ภูมิหลัง ประสบการณ์ชีวิต และความแตกต่างของสังคมและยุคสมัย ทำให้เกิดสิ่งใดขึ้นกับคนเหล่านี้
เราพบว่าคนรุ่น 14 ตุลาและคนรุ่นเข้าป่าซึ่งอยู่ในวัย 3550 ปี โดยประมาณ ในวันนี้ปฏิบัติต่อเรื่องเหล่านี้แตกต่างกันไป การกระทำบางอย่างชวนฉงนจนน่าตั้งข้อสังเกตเป็นประเด็นทางสังคม
            เด็กๆ ลูกของคนรุ่น 14 ตุลา ถึงรุ่นเข้าป่านั้นมีกระจัดกระจายไปทั่วประเทศ พวกเขาเรียนหนังสืออยู่ตามโรงเรียนต่างๆ ทั้งโรงเรียนวัด โรงเรียนประชาบาล โรงเรียนประจำอำเภอ ประจำจังหวัด โรงเรียนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง จนถึงโรงเรียนเอกชนที่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนแพงๆ จำนวนหนึ่งถูกพ่อแม่ให้ไปแสวงหากระดาษแผ่นนั้นถึงเมืองนอนด้วยจำนวนเงินก้อนโต
เกิดอะไรขึ้นกับวิธีคิดของคนเป็นพ่อแม่ อันมีผลถึงการกำหนดฝีเท้าก้าวเดินของผู้เป็นลูกให้แตกต่างกันมาก

ไม่เพียงแต่การกำหนดฝีเท้าก้าวเดินของคนเป็นลูก คนช่วงวัย 3550 ปี ยังมีส่วนอย่างสำคัญต่อการโน้มนำชักจูงฝีเท้าก้าวเดินของคนอีกรุ่นหนึ่งของสังคมอยู่ในวันนี้
            ขณะที่คนรุ่นอายุ 3550 ปี บ่นว่าไม่มีเพลงไทยจะฟัง ไม่มีหนังไทยจะดู ไม่มีละครโทรทัศน์ไทยที่ชอบ ในสายงานวัฒนธรรมบันเทิงไทยกลับเต็มไปด้วยคนในวัย 3550 ปี
ไม่เพียงจะเป็นคนทำงานในระดับปฏิบัติการ แต่มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้บริหารระดับตัดสินและวางแผนทางนโยบาย
            ในแวดวงเศรษฐกิจการเมืองก็เช่นเดียวกัน คนที่ปั่นและเป่าลูกโป่งฟองสบู่ ส่วนข้างมากอยู่ในช่วงวัยนี้
            บรรณาธิการหนังสือพิมพ์และนิตยสารจำนวนมากเป็นคนในช่วงวัยนี้ ผู้กำกับภาพยนตร์กี่คนเป็นคนรุ่นนี้ หัวหน้าข่าวและนักข่าวมากมาย คนเขียนบทหนังสือและโทรทัศน์ คนแต่งเพลง คนเขียนคำโฆษณา คนสร้างภาพลักษณ์ให้สินค้า คนวางแผนงานสินค้าวัฒนธรรม ผู้ถือหุ้นและผู้ร่วมทุนในกิจการวัฒนธรรมบันเทิงเหล่านี้ ลองไล่เรียงไปตามแต่ละหน่วยงานของสังคมไทยในวันนี้ เราจะพบว่าคนรุ่นอายุ 3550 ปี ยึดครองพื้นที่อยู่มาก 
            ส่วนหนึ่งที่คนในสายศิลปวัฒนธรรมและการบันเทิงไทยรุ่นอายุ 3550 ปี ไม่กระทำลงไป ได้เป็นเสมือนบูมเมอแรงที่ย้อนกลับมากระทบตัวของเขาและสังคมที่เขาอยู่
            การจับคนหน้าตาดีที่เสียงงั้นๆ มาเปล่งเสียงประกอบเสียงดนตรี เป็นการกระทำของใคร คนกำหนดนโยบายและเจ้าของทุนเป็นคนรุ่นไหน คนทำมิวสิควิดีโอหรือคนกำหนดงบโปรโมทมิวสิควีดีโอที่มีให้ดูจนมีนชาเป็นใคร คนทำนิตยสารเล่มหรูหราแต่สาระรุ่งริ่งนั้นมาจากนอกโลกหรือ คนวางภาพลักษณ์ในให้สิ่งกลวงๆ ล้างสมองผู้คนอยู่ในโทรทัศน์เล่า ทั้งหลายเหล่านี้คนรุ่นอายุ 3550 ปี พูดว่ามิได้ร่วมทำและกำหนดให้เกิดขึ้นได้หรือ

            คนรุ่นอายุ 3550 ปี บ่นเสียงดังเสมอ ต่อความอึดอัดคับข้องใจเรื่องสินค้าเชิงวัฒนธรรมและรสนิยมซึ่งอัตคัดขาดแคลนสำหรับเขา เป็นธรรมชาติของช่วงวัยหรือที่คนในช่วงวัยนี้จะเริ่มบ่นอย่างไม่ต้องเหลียวมองตนเอง ข้าพเจ้ามิได้ยกเว้นตัวเองไว้ในกรณีเช่นนี้ หลายปีมานี้ข้าพเจ้าพบว่าตนเองก็ไม่ติดต่อสัมพันธ์กับโรงภาพยนตร์ ไม่ชอบฟังเพลงที่ออกใหม่ๆ หงุดหงิดกับการ “ขาย” อะไรต่อมิอะไร แน่นอน ข้าพเจ้ารำคาญและไม่ชอบใน Presenter ของสิ่งนั้นๆ ไม่น้อย แต่พอได้สติคิด ข้าพเจ้าบอกตัวเองว่า เออ! พวกคนที่ผมเริ่มหงอกแซมอย่างคนรุ่นข้าพเจ้านี่หว่า ที่กำหนดให้สิ่งน่าหงุดหงิดเหล่านี้เกิดเฟื่องฟูขึ้นมาในสังคมยุคนี้
            ข้าพเจ้าและคนรุ่นข้าพเจ้าได้เหวี่ยงบูมเมอแรงทางวัฒนธรรม ให้ย้อนกลับมาเคาะหัวตัวเองมาแล้วเท่าไร

            ประเด็นปัญหาที่น่ามองคือ เป็นไปได้หรือที่การเหวี่ยงบูมเมอแรงทางวัฒนธรรมที่ปฏิบัติติดต่อกันมานับสิบปีนี้จะเป็นไปโดยไม่รู้สึกตัว หรือว่ามืออาชีพทั้งหลายจะเร่งรุดไปกับกระแสและความเร็วจนไม่ได้ทบทวนตัวเอง หรือว่าได้กลายเป็น “คนในร่องในรอย” แบบที่มีร่องก็ไหล มีรอยก็ตามๆ กันไป พอหงุดหงิดอึดอัดก็บ่นๆ กันไป โดยลืมไปว่าผลของวิถีพฤติกรรมของตนนั่นเองที่ตนบ่นไม่พอใจอยู่
            เมื่อครั้งที่คนรุ่นอายุ 3550 ปี ในวัยนี้ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวเป็นวัยรุ่นอยู่ เขาเคยบ่นเบื่อวิพากษ์วิจารณ์เพลงสมัยก่อนว่ามีร้อยเนื้อทำนองเดียว หนังไทยละครโทรทัศน์ไทยเชย ไม่ลึกซึ้งและน่าเบื่อ  พอถึงวันนี้ที่คนรุ่นอายุ 3550 ปี สามารถผลักดันแนวเพลงไทย ละครโทรทัศน์ไทย และภาพยนตร์ แล้วเราก็ได้เพลงแบบ “เนื้อเดียวครึ่งทำนอง” จำนวนมากมายเสียยิ่งกว่าเพลงยุค สุเทพ, สุนทราภรณ์ และได้ดูหนังไทยและภาพยนตร์โทรทัศน์ที่เชยบ้างไม่เชยบ้างเท่านั้น เท่านั้นจริงๆ

            วัฒนธรรมบันเทิงและศิลปะนั้น คือวิถีแห่งวิญญาณและภูมิปัญญาของสังคม มันส่องสะท้อนถึงอดีตและชี้ให้เห็นถึงอนาคต
            แต่คนที่ทำงานวัฒนธรรมบันเทิงและศิลปะของเรานั้น เคยส่องเห็นตนเองซึ่งเป็นผู้กระทำไหม  โดยเฉพาะคนรุ่นอายุ 3550 ปีในวันนี้ นอกจากบ่นว่าคนรุ่นน้องรุ่นลูก และยุคสมัยของสังคมแล้ว เขาเคยพยายามหยิบกระจกส่องมองวิถีแห่งวัฒนธรรมของตนเองมากน้อยเพียงไร เขามองเห็นหรือไม่ว่ามือของใครที่เหวี่ยงมูมเมอแรงทางวัฒนธรรมเช่นนี้ออกไป
            เขาพร้อมที่จะมองเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และรับการวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนตื่นขึ้นมากำหนดแก้ไขและปฏิบัติสู่สิ่งที่ดีขึ้นหรือยัง
            เอาเข้าจริงๆ ตอนที่ข้าพเจ้าผมเริ่มหงอกแซม ข้าพเจ้าก็บอกตัวเองได้ยิ้มๆ ว่า “กรรมใดใครก่อ” และมันก็เป็นกันทั้งหัวหงอกหัวเริ่มหงอก และหัวดำพอๆ กัน

            เราต่างเป็นกระจกที่ส่องไม่ค่อยเห็นตัว และเป็นผู้ร่วมกำหนดความงามความอัปลักษณ์ที่เราผจญอยู่ไม่ได้มากน้อยกว่ากัน
            เราวางทางบางอย่างให้เด็กอนุบาลจนถึงเด็กมหาวิทยาลัยของเราอยู่ในวันนี้ และเราควรรับผลของมันต่อไป
            วิธีคิดของเรานั่นแหละ ที่มีส่วนกำหนดสังคมและฝีเท้าของคนรุ่นน้องรุ่นลูกของเราในวันนี้ และนั่นเท่ากับวิธีคิดของเรามีส่วนกำหนดการคลี่คลายตัวของคนรุ่นลูกรุ่นน้องของเราด้วย
            กระจกเงาของยุคสมัยสะท้อนกลับไปกลับมา แต่เราไม่ค่อยมอง เราไม่ค่อยยอมเห็นเงาสะท้อนของเราในกระจกนั้น


เรืองรอง  รุ่งรัศมี


พิมพ์ครั้งแรก : นสพ.ผู้จัดการรายวัน 5-6 สิงหาคม 2538 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น