ดื่มชาแบบจีน
กับดื่มชาแบบพิธีชงชาของญี่ปุ่น นอกจากวิธีการจะไม่เหมือนกันแล้ว
ลักษณะใบชาที่ใช้ก็ไม่เหมือนกันด้วย
แม้จะดูเหมือนแตกต่างกันในปัจจุบัน
แต่ความจริงแล้วมีหลักฐานอ้างอิงได้ว่า
การดื่มชาแบบที่ชาวญี่ปุ่นดื่มในพิธีชงชานั้น
ได้เคยเป็นที่ปฏิบัติโดยทั่วไปอยู่ในแผ่นดินจีนยุคโบราณ
'คัมภีร์ชา' (cha jing) ของ ลู่ อวี่
(Lu yu) มีบันทึกไว้ว่า
ก่อนสมัยราชวงศ์ถาง
(ค.ศ.618-907) ในแผ่นดินจีนมีการดื่มชา 4 ประเภท คือ ชูฉา (cu
cha), ซ่านฉา (san cha), ม่อ ฉา (mo
cha) และปิ่งฉา (bing cha)
ชูฉา
คือการดื่มชาโดยวิธีต้มในหม้อ ใบชาที่เก็บมาจะมีทั้งใบอ่อนที่เพิ่งแตกจากกิ่ง
ใบทั่วไป และก้านใบ นำทั้งหมดนั้นมาหั่นให้ละเอียดเป็นฝอย แล้วนำลงไปต้มในหม้อ
ลู่อวี่เรียกการดื่มชาวิธีนี้ว่า จว๋อ (Zhuo)
ซ่านฉา
คือการดื่มชาโดยวิธีต้มหรือเคี่ยว วิธีนี้คล้ายคลึงกับวิธีแรก
แตกต่างกันที่พิถีพิถันเลือกใช้แต่ใบชาอ่อน และดื่มเฉพาะน้ำ
ลู่อวี่เรียกการดื่มชาวิธีนี้ว่า อ๋าว (ao)
ในสมัยถางมีกวีชื่อ
ลู่ ซิ เซิง (Lu xi sheng) เคยเขียนถึงการดื่มชาวิธีนี้ในกวีบางวรรคของเขาว่า
“เดือนสองยามฝนตกในป่าเขา
ที่เนินเขาใบชาอ่อนผลิใบใหม่
ตื่นยามวสันต์
ดื่มเพื่อฟื้นเมาทั้งยังดับกระหาย
ถนอมเก็บใบชาอ่อนสดใหม่วนเวียนเด็ดมาดื่มกิน”
ม่อฉา
คือการดื่มชาโดยวิธีนำใบชาที่เด็ดมาได้มาคั่วให้แห้ง จากนั้นบดให้เป็นผงละเอียด
แล้วจึงนำไปต้ม ลู่อวี่เรียกการดื่มชาวิธีนี้ว่า หยาง (yang)
ปิ่งฉา
คือการดื่มชาโดยนำใบชาไปนึ่งแล้วอัดให้เป็นแผ่นหรือเป็นแท่ง
แล้วทำให้แห้งโดยการย่างไฟ เมื่อจะดื่มจึงนำมาบดให้ละเอียดแล้วจึงนำไปต้ม
ลู่อวี่เรียกการดื่มชาวิธีนี้ว่า ชง (chong)
ชาแผ่นหรือชาแท่งที่รู้จักกันทั่วไปคือ ชาผูเอ่อร์ (Pu
er) และชาควอฉา (tuo cha) ซึ่งมักอัดเป็นก้อนรูปถ้วย
ขณะที่ชาผูเอ่อร์มักอัดเป็นแท่งหรือเป็นแผ่นกลมแบน
ม่อฉา
คือชาที่ทำให้เป็นฝุ่นผง ชาชนิดนี้เมื่อแพร่เข้าไปในญี่ปุ่น
ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับขั้นตอนการทำชาให้เป็นผงละเอียด
ซึ่งกลายเป็นขั้นตอนสำคัญของพิธีชงชาของญี่ปุ่น
ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในวัฒนธรรมชงชา
การที่ม่อฉาหายไปจากสังคมจีน
มีสาเหตุมาจากการให้ความสำคัญต่อเรื่องความละเอียดของชาอย่างเกินเหตุในสมัยราชวงศ์ซ่ง
(Song ค.ศ.420-479) เดิมนั้นวิธีทำชาให้เป็นผงนั้นทำด้วยการทุบ
หรือตำอย่างง่ายๆ ต่อมากลายเป็นใช้วิธีบดโม่ให้เป็นผงละเอียด และทำให้กลายเป็น
'เอี๋ยนกาวฉา' (yan gao cha) จากนั้นนำไปผสมกับหลงหน่าว
(long nao : พืชชนิดหนึ่ง ยางของมันใส่ราวเกล็ดน้ำแข็ง
หรือผลึกแก้ว มีคุณสมบัติทางยา) แล้วจึงทำให้กลายเป็น 'ซินหลงหยวนเฉิงเสวี่ย' (xin long yuan cheng xue)
ซินหลงหยวนเฉิงเสวี่ย
ทำโดยการเอาใบชาอ่อนมาลอกเปลือกด้านนอกออก ให้เหลือเพียงไส้ในใสเก็บไว้ในน้ำสะอาด
แล้วจึงนำไปผสมกับยางผลึกหลงหน่าว
ความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อเช่นนี้ของราชสำนักทำให้อาณาประชาราษฎร์ต้องพบกับความเดือดร้อนไปทุกหย่อมย่าน
ในที่สุดก็ทำให้อาณาจักรซ่งต้องล่มสลายไปอยู่ภายใต้อำนาจของจิน (jin)
เมื่อ จู หยวน จาง
(zhu yuan zhang) ขึ้นเป็นกษัตริย์
ได้สั่งให้ยกเลิกประเพณีอันเหลวไหลต่างๆ หลายเรื่องในปีที่ 24 รัชศก หงอู่
(ค.ศ.1391) จูหยวนจางในฐานะกษัตริย์ ได้สั่งให้ยกเลิกการถวายบรรณาการชาประเภทม่อฉา ซึ่งทำเป็นก้อน
แล้วให้ใช้ใบชาในการชงน้ำชาในวัง แทนการใช้สิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยจนสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน
บุคคลที่นำชาจีนเข้าไปเผยแพร่ในญี่ปุ่น
คือ พระภิกษุหย่งจง (yong zhong) (ค.ศ.743-816) แต่ผู้ที่ทำให้พิธีการชงชาเจริญรุ่งเรืองจนแพร่หลาย คือ ธนายาจารย์หญงซี่
(rong xi chan shi) (ค.ศ.1141-1215) ชาที่เขานำไปญี่ปุ่น คือ
ชาม่อฉา ดังนั้น ชาม่อฉาที่สูญสลายในแผ่นดินจีน จึงค่อยๆ
เฟื่องฟู กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในพิธีชงชาของญี่ปุ่น
เพียงแต่ชาม่อฉาในญี่ปุ่นไม่ได้เป็นชาแบบฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยแบบที่ราชสำนักซ่งเคยใช้
เรืองรอง รุ่งรัศมี
พิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ สายลมในกิ่งหลิว เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 641
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น