ค้นหาบทความ

วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประวัติศาสตร์ของตำนาน


1.
นอนหลับแล้วก็ตื่น กลางวันแล้วกลางคืน วันเวลาผ่านไป
เหตุการณ์เกิดขึ้น ผ่านไปวันต่อวัน กลายเป็นประวัติศาสตร์และตำนานในอนาคต ความจริงแม้กลบเอาไว้ใต้บรรทัด แต่ก็เช่นเดียวกับป้ายที่หน้าหลุมศพ วันหนึ่งจะมีคนถามคำถาม
ความจริง ยังมีผู้ค้นหาอยู่เสมอ เช่นเดียวกับขุมทรัพย์ลายแทง เกิดขึ้นมาอย่างไรก็ได้ มีจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่เมื่อมีผู้ตามหา นั่นคือการเริ่มต้น
ประวัติศาสตร์ ตำนาน และความจริง คือเรื่องแต่งยอกย้อน นั่นแหละที่มันเร้าความคิด และนั่นก็คือรอยปริของเปลือกความเท็จ และคือเงื่อนปม

2.
ปริศนาก็คือความจริงอย่างหนึ่ง
ความลึกลับก็คือความจริงอย่างหนึ่ง มันบอกเราว่า มีความจริงอีกชั้นหนึ่ง มันให้กุญแจ คนที่ไม่หยิบกุญแจขึ้นมาไขด้วยตัวเอง มองไม่เห็นเอง

3.
การคิด การพิจารณา การรู้สึก เมื่อแสดงออกมา สามารถบอกระดับการรับรู้ และสามารถชี้วุฒิภาวะ
การแสดงความเห็น ผ่านการคิด, พิจารณา, หรือรู้สึก แม้ฟังดูคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน แม้ว่าเหมือนกัน แต่น้ำหนักนั้นก็ไม่เท่ากัน
ทัศนะเดียวกัน หนักก็ได้ เบาก็ได้ มีสาระก็ได้ ไร้สาระก็ได้ อยู่ที่ว่ามันเป็นทัศนะจากความคิด จากการพิจารณา หรือว่าเป็นเพียงความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ พอใจหรือไม่พอใจ
สิ่งเหล่านี้ รวมกันเป็นภูมิหลัง หรือปูมของชนชาติหรือกลุ่มชน
มันกลายเป็นบันทึกข้อมูล
มันกลายเป็นตำนานพิสดารพันลึก
มันกลายเป็นประวัติศาสตร์
หรือมันกลายเป็นคำอุทานติดปากของคน

4.
กระจกเงา หนังสือพิมพ์ หรือแม้กระทั่งเรื่องเล่าไร้สาระ ล้วนส่องสะท้อนภูมิปัญญาและวุฒิภาวะของกลุ่มชนและวันเวลาได้
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ มิได้มีอยู่เพียงในจารึกบนแผ่นศิลา การไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย ก็เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เหมือนกัน
กระจกเงา นอกจากสะท้อนภาพสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามันแล้ว ยังสะท้อนสิ่งรอบๆ นั้นด้วย และเมื่อขยับเคลื่อนไหวมุมมอง เงาที่สะท้อนก็เปลี่ยนมุมไป

5.
ความเปลี่ยนแปลง เริ่มต้นก่อเค้าจากสิ่งใดก็ตาม มันก็เหมือนคลื่นที่กระฉอกอยู่ไปมา กว่าผิวน้ำจะนิ่ง ต้องใช้เวลา
และระหว่างที่คลื่นกระฉอกซัดอยู่ การควบคุมแรงและลักษณะการกระเพื่อม ไม่ใช่เรื่องง่าย
บางที คำถามใหญ่ๆ และจริงจังจากที่ต่างๆ ก็เกิดขึ้นมาจากการลองกระฉอกคลื่นโดยไม่คาดหมาย และบางทีคำถามก็เหลืออยู่ราวศิลาจารึก แม้เมื่อผิวน้ำนั้นไม่กระเพื่อมอีกแล้ว

6.
เป็นธรรมดาที่โลกมีความขัดแย้ง เป็นธรรมดาที่คนคิดและเชื่อไม่เหมือนกัน
ที่สำคัญคือการยินยอมให้คนคิดและเชื่อไม่เหมือนกัน เพราะนั่นคือเสรีภาพ และคือความเสมอภาค
มีความเสมอภาคชนิดใดที่บอกให้คนต้องคิดและเชื่อตามกัน
คนที่เคารพผู้อื่น จึงสามารถสนิทใจที่จะนั่งโต้แย้งกับอีกฝ่ายหนึ่ง ด้วยการนั่งในระดับเดียวกัน
เสรีภาพ มิได้เป็นแต่เพียงความเป็นอิสระ ทว่ายังคือการมีคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์เสมอเท่าเทียมกัน

7.
นักประวัติศาสตร์ทางความคิดแบ่งโลกทางความคิดเป็นฝ่ายล้าหลังกับฝ่ายก้าวหน้า มองดูเหมือนมีน้ำเสียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่ง
ฝ่ายที่ก้าวหน้า คือฝ่ายที่เปิดรับข้อมูลใหม่ๆ และวิธีการมองที่แตกต่างออกไปก็ไม่รีบปฏิเสธ แม้ว่ามันจะไม่เคยมีมาก่อน โลกที่เปิดนั้นเอง ที่คือพลังขับเคลื่อนความคิดก้าวหน้า และแน่นอน การก้าวไปก็คือการก้าวละจากจุดเดิม ดังนั้น ความเคยชินใหม่ๆ จึงคือสิ่งที่เปิดรับได้และฝึกฝนเรียนรู้ได้
ในอีกขั้วหนึ่ง ฝ่ายล้าหลัง คือฝ่ายความเคยชินเก่า มันเป็นความคุ้นเคย เป็นสิ่งที่เป็นนิสัยเก่า กินอาหารเจ้าเดิม ไปถนนสายเดิม ไม่ทดลองอะไรใหม่ๆ และก็ไม่เกิดสิ่งใหม่ๆ เช่นกัน โดยสร้างความสบายใจให้กับตนว่า “ไม่เสี่ยงดี”
การเปิดใจรับสิ่งใหม่ กับการเสี่ยง พรมแดนอยู่ชิดกัน
แต่นั่นแหละ ที่เราจะชั่งน้ำหนักความเป็นกลางได้ว่า มันสถิตเสถียรได้เพียงไหน?

8.
เมื่ออ่านประวัติศาสตร์ที่ล่วงมาแล้วนานๆ บางทีก็อ่านได้ง่าย บางทีก็สับสน อ่านยาก
แต่หากอ่านวันเวลานี้ แล้วลองสมมติเรื่องประวัติศาสตร์ที่คนอีกยุคหนึ่งจะได้อ่าน บางทีเราจะรู้สึกว่าประวัติศาสตร์ยุคที่เรามีชีวิตอยู่นี้อ่านไม่ยากนัก
แต่เมื่อมันไม่ใช่วันเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ ประวัติศาสตร์มักจะคล้ายตำนาน และเรื่องแต่งชวนฉงน

เรืองรอง รุ่งรัศมี
7 / 2006


ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ "สายลมในกิ่งหลิว" เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 736 วันที่ 7-13 กรกฎาคม 2006

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น