ค้นหาบทความ

วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประวัติศาสตร์คือการคลี่คลายอารยธรรม


จีนเล่าเรื่องราวการค้นพบ หรือประดิษฐ์สิ่งต่างๆ เอาไว้ในข้อมูลประวัติศาสตร์ นิทานปรัมปรา ตำนาน และเรื่องเล่าต่างๆ มากมาย บางเรื่องเล่าฟังดูเหลือเชื่อ แต่พอสืบค้นลงไป ในตำนานเรื่องเล่าราวเทพนิยายนั้นกลับสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดี กระทั่งหลายเรื่องมีวัตถุโบราณยืนยัน

เริ่มแรกอย่างเรื่อง “ไคเภ็ก” การก่อกำเนิดของโลกและมนุษย์นั้นดูเหลือเชื่อ เป็นเพียงจินตนาการเชิงนิทาน แต่พอเล่ามาถึงเรื่องต้าอวี่ทดน้ำ (大禹治水) เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย เริ่มเห็นโครงสร้างความคิดที่ไม่ใช่จินตนาการอีกแล้ว
ในเอกสารบันทึกนับย้อนเวลาไปที่ 2550 ปีก่อนคริสตกาล เป็นเวลาเริ่มต้นของประวัติศาสตร์จีน ต้าอวี่อยู่ในยุค 2140 ปีก่อนคริสตศักราช ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อเกือบ 5000 ปีที่แล้ว สมองของมนุษย์แถบที่เราอยู่นี้จะคิดอะไรได้อย่างเป็นระบบ รู้จักวางระบบชลประทาน แก้ปัญหาน้ำท่วม

ย้อนเวลาไปก่อนต้าอวี่ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเสินหนงทดลองกินสมุนไพร (神农尝百草) นั่นคือตำนานวิทยาการด้านการแพทย์สมุนไพร
นอกจากแพทย์แผนจีนจะใช้สมุนไพร ยังใช้วิธีฝังเข็มรักษาโรคด้วย มีหลักฐานเข็มที่ทำจากกระดูกเก่าแก่มากถูกค้นพบ ตำราการแพทย์จีนสืบย้อนไปได้ไกลมาก เรื่องการฝังเข็มเป็นที่ยอมรับในด้านผลการรักษาแต่ยังหาวิธีอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์สมัยปัจจุบันให้กระจ่างชัดยังไม่ได้ทั้งหมด

วิทยาการด้านการแพทย์ของจีนกว้างใหญ่มาก หลักการแพทย์จีนเริ่มต้นทฤษฎีคนละอย่างกับการแพทย์ตะวันตก มีบางเรื่องอธิบายได้อย่างพ้องกัน แต่บางเรื่องก็ไม่สามารถอธิบายแบบการแพทย์แผนตะวันตกได้ บางเรื่องของความคิดการแพทย์แผนจีนใกล้กับความคิดของอินเดียโบราณ อย่างเช่นเรื่อง ชี่ () กับเรื่อง ปราณ เวลาเอาแนวคิดข้ามทฤษฎีกันมาอธิบายอีกอย่างหนึ่งที่รากทฤษฎีต่างกันอย่างสุดขั้ว หลายครั้งก็ชวนเวทนา เหมือนที่ใช้ทัศนะการแพทย์แผนตะวันตกวิเคราะห์สารอาหารของตัวยาสมุนไพรจีนบางอย่าง

วิทยาการโบราณของจีนมีกว้างมาก และความที่จีนมีระบบจดบันทึกสิ่งต่างๆ สืบค้นไปได้ไกล ความรู้มากมายจึงสามารถสืบเนื่องมา
ตัวอักษรจีนนั้นเก่าแก่มาก อ้างกันว่าตัวอักษรจีนยุคแรก คืออักษรบนกระดูกและกระดอง (甲骨文) จากการพิสูจน์ชิ้นกระดูกและกระดองที่มีตัวอักษรจารึกไว้ พบว่ามีอายุถึง 2,000 ปี
ตำนานเล่าว่า ชางเจี๋ย 仓颉 เป็นผู้คิดตัวอักษรขึ้นมา อักษรบนกระดองและกระดูกสัตว์จะคลี่คลายตัวมาจากตัวหนังสืออย่างไร เรื่องนี้มีคนสนใจศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง

ความที่จีนมีระบบการจดบันทึก มีภาษาที่จะใช้จดบันทึก ร่องรอยหลักฐานจึงมีมากมาย และการจดบันทึกมากๆ นี้เองก็ทำให้จีนมีตำแหน่งไท่สื่อ (太史)ทำหน้าที่เขียนเรื่องราวด้านประวัติศาสตร์ ซือ หม่า เชียน (司马迁) ผู้เขียนบันทึกประวัติศาสตร์  “สื่อจี้” (史记) ทำหน้าที่ในตำแหน่งนั้น
ซือหม่าเชียนมีชีวิตอยู่ในช่วง145 b.c. - 86 b.c. ผลงานของซือหม่าเชียนตกทอดจนมาถึงวันนี้ คิดคำนวณเวลาแล้วจะพบว่า เมื่อกว่า 2,200 ปีมาแล้ว ที่จีนให้ความสำคัญกับการจดบันทึกอย่างเป็นทางการ การมีเอกสารโบราณตกทอดมาเช่นนี้เป็นข้อมูลสำคัญ นอกจากเรื่องเนื้อหาสาระที่บันทึกไว้แล้ว ยังทำให้มองเห็นถึงโครงสร้างทางภาษา รูปแบบตัวอักษรจีน และทำให้รู้ว่าระบบการจัดเก็บข้อมูลของจีนนั้นพัฒนาไปไกลมาก ชนิดที่เป็นโครงสร้างห้องสมุดที่มีการจัดเก็บเอกสารเป็นหมวดหมู่

อารยธรรมมนุษย์มิได้เกิดขึ้นลอยๆ ทุกสิ่งมีที่มาที่ไป การมีร่องรอยหลักฐานให้สืบค้น ช่วยให้มนุษย์มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลขึ้น และแน่นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก่อตัวมาจากสมาชิกของสังคมทุกระดับ การมีบันทึกที่กว้างขวาง หลากหลาย ทำให้มองเห็นรายละเอียดที่ซับซ้อนของสิ่งที่เกิดขึ้น
การที่จีนสืบทอดตัวอักษรของตนเองและคลี่คลายตัวมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สิ่งที่จดบันทึกไว้ไม่ได้กลายเป็นสิ่งลึกลับที่คนยุคต่อๆ มาจะทำความเข้าใจไม่ได้
และทำให้เรามองเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์ก็คือบันทึกการเคลื่อนไปของอารยธรรมที่หลากหลายซับซ้อน มิใช่เป็นแต่เพียงเรื่องราวของนักรบหรือวีรบุรุษเพียงเท่านั้น

 เรืองรอง  รุ่งรัศมี
30/7/2012


พิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “Dragon Square” นิตยสาร Mix เดือนสิงหาคม 2012

1 ความคิดเห็น:

  1. I wanted to thank you for this good read!! I certainly loved every little bit of it.
    I've got you bookmarked to look at new stuff you post…

    Feel free to surf to my site ... tampa fl auto accident attorney

    ตอบลบ