ค้นหาบทความ

วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2556

Guess who's coming to dinner

Guess who's coming to dinner
หนังรางวัลปี1967

ความเชื่อน่ะ เวลาแสดงออกด้วยวาจา เรามักมีโอกาสทำให้มันดูดี แต่เมื่อมันต้องกลายเป็นปฏิกิริยาสนองตอบโดยฉับพลัน บางที เมื่อมาทบทวนตัวเองผ่านเหตุการณ์นั้นไปแล้ว มันน่าตกใจตัวเองอยู่เหมือนกัน
Guess who's coming to dinner ชวนเราขบคิดประเด็นนี้
ในภาวะผ่อนคลายนั้น ไม่ว่าจะแสดงออกทางวาจาหรือพฤติกรรม คนเราสามารถจะรักษาหน้าตัวเองได้มาก การใช้วิธี “นิ่ง” เป็นการแสดงออกด้วยการ “ไม่แสดงออก” ที่แยบยล มันสร้างความกำกวมได้ และมันช่วยรักษา “ภาพลักษณ์” ได้ดี
การ “นิ่ง” มีมุมให้พลิกพิจารณาได้หลายมุม
มีสติรู้เท่าทัน
ไม่ตัดสินใจ
ยังไม่ตัดสินใจ
เจตนาไม่แสดงมุมมอง
กำลังทบทวนพิจารณา
หนีการตอบประเด็นนั้นๆ
ฯลฯ

บางที เราก็มองเห็นตัวตนแท้จริงของตนได้ไม่ชัด การทำดีแบบสบายๆ บางทีก็ทำให้เรามองตัวเองพองใหญ่กว่าความเป็นจริง
ประเด็นเรื่องการเหยียดมนุษย์เป็นประเด็นลึกที่ตรวจสอบ “ความเป็นมนุษย์” ของคนได้แหลมคม แม้ในสังคมไทย ปัญหารูปธรรมในเรื่องนี้จะมองเห็นได้ไม่จะแจ้งอย่างสังคมอเมริกัน แต่ทว่า ปัญหาการ “เหยียดมนุษย์” ที่เป็นอื่นในสังคมไทย ร้ายแรง รุนแรง และลงลึกอย่างยิ่ง โดยผู้คนพากันปฏิเสธในความจริงที่มีอยู่นี้
ในสังคมอเมริกัน มีปัญหาการมองมนุษย์ผ่านสีผิว รูปธรรมนั้นชัดเจน แม้ในปัจจุบันปัญหานี้ก็ยังมีอยู่ และเห็นได้อย่างจะแจ้ง
ผิวขาว- ผิวดำ- ผิวเหลือง-ผิวสี.........
โดยทั่วไปหนังเกี่ยวกับประเด็นนี้จะเล่าเรื่องผ่านตัวละครหลักที่เป็นคนผิวขาว แต่หากเล่าผ่านตัวละครหลักผู้กระทำที่เป็นคนผิวสี ประเด็นยิ่งแหลมคมขึ้นมา....
โดยเฉพาะเมื่อเป็นหนังเก่าเมื่อปี 1967 ที่สังคมยังไม่เคลื่อนผ่านมาถึงสังคมวันนี้ เมื่อคนผิวสีไม่มีความคิดแบ่งแยกสีผิว เขาไม่ใช่คนถูกเหยียดสีผิวในหนังเรื่องนี้ เมื่อลูกสาวของคนผิวสีในครอบครัวความคิดเปิดกว้างที่ไม่แบ่งคนตามสีผิว พาคนรักผิวขาวกลับไปกินข้าวมื้อเย็นกับพ่อแม่ที่บ้าน ถ้าคุณเป็นพ่อคนนั้น ระหว่างอาหารค่ำมื้อนั้น. และหลังจากอาหารค่ำมื้อนั้น. คุยจะพูดคุยกับตัวเองว่าอะไร ? และอย่างไร ?
คุณจะมองหน้าตัวเองต่อไปแบบไหนหลังจากผ่านวันนั้นไป ?

ดูหนังเรื่องนี้เมื่อนานมาแล้ว นานจนไม่มั่นใจว่าดูในโทรทัศน์สมัยขาวดำ หรือว่าดูในโรงหนัง มันนานจนไม่สามารถเรียกความทรงจำกลับมา แปลกตรงที่ว่าเนื้อหนังกลับติดแน่นในความทรงจำ อย่างน้อยก็ก่อนปี 1981 ที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ อย่างเร็วที่สุดก็เป็นยุคที่มี VDO ม้วน
ปี 1981 ข้าพเจ้าไปเรียนภาษาจีนที่ไต้หวัน นั่นเป็นหลักหมายในการจำวันเวลาที่ดูหนังเรื่องนี้ ข้าพเจ้ารู้จักหนังเรื่องนี้ก่อนหน้านี้แล้วจากการอ่านหรือการดูตัวเรื่องของหนังจริงๆ นั้นไม่แน่ใจ แต่เคยซื้อหนังสือภาษาจีนที่ทำจากบทสนทนาของหนังเรื่องนี้จากร้านหนังสือที่ไต้หวันแน่ๆ และชัดเจนว่านึกภาพฉากที่โต๊ะอาหารในหนังเรื่องนั้นได้พอสมควร
อาจจะเป็นเพราะเคยดูหนังเรื่อง “แด่คุณครูด้วยดวงใจ” (TO SIR WITH LOVE ) มาก่อน แล้วจดจำเพลงจากเสียงร้องของ LU LU ได้ จึงทำให้ตั้งใจดูหนังเรื่องนี้ หรือเพราะเหตุอื่นใดก็ไม่แน่ใจ ผู้คนเขาจดจำซิดนีย์ ปอยเตีย จาก “แด่คุณครูด้วยดวงใจ” แต่ข้าพเจ้ากลับคิดถึงเขาใน “แขกที่มากินข้าวมื้อค่ำ” และถ้าความจำยังไม่เลือนมากนัก คิดว่าเขาน่าจะแสดงเป็นนายอำเภอในหนังเรื่อง “นายอำเภอดำ” ที่ข้าพเจ้าชอบอีกเรื่องหนึ่ง แล้วความทรงจำก็พามาสู่หนังคาวบอยเคร่งขรึมอีกเรื่องที่พูดประเด็นสีผิวอีกเรื่อง เพียงแต่ในช่วงขณะที่เขียนนี้ ชื่อเรื่องยังไม่ผุดขึ้นมาในความทรงจำอย่างชัดเจน

ซิดนีย์ ปอยเตีย และหนังของเขาในความทรงจำล้วนแต่มีเนื้อสารบางอย่างที่ทรงพลัง และทำปฏิกิริยากับสมองเสมอ ข้าพเจ้าผ่านวัยเยาว์กับการเสพศิลปะแบบไม่ใช่เพียงดูเอาเพลินๆ ผ่านๆ เวลาไป 
เวลาและเงินของลูกคนจนไม่ได้มีมากพอสำหรับการใช้มันผ่านไปเล่นๆ เพลินๆ

เรืองรอง รุ่งรัศมี
29/5/2012


Check out this video on YouTube:
http://www.youtube.com/watch?v=xCAaEbCDovQ&feature=youtube_gdata_player

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น