ค้นหาบทความ

วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ยินดีเป็นราชาของแคว้นเล็ก ไม่ปรารถนาเป็นเสนาของแคว้นใหญ่



เพื่อเกลี้ยกล่อมเซวียนฮุ่ยหวางแห่งหานกว๋อ (ครองอำนาจระหว่าง 332 – 312 ปี ก่อน ค.ศ.) ให้ยอมรับแนวความคิดผูกสัมพันธ์ในแนวตั้ง ซูฉิน เริ่มด้วยการวิเคราะห์กำลังทางทหาร ทำให้หานหวางเกิดความประทับใจในตัวเขา
“หานกว๋อมีจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์หลายแห่ง ทางเหนือคือ ก่ง, ลว่อ, เฉิงกาว เป็นต้น ทางตะวันตกมี อี๋หยาง, ฉางป่าน เป็นด่านสำคัญ ทางตะวันออกมี หว่าน, หญาง, หยาวสุ่ย ทางใต้มีสิงซาน ครอบครองพื้นที่ถึง 1,000 ลี้
เป็นประเทศใหญ่ที่มีกำลังทหารนับสิบหมื่น นอกจากนี้ คันศรและลูกธนูที่ดีที่สุดก็สร้างจากประเทศหานกว๋อ คันศร “จวี๋หลาย” กับคันศร “เสอลี่” เป็นอาวุธที่สร้างจากซีจื่อและเส้าฝู่ ยังสามารถยิงเข้าสู่เป้าหมายที่อยู่ห่างไกลถึง 600 ก้าว เมื่อทหารได้ใช้อาวุธชนิดนี้ ไม่เพียงจะยิงร้อยครั้งเข้าเป้าร้อยครั้ง ยังสามารถยิงถูกศัตรูที่อยู่ไกลด้วย
ยิ่งกว่านั้นดาบและกระบี่ที่ใช้ในกองทัพล้วนสร้างจากหมิงซาน ไม่ต้องซื้อหาจากประเทศอื่น เช่น กระบี่ถางซี, กระบี่มว่อหยาง, กระบี่เหอปว๋อ, กระบี่เติ้งซือ, กระบี่หว่านเฝิง, กระบี่หลงเยวน, กระบี่ต้าอา กระบี่เหล่านี้เมื่ออยู่บนพื้นดินสามารถสับม้าและวัวให้ตายได้ เมื่ออยู่บนผิวน้ำสามารถฆ่านกได้ เมื่อประจันหน้ากับศัตรูก็สามารถฟันทะลุหมวกเหล็กและชุดเกราะได้
นอกจากนี้สนับแข้ง, โล่, กระบอกลูกธนู ล้วนเป็นอุปกรณ์ที่มีอยู่พร้อมมูล ถ้าหากทหารหานกว๋อที่ฮึกเหิมสวมใส่อุปกรณ์เหล่านี้ออกศึก ย่อมสามารถตีข้าศึกให้แตกพ่ายได้โดยง่าย
เป็นประเทศที่มีกำลังกล้าแข็ง และยังอยู่ภายใต้การนำของหานหวาง ผู้เปรื่องปราดจะยอมค้อมศีรษะให้กับฉินกว๋อได้อย่างไร ? การทำเช่นนั้นเป็นความอัปยศอันยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ จะถูกผู้คนหัวเราะเย้ยหยัน ด้วยเหตุนี้จึงใคร่ขอให้ท่านโปรดไตร่ตรองโดยรอบคอบเถิด

การยกตัวอย่างและอธิบายโดยละเอียด เหมือนกับการอธิบายต่อเจ้าของกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก กิจการของท่านมีโครงสร้างและพนักงานอันดีเด่น กิจการไม่เพียงตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง ยังมีประสบการณ์มากมาย มีผลงานดีเด่น กิจการที่ดีถึงขนาดนี้ ถ้าถูกกิจการที่ใหญ่กว่าดูดกลืนไปเสีย ย่อมเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง

แล้วซูฉินก็พูดถึงผลเสียของแนวความคิดจางอี้ คือการเป็นพันธมิตรในแนวนอน ซึ่งเปรียบเสมือนถูกดูดกลืนโดยกิจการขนาดใหญ่ เขายกตัวอย่างให้หานหวางฟังอย่างละเอียด
“ถ้าท่านก้มศีรษะให้กับฉิน ก็คือการสวามิภักดิ์ต่อฉินหวาง เขาก็จะขอเอาเมืองอี๋หยางและเมืองเฉิงกาวกับท่าน ปีนี้ท่านให้เมืองอี๋หยางและเฉิงกาว ปีหน้าเขาจะขอดินแดนเพิ่มขึ้น ทุกปีท่านยกดินแดนให้เขา ย่อมมีวันหนึ่งซึ่งไม่เหลือดินแดนอีกเลย เมื่อไม่มีดินแดนจะมอบให้ เขาก็จะนำเภทภัยมาแทน นี่คือเหตุผลที่เป็นจริง ดินแดนของท่านมีอยู่จำกัด แต่ความต้องการของฉินนั้นไม่จำกัด ใช้ดินแดนอันมีอยู่จำกัดไปสนองตอบความปรารถนาอันไม่จำกัด ก็เท่ากับซื้อหาความคับแค้นและภัยอันตรายมาไว้กับตัว การถูกแบ่งดินแดนไปทีละน้อย โดยไม่ต้องทำสงครามเป็นเรื่องน่าเสียดาย นี่คือการคาดคะเนที่ถูกต้องอย่างยิ่ง มีเหตุผลอย่างยิ่ง”

เหตุผลที่บรรยายมาข้างต้น ทุกคนต่างเข้าใจได้
การยอมลดฐานะของตัวเอง ย่อมจะถูกเรียกร้องเอาอย่างไม่รู้จบ ในที่สุดแม้กระทั่งอำนาจทั้งหมดก็ถูกริดรอนไปด้วย ฉะนั้นการเข้าเป็นแนวร่วมกับฉิน ย่อมมีแต่โทษไม่ให้คุณแต่ประการใด

หลังจากการพูดนี้ ก็ตีเข้าจุดความนับถือในตัวเองของเซวียนฮุ่ยหวางเป็นขั้นสุดท้าย
ยินดีเป็นหัวของประเทศเล็ก ดีกว่าเดินตามหลังประเทศใหญ่ หากท่านพึ่งพิงฉินกว๋อก็เหมือนการยอมเดินตามหลังคนโต แม้มีกำลังรบกล้าแข็งขึ้น แต่อัปยศกับการเป็นสมุนของเขา เป็นความอัปยศอันยิ่งใหญ่แท้เชียว
ใบหน้าของหานหวางแสดงอาการโกรธ ร้องตอบด้วยเสียงอันดัง
ถึงตายข้าก็ไม่ขอพึ่งพิงฉินกว๋อ !


เรืองรอง รุ่งรัศมี แปลและเรียบเรียง


พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในหนังสือ "อ่านพงศาวดาร อ่านกลยุทธ์ ผิวขลุ่ยใต้ร่มไผ่" สำนักพิมพ์เคล็ดไทย กรกฎาคม 1994

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น