ค้นหาบทความ

วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ร้านหนังสือที่รักคนอ่านหนังสือ


เย็นวันหนึ่ง แวะเวียนไปร้านหนังสือที่คุ้นเคย คนชอบหนังสือแวะเวียนตามร้านหนังสือ บางทีก็ไม่ได้เจาะจงว่าจะไปซื้อหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง ยิ่งเป็นร้านหนังสือที่คุ้นเคย แวะไปครั้งใดก็ไม่รู้สึกว่าเป็นการเสียเวลา
หยิบจับหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้มาพลิกดู บางทีจากที่ไม่ได้ตั้งใจจะซื้ออะไร ตอนกลับอดจะมีหนังสือติดมือไปไม่ได้ บางทีไม่ซื้อหนังสือ เดินดูสมุดบันทึกสวยๆ ดูปกหนังสือและโปสการ์ดก็เพลิน
บนถนนพระอาทิตย์ มีร้านหนังสือเล็กๆ อยู่ร้านหนึ่ง ตั้งอยู่เยื้องๆ ป้อมพระสุเมรุ ชื่อ “ร้านหนังสือเดินทาง” หรือร้าน PASSPORT (เดิมคือ “ร้านหนังสือเล็กๆ”) เป็นร้านหนังสือที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวมากที่สุดร้านหนึ่งเท่าที่เคยพบในกรุงเทพ

ร้านหนังสือที่ดี มีลักษณะเฉพาะหลายลักษณะ บางร้านกว้างขวางใหญ่โต หนังสือเยอะ บางร้านขายหนังสือราคาถูกกว่าที่อื่น บางร้านบริการดี พนักงานมีความรู้ แต่ร้านหนังสือที่ดีที่สุด คือ ร้านที่รักคนอ่านหนังสือ
รักคนอ่านหนังสือ ไม่ใช่รักแต่หนังสือในฐานะสมบัติทรัพย์ศฤงคาร เหมือนเพชร พลอย แก้ว แหวน เงิน ทอง

ห้องสมุดที่ดีก็เหมือนกัน ห้องสมุดที่ดีต้องรักคนอ่านหนังสือ ไม่ใช่รักหนังสือแบบหวงแหน เหมือนพวกหวงสมบัติ
จะรักคนอ่านหนังสือได้ต้องมี “หัวใจ
หัวใจมีอยู่ในมนุษย์ มีอยู่ใน “คนที่ยังมีชีวิต
คนที่ยังมีชีวิตจึงจะรักในมนุษย์ได้ ระบบเครือข่ายหรือการจัดองค์กรมักขาด “คนที่ยังมีชีวิต” แบบนี้ ยิ่งระบบจัดการที่มุ่งหวังในผลประโยชน์ส่วนตนจนเกินงาม ยิ่งทำให้เราได้เห็นการเหี่ยวเฉาร่วงโรยอย่างรวดเร็วของร้านหนังสือหลายยี่ห้อ อย่างที่เรียกว่า แทบไม่น่าจะเชื่อว่าจะเป็นไปได้

ระบบจะให้ผลทางธุรกิจยอดเยี่ยมเพียงใด หากทำให้ “ความเป็นคน” ตายไป ระบบนั้นก็ไม่น่าจะดีจริง
เพราะความเป็นคนคือต้นทุนสำคัญของชีวิต และเป็นต้นทุนชั้นแรกเริ่มสุดของอุปสงค์และอุปทานในระบบเศรษฐกิจเช่นกัน
ไม่มีคน เครื่องจักรทำงานไม่ได้ ไม่มีคนซื้อ ไม่มีคนคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ฯลฯ
ไม่มีความเป็นคน ความผูกพันของคนอีกฝ่ายหนึ่งเกิดขึ้นได้ยาก จะยกมือไหว้อย่างไร ท่องคำขอบคุณอย่างไร ก็ไม่ทำให้ “ลูกค้า” รู้สึกดี

เวลาพนักงานเก็บเงินตามร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าท่องคำขอบคุณเจื้อยแจ้วและยกมือไหว้ ใครเคยรู้สึกดีบ้าง
ข้าพเจ้านอกจากจะไม่รู้สึกดีแล้ว ยังเกิดอาการรับไม่ได้ ไม่สบายใจ และเกิดอาการต่อต้านแนวความคิดเรื่องการจัดการบริหารแบบทำลายคุณค่าความเป็นคนของพนักงานแบบนี้ เลยเลี่ยงการซื้อของในร้านสะดวกซื้อและห้างใหญ่ๆ หันไปซื้อของในตลาดสดและร้านชาวบ้านแทน และพบว่าสินค้าต่างๆ ในตลาดสดและตลาดนัดหลายอย่างมีคุณภาพดี และราคาถูกกว่าตามห้างใหญ่และร้านสะดวกซื้อที่หัวมุมปากซอย นอกจากนี้ตลาดนัดบางแห่งยังมีสินค้าคุณภาพดี หลากหลายประเภทจำหน่ายในราคาสมเหตุผลกว่าด้วย

ร้านหนังสือระบบเครือข่าย เดี๋ยวนี้กลายเป็นที่เดินดูหนังสือโดยไม่ซื้อสำหรับข้าพเจ้า เพราะรับไม่ได้ที่พนักงานถูกสั่งให้ไหว้ลูกค้า
ในระบบเสรี ในฐานะเสรีชน ลูกค้าและพนักงาน หรือนายทุน นักบริหาร น่าจะเป็น “คน” เท่ากัน
มีเพียงวัฒนธรรมทาสเท่านั้นที่ฝ่ายหนึ่งสั่งให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำเรื่องต่างๆ ได้ตามอำนาจที่เหนือกว่า
อำนาจเงินในระบบทุนนิยม ไม่ควรเป็นอำนาจของนายทาส พนักงานเป็นมนุษย์ที่ขายความสามารถ ขายแรงงาน (สมองและร่างกาย) ขายเวลาช่วงหนึ่งในการทำงานแลกค่าจ้าง
เดี๋ยวนี้ศักดิ์ศรีของแรงงานกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมของระบบ ISO และมนุษย์ ISO เสียแล้วกระมัง
วงการหนังสือ น่าจะเป็นวงการของผู้มีภูมิปัญญา มีรสนิยม คนที่สั่งให้พนักงานไหว้ลูกค้าที่จ่ายเงินทุกคน แปลได้อย่างเดียวว่า “เห็นเงินเป็นพระเจ้า” ไม่ใช่การไหว้ขอบคุณหรอก

ที่ร้านหนังสือเดินทาง เราต่างเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มีศักดิ์ศรีความเป็นคน ทั้งคนขาย คนซื้อ และคนเดินดูโดยไม่ซื้อ ก็มีศักดิ์ศรีด้วย เราอาจพูดคุยทักทายกันในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับหนังสือก็ได้ เราอาจแวะมาดื่มชากาแฟ แวะมาดูนิทรรศการภาพวาด ภาพถ่าย และมาฟังเสวนา แวะมานัดเพื่อน แวะมานั่งทอดอารมณ์ มองป้อมพระสุเมรุผ่านหน้าต่างชั้นบน มีชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มเย็นๆ สักถ้วย มีหนังสือสักเล่ม หรือมีอารมณ์ว่างๆ กับโลกส่วนตัว
มีร้านหนังสือที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว และให้เกียรติความเป็นมนุษย์ของเราไม่มากแห่งบนโลกสีน้ำเงินใบนี้
ร้านหนังสือเดินทาง คือร้านหนังสือที่รักในความเป็นคนของเรา เป็นร้านหนังสือของคน เป็นสถานที่อันงดงามด้วยหัวใจแห่งหนึ่งของกรุงเทพในยุคสมัยปัจจุบัน

เรืองรอง รุ่งรัศมี
7 / 2004


ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ "สายลมในกิ่งหลิว" เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 632 วันที่ 12-18 กรกฎาคม 2004

หมายเหตุ ร้านหนังสือเดินทาง เดิมอยู่ใกล้ท่าเรือบางลำพู ไม่ไกลจากสนามหลวงและบางลำพู ร้านเปิดตั้งแต่สายๆ ถึงราว 2 ทุ่ม เดินทางสะดวกทั้งด้วยรถเมล์ แท็กซี่ รถส่วนตัว หรือเรือที่วิ่งในแม่น้ำเจ้าพระยา
ร้านหนังสือเดินทางที่ถนนพระอาทิตย์ได้ปิดลงเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2005 และไปเปิดในที่ใหม่ที่ถนนพระสุเมรุ ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2006 เป็นต้นมา 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น