ค้นหาบทความ

วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เรื่องเล็กๆ



1.
มีร้านสะดวกซื้อเปิดขึ้นมา และร้านขายของชำก็ลดลงไปเรื่อยๆ
มีห้างสรรพสินค้าเปิดขึ้นมา ตลาดสดก็ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ
ร้านสะดวกซื้อ – สะดวก
ห้างสรรพสินค้า – สะดวก
ความสะดวกเท่านั้นหรือที่ทำให้ตลาดสดและร้านขายของชำลดน้อยถอยลงอย่างรวดเร็ว
โลกยุคอ้างการมองโลกในเชิงบวกแบบ Positive Thinking คนชอบมองหาเงื่อนไขในการชนะทั้งสองฝ่ายแบบ win – win
มองโลกเชิงบวก กับมองหาทางชนะ เป็นการมองเข้าข้างตัวเองหรือไม่ ? และเป็นการมองแบบเห็นแก่ตัวมากน้อยเพียงไหน ?
มองโลกแต่เชิงบวก สอนให้ไม่กล่าวโทษตัวเอง เหลื่อมซ้อนอยู่กับการเลี่ยงความรับผิดชอบต่อแง่คิดที่ตนเองเป็นผู้ทำ เกยทับอยู่กับการหนีความผิดของตน คือไม่ขอรับผิดชอบต่อแง่ผิดของตน
มองโลกในเชิงบวกสอนให้คนรู้จักก้าวข้ามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่บกพร่องไป เหลื่อมซ้อนกับสำนึกจริงจังที่สอนให้ละเลยได้เรื่อยๆ
อนุสัย” คือ นิสัยเล็กๆ น้อยๆ ประกอบกันเข้าเป็น “นิสัย
อนุสัย” ของโลกแบบมองโลกแต่ในเชิงบวกเป็นอย่างไร
นิสัย” ของโลกแบบมองโลกแต่ในเชิงบวกก็เป็นเช่นนั้น
และ “สำนึก” ของโลกแบบมองโลกแต่ในเชิงบวกก็เป็นเช่นนั้นด้วย

2.
การไม่ได้ไปปล้นชิง กลั่นแกล้งร้านขายของชำและตลาดสดของลูกค้า ไม่มีอะไรที่ควรจะตำหนิตามมุมมองของการมองโลกแต่ในเชิงบวก
เราไม่ใช่โพธิสัตว์ หรือพระเวสสันดร จะได้ไปมีจิตใจยิ่งใหญ่อย่างนั้นได้ เราเป็นคนธรรมดา ทำได้แค่นี้ ทำใจให้สบาย เราไม่ได้ทำอะไรผิดที่ซื้อของในร้านสะดวกซื้อ หรือตามห้างสรรพสินค้า มองโลกแต่ในเชิงบวกสอนให้มองมุมแบบนี้
ไม่ต้องไม่สบายใจที่ร้านชำใกล้ๆ ปิดร้านไป ไม่ต้องสอนให้ลูกหลานเดินไป “ช่วย” ซื้อของที่ร้านโน้นร้านนี้
ซื้อของก็คือซื้อของ ทำไมต้อง “ช่วย” ซื้อ ทำไมต้องเดินไปร้านนั้น ทำไมต้องไปซื้อของที่ตลาดสด
ช่วย” เกี่ยวข้องกับ “น้ำใจ” เกี่ยวข้องกับ “ความอาทร” เกี่ยวข้องกับ “เมตตา” เกี่ยวข้องกับ “ความผูกพัน
อนุสัยของการซื้อของ กลายเป็นนิสัยแล้งน้ำใจ แห้งแล้ง แปลกแยก
เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทั้งนั้น ไม่ใช่ความผิดของเราเลยแม้แต่น้อย สังคมมันโหดเหี้ยมรุนแรงต่างหาก
จริงหรือ ?!?!

3.
สังคมมันเป็นเรื่องใหญ่ เราเป็นคนตัวเล็กๆ จะไปทำอะไรได้ ? เราจะไปแบกอะไรใหญ่ๆ แบบนั้นไหวได้อย่างไร ? แค่ทำมาหากินก็แทบตายแล้ว
เราก็เลยซื้อของเฉพาะในร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้าใหญ่ ปล่อยให้ร้านชำและพ่อค้าแม่ค้ารายเล็กรายน้อยไม่สามารถประกอบสัมมาชีพเดิมของตนได้
เราก็เลยใช้แต่ผ้าขนหนูและผ้าทอจากโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ ปล่อยให้ช่างทอผ้าขะม้าที่ตั้งกี่ทอผ้าไว้ในบ้าน หรือใต้ถุนเรือนขายของไม่ออก หารายรับไม่พอใช้จ่าย แล้วเปลี่ยนอาชีพ
เราก็เลยดื่มแต่น้ำอัดลมหรือน้ำดื่มมียี่ห้อ โดยอ้างตามที่นายทุนใหญ่ทำให้เราเชื่อว่า น้ำหวานข้างทางเต็มไปด้วยเชื้อโรคและสารพิษ และเราพากันเชื่อว่า น้ำส้มในกล่อง น้ำเต้าหู้ในกล่อง ดีกว่าและปลอดภัยกว่าน้ำส้มและน้ำเต้าหู้ที่คั้นและต้มให้เห็นอยู่ตรงหน้าเรา

4.
ก็เรื่องเล็กๆ เรื่องขี้ปะติ๋วทั้งนั้น ทำไมต้องจริงจังกันขนาดนั้นด้วย
ก็อนุสัยอย่างไร รวมตัวกันเป็นนิสัยอย่างไร แล้วก่อเกิดเป็นจิตสำนึกอย่างไร ไม่ใช่หรือ ?
สำนึกรับผิดชอบก็เช่นเดียวกัน

 เรืองรอง รุ่งรัศมี
4/2006


ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ "สายลมบูรพา" กรุงเทพธุรกิจ (กายใจ) วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน 2006

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น