ค้นหาบทความ

วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การคลี่คลายตัวของภาพยนตร์จีนแผ่นใหญ่




ประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์จีนแผ่นดินใหญ่มีมายาวนานถึง 90 ปี แต่ยุคสมัยอันสำคัญมีอยู่ 2 ช่วง คือ ราวทศวรรษ 1930-1940 ถือเป็นยุคที่มีความสำคัญในฐานะที่สามารถสถาปนาอาณาจักรแห่งภาพยนตร์ลงในแผ่นดินใหญ่ได้มั่นคง ถือเป็นการเบิกยุคใหม่ของศิลปาการด้านภาพยนตร์อย่างมีสุนทรียศาสตร์ จนทำให้ภาพยนตร์จีนเป็นที่ยอมรับทั่วไปในประเทศจีน

อีกยุคที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง คือ ช่วงทศวรรษ 1980 จนถึงปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาที่ผู้กำกับร่วมสมัยคนแล้วคนเล่าของจีน สามารถสถาปนาอาณาจักรของภาพยนตร์จีนได้อย่างมั่นคงในกระแสภาพยนตร์โลก ภาพยนตร์จีนร่วมสมัยเรื่องแล้วเรื่องเล่าไปได้รางวัลในการประกวดภาพยนตร์ตามประเทศต่างๆ จนทำให้ภาพยนตร์จีนสามารถเปิดประตูสู่โลกภายนอกอย่างมีศักดิ์ศรี
การที่ภาพยนตร์จีนยุคใหม่มีพัฒนาการจนก่อให้เกิดคุณภาพใหม่ มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยบังเอิญ ฐานรากที่สำคัญอย่างยิ่งน่าจะมาจากการมีสถาบันที่สอนวิชาการทางด้านภาพยนตร์อย่างเป็นทางการและสืบเนื่องต่อกันมายาวนาน
การมีสถาบันการศึกษาด้านภาพยนตร์โดยตรง นอกจากทำให้มีการถ่ายทอดความรู้ในแขนงศิลปะการภาพยนตร์ได้อย่างเป็นระบบ และมีหลักวิชาการแล้ว ยังทำให้สถาบันการศึกษาด้านภาพยนตร์กลายเป็นแหล่งสะสมข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์จีนไปด้วยพร้อมกัน
จากการมี “ราก” ทางวิชาการและข้อมูลเช่นนี้เอง ที่ทำให้ศิลปะแขนงนี้สามารถเติบโตแข็งแรงขึ้นทีละน้อย กระทั่งสามารถกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงา

นอกจากการมีสถาบันการเรียนการสอนทางด้านภาพยนตร์อย่างเป็นทางการแล้ว การคลี่คลายตัวทางการเมืองก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมหนังจีนมีโอกาสเจริญเติบโต
ประเทศจีนเริ่มตั้งโรงถ่ายภาพยนตร์โดยรัฐตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการเป็นประเทศสังคมนิยม เนื่องจากเห็นความสำคัญของแนวรบด้านวัฒนธรรม จากหลักคิดเช่นนี้เองที่ทำให้รัฐยื่นมือเข้ามาก่อตั้งและดูแลโรงถ่ายภาพยนตร์ ภาพยนตร์นอกจากให้ความบันเทิงต่อมวลชนผู้ชมทั่วไปแล้ว ยังทำหน้าที่ปลุกเร้า โฆษณา และยกระดับความคิดของผู้คนโดยทั่วไป
การดูแลชี้นำแนวทางการทำงานศิลปะโดยรัฐและพรรคนี้พัฒนามาจนถึงจุดสูงสุด และกลายเป็นจุดอับของวงการศิลปะในยุคซ้ายจัดของแก๊งสี่คน การควบคุมชี้นำจนเกินพอดี กลายเป็นการควบคุมและจำกัดเสรีภาพทางความคิดทั้งในรูปแบบและเนื้อหา และนั่นนำพาศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ ไปสู่จุดเสื่อมในที่สุด
แต่ใช่ว่าการที่รัฐและพรรคเข้ามาเกี่ยวข้องผูกพันกับองค์กรศิลปวัฒนธรรมจะเป็นแต่ด้านร้ายเพียงด้านเดียว ในด้านดี คือ ทำให้องค์กรมั่นคง แข็งแรง และไม่ต้องประสบปัญหาทางด้านการเงินบ่อยๆ ประกอบกับที่นอกจากมีโรงถ่ายแล้ว จีนยังเปิดให้มีสถาบันทางการศึกษาทางด้านภาพยนตร์ขึ้นด้วย และนั่นนำมาซึ่งการเติบโตทางวิชาการ ทำให้ผู้เรียนผู้สอนมีโอกาสศึกษาค้นคว้าวิจัยวิชาความรู้ทางด้านนี้ได้อย่างสะดวกขึ้น แม้จะไม่มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ แต่ก็ถือได้ว่ามีเสรีภาพในระดับหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ ส่งผลสะเทือนในระดับลึกต่อแวดวงภาพยนตร์จีนมาตลอดเส้นทางเติบโตของศิลปะแขนงนี้

ยุคทศวรรษ 1980-1990 เป็นช่วงเวลาแห่งการฟื้นคืนชีพใหม่ของภาพยนตร์จีนแผ่นดินใหญ่ ภายหลังประสบกับภาวะอับเฉารกร้างจากผลพวงช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม แต่สิ่งเหล่านี้ก็กลับกลายเป็น “ประเด็น” และ “วัตถุดิบ” สำหรับผู้กำกับหลายๆ คนในเวลาต่อมาด้วย
ช่วงระหว่าง ค.ศ.1966-1976 เป็นช่วงเวลาที่จีนเดินแนวทางซ้ายจัด การกระทำใดๆ ล้วนมีเข็มมุ่งไปที่การปฏิวัติวัฒนธรรมและการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ ความคับแคบตายด้านของวิธีคิดกลายเป็นกรอบพันธนาการ แต่พออำนาจของแก๊งสี่คนเสื่อมลง พื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ก็ขยายตัวออกไป พอถึงปลายทศวรรษ 1980 นโยบายการคลี่คลายตัวทางเศรษฐกิจก็ปรากฏชัดขึ้น พร้อมๆ กับนโยบายเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบการตลาด การจะควบคุมทุกอย่างเอาไว้ในมือของรัฐอย่างสิ้นเชิงก็เป็นสิ่งที่มิใช่จะกระทำได้ง่ายๆ อีกแล้ว
เมื่อประตูถูกเปิด การไหลเข้าและไหลออกของวัฒนธรรมและความคิดเป็นไปอย่างรวดเร็ว เงินทุนไหลเข้ามา ผลงานสร้างสรรค์ชิ้นใหม่ไหลออกไป และเมื่อพรมแดนทางศิลปะเปิดกว้างขึ้น พรมแดนแห่งการสร้างสรรค์ก็ขยายตัวตามไป แล้วจากนั้นภาพยนตร์จีนเรื่องแล้วเรื่องเล่าก็ไปปรากฏต่อสายตาชาวโลก ไม่เฉพาะเพียงภาพยนตร์ที่สร้างใหม่ ภาพยนตร์เรื่องเก่าๆ ยุคทศวรรษ 1930, 1940 และอื่นๆ ก็ได้รับความสนใจ และในที่สุด สุภาษิตจีนที่ว่า “ทองแท้ย่อมไม่กลัวไฟ” ก็พิสูจน์คุณภาพของภาพยนตร์จีนให้เป็นที่ยอมรับของชาวโลกในเวลาไม่นานต่อมา
ค.ศ.1978 รัฐบาลจีนเริ่มเดินแนวทางเปิดกว้างทางการเมือง พอถึงปี ค.ศ.1984 ก็เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบการตลาดอย่างเต็มตัว ค.ศ.1992 เป็นต้นมา ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมการตลาดก็ลงรากปักฐานในจีนอย่างมั่นคง สินค้าทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านภาพยนตร์ กลายเป็นตลาดใหญ่ที่มีผู้ต้องการซื้อขึ้นมา และนั่นทำให้ผู้สร้างสรรค์งานด้านนี้ต้องรับแรงปะทะนี้ ทำให้พวกเขาพากันปรับกระบวนการสร้างสรรค์ ไม่ว่าระบบเศรษฐกิจการตลาดแบบสังคมนิยมจะก่อผลในด้านอื่นเช่นไร แต่สำหรับภาพยนตร์แล้ว มันได้กลายเป็นตะแกรงร่อนอันหนึ่ง ที่มีส่วนคัดเลือกและพิสูจน์คุณภาพของหนังจีนอย่างเลี่ยงไม่พ้น ประกอบกับความเข้มแข็งในแง่หลักวิชาการ ภาพยนตร์จีนส่วนหนึ่งก็สามารถผ่านการพิสูจน์ของตะแกรงร่อนอันนี้ กระบวนการผลิตภาพยนตร์เรื่องหนึ่งๆ กลายเป็นศิลปะไปด้วย และผู้มีฝีมือก็มีสนามให้พิสูจน์ต่อผู้ชมทั่วไปในช่วงต้น

ในช่วงแรกที่ภาพยนตร์จีนยุคใหม่ออกมาพิสูจน์ต่อผู้ชมทั่วไปในช่วงต้นทศวรรษ 1980 เรื่องที่นำมาสร้างมักผูกพันกับงานวรรณกรรม ภาพยนตร์ดีๆ หลายเรื่องล้วนแต่อิงอยู่กับวรรณกรรมที่ดี
ภาพยนตร์อย่างเรื่อง “จวี๋โต้ว” (JU DOU, 1990), “โคมแดงแขวนเอาไว้สูงๆ” (RAISE THE RED LANTERN, 1991), “แป้งฝุ่นแดง” (BLUSH : HONG FEN) และ “เอ้อ ม่อ” (ER MO) ล้วนแต่สร้างมาจากวรรณกรรมที่ดี กระแสการสร้างภาพยนตร์จากงานวรรณกรรมที่ดียังคงดำเนินสืบเนื่องต่อมาจนปัจจุบัน
แม้ว่าหนังที่ดีอีกจำนวนหนึ่งจะเขียนเรื่องขึ้นมาเอง แต่คติที่ว่า “ท่านไม่สามารถสร้างภาพยนตร์ที่ดีขึ้นมาจากบทภาพยนตร์ที่เลวได้” ก็ถูกยึดถืออย่างเคร่งครัด ความคิดที่ “ไม่มั่ว” และ “ไม่ใช่มวยวัด” เช่นนี้เอง ที่มีส่วนสำคัญต่อการเติบโตและพัฒนาการของหนังจีนยุคใหม่
มองอย่างผิวเผิน เราอาจรู้สึกว่าหนังจีนยุคใหม่ที่ดี ล้วนเป็นผลงานของผู้กำกับรุ่นที่ 5 แต่ความจริงแล้ว ยังมีผู้กำกับในวัยอื่นๆ ที่ทำงานดีๆ ออกมาตลอดเวลา ไม่เพียงแต่กลุ่มที่ถูกเรียกว่า ผู้กำกับรุ่นที่ 4 รุ่นก่อนไปจากนั้น หรือรุ่นหลังจากรุ่นที่ 5 ก็กำลังสร้างสรรค์งานดีๆ ออกมาเรื่อยๆ เช่นกัน
ปัจจุบันดูเหมือนกลุ่มผู้กำกับที่มีบทบาทที่สุดในแวดวงภาพยนตร์จีน คือกลุ่มที่ถูกเรียกขานว่า รุ่นที่ 4 รุ่นที่ 5 และรุ่นที่ 6 และหลายๆ คนในกลุ่มเหล่านี้ ทำงานคาบเกี่ยวเกยทับระหว่างรุ่นต่อรุ่นเช่นกัน
การคลี่คลายตัวและพัฒนาการของหนังจีนแผ่นดินใหญ่ ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องมิได้หยุดนิ่ง จางอี้โหมว หนึ่งในผู้กำกับรุ่น 5 ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ก็มีผลงานหนังใหม่ชื่อ “มีอะไรพูดกันดีๆ ก็ได้” (หยิ่วฮว่าหาวห่าวซวอ หรือ KEEP COOL) ภาพยนตร์เรื่องนี้จางอี้โหมวสามารถหลุดพ้นไปจากการใช้ฉากในชนบท หรือการอิงเรื่องราวในอดีต มาสู่การพูดถึงเรื่องราวในชีวิตปัจจุบัน นี่คงเป็นพัฒนาการและการคลี่คลายตัวของผู้กำกับคนดังที่น่าจับตามอง


เรืองรอง รุ่งรัศมี


พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกใน “เดือน... ดาว... ในเงาฟิล์ม” แพรวเอนเตอร์เทน พ.ศ.2542

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น