ค้นหาบทความ

วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เกี่ยวกับที่มาของคำว่า "จีน"

ผู้ที่สนใจเรื่องราวด้านจีนวิทยา (SINOLOGY) มักจะพบเห็นการอ้างอิงสันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของคำว่า "จีน" หรือ CHINA ว่ามีต้นเค้ามาจากคำว่า ฉิน หรือ จิ๋นซีฮ่องเต้ 秦始皇帝 (ฉินสื่อฮว๋างตี้ ในเสียงจีนกลาง)
คำอ้างสันนิษฐานนี้ฟังดูน่าเชื่อถือเพราะเป็นเสียงที่ฟังแล้วพ้องกัน อีกทั้งจิ๋นซีฮ่องเต้ก็เป็นกษัตริย์จีนที่ยิ่งใหญ่ เป็นผู้ที่สามารถรวบรวมแผ่นดินจีนเข้าไว้ด้วยกันเป็นปึกแผ่น ความยิ่งใหญ่ของราชอาณาจักรฉิน ทำให้นึกโยงถึงคำว่า "จีน" หรือ CHINA ได้ง่าย
การสันนิษฐานแบบคาดเดาเช่นนี้พบได้ทั่วไปทั้งในหมู่ชาวไทยและฝรั่ง กระทั่งทำให้เชื่อตามๆ กันมาว่าข้อสันนิษฐานนี้ถูกต้อง และพากันอ้างต่อๆ กันมาทอดแล้วทอดเล่า

ข้าพเจ้าเองก็เคยเชื่อคล้อยตามคำสันนิษฐานแบบคาดเดานี้มานาน กระทั่งได้ไปอ่านพบในหนังสือชื่อ "ไทย - จีน" ของเสถียรโกเศศ ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์บรรณาคาร เมื่อ พ.ศ.2515 จึงได้พบว่าเสฐียรโกเศศหรือพระยาอนุมานราชธนได้เคยสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างมีแง่มุมน่าสนใจ จึงขออนุญาตคัดลอกมาอ้างอิงต่อดังนี้
"แม้ว่าชนชาติจีนจะมิได้เรียกตัวเองว่า "จีน" แต่ในภาษาจีนก็มีคำว่า "จีน" ปรากฏอยู่ คือ 支那 脂那 (อ่านว่า "จีนา" ตรงกับ "จีน") และ  震旦 (อ่านว่า "จิงตั่ง" ตรงกับ "จีนสถาน") นอกจากในพงศาวดารถังฉบับใหม่ (新唐書) มีคำว่า  摩訶震旦(มหาจีนสถาน) ใช้เช่นกัน
支那 脂那 震旦 เป็นคำสันสกฤต ใช้เรียกประเทศจีน คำเหล่านี้มีปรากฏในหนังสือต่างๆ เช่น  宋史天竺國傳 (ประวัติประเทศอินเดียในพงศาวดารซ้อง) -- "ขอกษัตราธิราชเจ้าแห่งจีนประเทศ (支那) จงทรงพระเจริญบริบูรณ์ด้วยพระบุญญาบารมีและมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน"
".......ตามที่มีผู้สันนิษฐานว่า คำว่า 支那 เลือนมาจากคำว่า (อ่านว่า ชิ้ง หรือ ฉิน ในภาษากลาง ในภาษาไทยแปลทับศัพท์ว่า จิ้น เช่น ฉินสื่อหวงตี้ -- จิ้นซีฮ่องเต้) หรือมาจากคำว่า 磁瓷 (อ่านว่า ฉือ แปลว่า เครื่องกระเบื้องดินเผา) นั้น ไม่เป็นการถูกต้องเลย ดังหลักฐานซึ่งปรากฏใน 曼殊全集書札 (จดหมายเหตุของพระธรรมาจารย์บ้วงซู (曼殊) - " 支那 หาได้เลือนมาจากคำว่า ไม่ เนื่องด้วยในมหากาพย์ภารตะของอินเดียมีคำว่า "จีน" ใช้อยู่ก่อนแล้ว กษัตริย์อินเดียเคยตรัสว่า พระองค์เคยเสด็จกรีฑาทัพหลวงขึ้นไปทางเหนือของประเทศอินเดีย พบดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ประชาชนมีสติปัญญาดี จึงทรงขนานนามดินแดนแห่งนี้ว่า "จีน" เมื่อได้สอบค้นดูแล้ว สมัยมหากาพย์ภารตะอยู่ในราว พ.ศ.857 อันตรงกับสมัยราชวงศ์เซียง () (ก่อน พ.ศ.1223-ก่อน พ.ศ.580) ส่วนราชวงศ์ฉินหรือจิ้นนั้น (พ.ศ.297-พ.ศ.336) อยู่หลังราชวงศ์เซียงประมาณ 900 ปี สมัยนั้นชาวอินเดียรู้จักและเลื่อมใสวัฒนธรรมของจีนมาก จึงขนานนามว่า "ชนชาติแห่งสติปัญญา"
กล่าวโดยสรุป คำว่า "จีน" เป็นภาษาสันสกฤตซึ่งชาวอินเดียใช้เรียกประเทศจีน หาใช่คำมาจากคำว่า "ฉิน" ซึ่งเป็นชื่อราชวงค์หนึ่งของจีนไม่ เพราะว่าคำว่า "จีน" นี้มีที่ใช้ในกาพย์มหาภารตะของอินเดียซึ่งอายุของมหากาพย์นี้เก่าแก่กว่าราชวงศ์ "จิ้น" อีกพันปี"

ความเป็นปราชญ์และความช่างค้นคว้าของพระยาอนุมานราชธนหรือเสถียรโกเศศนั้น เป็นที่ยกย่องและเชื่อถือในวงวิชาการไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ข้ออ้างอิงของท่านในกรณีคำว่า "จีน" นี้ทั้งน่าทึ่งและมีน้ำหนักน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง
จุดที่น่าเสียดายอย่างหนึ่งในบทความชุด "ไทย - จีน" ของท่านนั้นอยู่ที่การเทียบเสียงคำจีนซึ่งมีข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ปรากฏให้เห็น ทั้งนี้ก็ด้วยข้อจำกัดที่ท่านมิได้ลงมือศึกษาภาษาจีนจนเพียงพอต่อการใช้งานด้วยตนเอง อาจเป็นด้วยเหตุที่ท่านไม่มีเวลาว่างเพียงพอ ดังนั้นเสียงเทียบคำจีนในบทความชุดนี้ท่านจึงใช้วิธี "สืบค้น"ด้วยการถามไถ่จากผู้อื่น ซึ่งท่านก็ได้ให้รายละเอียดไว้แต่เนิ่นๆ แล้วว่ามีปัญหารายละเอียดบางประการในการจดเสียงอ่านคำเหล่านั้น

จากข้อความที่ข้าพเจ้ายกมาอ้างอิงต่อนี้ พบว่าท่านอ้างคำจีนโดยเทียบเสียงด้วยสำเนียงแต้จิ๋วในบางคำ และเทียบเสียงด้วยสำเนียงจีนกลางในบางคำ (ในส่วนที่ท่านสืบค้นคำ "ไทย - จีน" ที่อยู่ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ที่มิได้ยกมาอ้างถึง ณ ที่นี้ ยังมีที่ท่านเทียบเสียงด้วยสำเนียงกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน แคะ(ฮักกา) ซึ่งท่านได้พยายามบอกรายละเอียดกำกับไว้ด้วยเสมอ)
จะเห็นได้ว่าแม้จะสืบค้นคำจีน(ส่วนหนึ่ง)จากการถามแล้วจดเอาไว้ ท่านก็ได้กระทำด้วยความพิถีพิถัน ละเอียดถี่ถ้วน ข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ปรากฏนั้นมักเป็นส่วนที่ผู้ที่มิได้เรียนรู้ภาษาจีนจนถึงระดับสามารถใช้งานได้ด้วยตนเองคาดคิดไปไม่ถึง มิใช่เพราะว่าท่านเจตนาละเลยมิได้ให้ความสำคัญเลย อุปนิสัยอย่าง "ผู้คงแก่เรียน" อย่างท่านนี้มีลักษณะแตกต่างไปจาก "ปัญญาชน" ผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ หรือ นักวิชาการ นักเขียนดัง ท่านผู้รู้ ฯลฯ อันมีอยู่มากมายในยุคนี้อย่างน่าคิด
คำจีน 支那 肢那 ที่ท่านจดเสียงอ่านว่า "จีน่า" นั้น น่าจะออกเสียงว่า "จือน่า" ในสำเนียงจีนกลาง คำว่า 震旦 ท่านจดเสียงอ่านแต้จิ๋วว่า "จิงตั่ง" เสียงจีนกลางอ่าน "เจิ้นตาน" คำว่า ท่านจดเสียงอ่านแต้จิ๋วว่า "เซียง" เสียงจีนกลางอ่านว่า "ซาง"
ที่อาจมีปัญหาคือคำว่า ที่ท่านบันทึกไว้ว่า อ่านว่า ชิ้ง หรือ ฉิน ในภาษากลาง ในภาษาไทยแปลทับศัพท์ว่า จิ้น เช่น ฉินสื่อฮว๋างตี้ - จิ้นซีฮ่องเต้ ในที่นี้ขอตั้งข้อสังเกตว่าท่านอาจลืมนึกถึงคำว่า (จีนกลางอ่านว่า จิ้น) ซึ่งเป็นคนละราชวงศ์กับ (จีนกลางอ่านว่าฉิน)
มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ จีนเรียกประเทศตนเองว่า "จงกว๋อ" 中國 ด้วยความคิดว่าประเทศของตนคือศูนย์กลางของโลก และเรียกชนเผ่าของตนโดยรวมว่า ฮั่น จะเรียกชื่อประเทศว่า ฉินกว๋อ 秦國 ก็เฉพาะเมื่อพูดถึงแคว้นฉิน (ประเทศฉิน-ก๊กฉิน) และเมื่อพูดถึงชาวฉินก็ใช้คำว่า
秦人 ฉินเหริน หรือ 秦國人 ฉินกว๋อเหริน
คำว่า 中國 จงกว๋อ 中國人 จงกว๋อเหริน หรือคำว่า ฮั่น นั้นห่างไกลกับคำว่า "จีน" ในแง่ของถ้อยคำอยู่มาก อีกทั้งคำว่า ฮั่น นั้นก็ใช้เรียกชื่อชนเผ่า หรือเผ่าพันธุ์ แต่ฉิน   ใช้เรียกชื่อราชวงศ์หรือประเทศ นี่เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจเหมือนกัน


เรืองรอง  รุ่งรัศมี


ปรับปรุงแก้ไขใหม่จากข้อเขียนเก่าที่ตีพิมพ์ครั้งแรกใน "อาทิตย์รายสัปดาห์" ราวก่อนปี 1900

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น