ค้นหาบทความ

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กระดาษ 5 สี


ใครเป็นลูกหลานจีนที่ได้ไปไหว้สุสานบรรพบุรุษในช่วงเช็งเม้ง คงจะสังเกตเห็นกระดาษหลากสีริ้วยาวๆ คล้ายๆ กระดาษสายรุ้ง ประดับตามสุสาน เดี๋ยวนี้บางรายใช้กระดาษสายรุ้งไปประดับก็มี
เรื่องนี้มีที่มาที่ไป เป็นตำนานแต่ครั้งโบราณ รู้แล้วก็จะหายข้องใจว่า ทำไมเขาต้องเอากระดาษสีเป็นริ้วๆ มาประดับสุสานด้วย
กระดาษสีริ้วๆ นี้ แต้จิ๋วเรียกว่า “โหงวเซ็กจั้ว” จีนกลางเรียกว่า “อู่ สื้อ จื่อ” แปลว่า กระดาษ 5 สี ซึ่งความจริงแล้วอาจจะเกิน 5 สีก็ได้ 5 สีในที่นี้อยู่ในนัยยะ “หลายสี” หรือ “หลากสี” นั่นเอง

เรื่องเล่าว่า ครั้งที่แคว้นฉู่ และแคว้นฮั่น ต่อสู้ช่วงชิงความเป็นใหญ่กันนั้น หลิวปัง แห่งฮั่น ได้ครองชัยชนะในที่สุด แล้วสถาปนาตนขึ้นเป็นกษัตริย์นามว่า ฮั่นเกาจู่
เมื่อหลิวปัง รบชนะแล้ว ก็ยกทัพคืนสู่แผ่นดินจงหยวน ระหว่างเดินทางไปถึงบ้านเกิด หลิวปังต้องการที่จะไปไหว้สุสานบิดามารดาที่เสียชีวิตไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูตามคติความเชื่อของจีน แต่เมื่อไปถึงจริงๆ กลับพบว่า สงครามได้สร้างความเสียหายให้กับเมืองเกิดของตนเป็นอย่างยิ่ง กำแพงป้อมค่ายพังทลาย บ้านเมืองรกร้าง ที่สุสาน ป้ายศิลาหน้าหลุมศพล้วนแตกหักทรุดโทรม ตัวอักษรที่จารึกไว้ที่ป้ายศิลาแต่ละหลุมนั้นสึกกร่อนเลอะเลือน จนแยกแยะไม่ได้ว่าหลุมใดเป็นสุสานของใคร
เมื่อหลิวปังพบสภาพสุสานเป็นเช่นนี้ ก็โศกเศร้าเป็นอย่างมาก เฝ้าแต่คิดอยู่ในใจว่า ชัยชนะยิ่งใหญ่หรือก็พิชิตมาได้ แต่สุสานของบิดามารดานั้น ไยจึงไม่อาจหาได้พบ คร่ำครวญด้วยความเศร้าอยู่ในใจ แล้วหลิวปังก็ร่ำไห้ และเปล่งเสียงอธิษฐานต่อฟ้า ขอใช้วิธีโยนกระดาษสีเสี่ยงทาย หากว่าริ้วกระดาษหลากสีที่โยนขี้นสู่ฟ้านี้ร่วงลงมาสู่พื้น ใบใดที่ร่วงลงบนหลุมศพบิดามารดา ขอให้กระดาษสีใบนั้นไม่ปลิวลมไปเช่นใบอื่นๆ
อธิษฐานดังนั้นแล้ว หลิวปังก็โยนริ้วกระดาษสีเสี่ยงทายนั้นขึ้นสู่ฟ้า
ลมพัดหอบกระดาษสีปลิวไปทั้งฟ้า ใบที่ร่วงลงดิน เมื่อลมพัดมาก็ปลิวไปอีก มีริ้วกระดาษสีเพียงใบเดียวที่ร่วงลงมายังหลุมฝังศพหลุมหนึ่ง โดยไม่ถูกลมพัดปลิวต่อไปไหน กระดาษนั้นติดนิ่งกับดินบนสุสานเหมือนยึดติดไว้
หลิวปังรีบเข้าไปสำรวจหลุมศพที่กระดาษสีริ้วนั้นติดอยู่ ก็พบว่าเป็นหลุมฝังศพบิดามารดาของตนจริง จึงได้ทำความสะอาดสุสานนั้นโดยรอบ แล้วจัดการเซ่นไหว้คารวะแสดงความกตัญญู

ตั้งแต่นั้นมา ทุกปีในช่วงเช็งเม้ง ผู้คนก็จะไปไหว้คารวะสุสานบรรพบุรุษ และทำความสะอาดรอบๆ บริเวณสุสานด้วย นอกจากจะถอนหญ้าที่ขึ้นรกออกไป เขายังพากันนำริ้วกระดาษสีมาประดับสุสาน โดยใช้ก้อนหินเล็กๆ วางทับกระดาษสีริ้วๆ นั้น
ริ้วกระดาษสีนั้น นอกจากประดับสุสานให้ดูสดใสสวยงามแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์แสดงให้รู้ว่า สุสานนั้นมิได้เป็นหลุมศพของคนอนาถาไร้ญาติขาดมิตร หากแต่มีลูกหลานที่มาเซ่นไหว้คารวะ แสดงความกตัญญูรู้คุณ
ประเพณีการประดับริ้วกระดาษสี ที่เริ่มต้นจากตำนานการเสี่ยงทายของหลิวปัง ค่อยๆ แพร่ขยายออกไป กลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดต่อมาตราบปัจจุบัน
หากใครมีโอกาสไปไหว้สุสานของชาวจีนในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง ไม่ว่าในแผ่นดินไหนๆ ก็จะเห็นว่ามีปฏิบัติเหมือนๆ กัน
นอกจากจะประดับริ้วกระดาษสีและถอนหญ้าที่ขึ้นรกแล้ว ชาวจีนยังเตรียมสีไปเขียนป้ายหน้าหลุมศพให้สดใสชัดเจน เพื่อว่าปีต่อไปจะได้ค้นหาหลุมศพบรรพบุรุษได้ง่าย หากเป็นสุสานที่มีพื้นที่ว่างมากสักหน่อย เขามักปลูกไม้ดอกไม้ประดับหลุมศพจนดูงามตา

เช็งเม้งเป็นวันสำคัญมากวันหนึ่งของชาวจีน คติความเชื่อเรื่องกตัญญูรู้คุณนั้น มีส่วนสำคัญให้ผู้คนยึดถือปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณีของวันเช็งเม้งอย่างเคร่งครัด
ในเมืองจีนนั้น นอกจากจะไปเซ่นไหว้คารวะสุสานบรรพบุรุษแล้ว ชาวจีนบางคนยังไปทำความสะอาดและเซ่นไหว้สุสานของกษัตริย์ฮว๋างตี้ เพราะชาวจีนถือกันว่า พวกตนทุกคนต่างสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ฮว๋างตี้และเหยนตี้
คำพูดที่ว่า ชาวจีนนั้นคือลูกหลานแห่งจักรพรรดิเหลือง (อึ่ง ตี้ เกี๋ย ซุง แต้จิ๋ว หรือ เหยน ฮว๋าง จื่อ ซุน จีนกลาง) ฝรั่งแปลว่าคำนี้ว่า Son of the yellow Emperor ในที่นี่ Son หมายถึง ลูกหลานผู้สืบเชื้อสาย มิได้หมายเพียง “บุตร” ในความหมายแคบเท่านั้น มิได้เป็นแต่คำพูดลอยๆ
มีชาวจีนจำนวนหนึ่ง ยึดถือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยการไปเซ่นไหว้ยังสุสานฮว๋างตี้ ซึ่งพวกเขาถือเป็นต้นบรรพบุรุษของตนนั่นเอง

 เรืองรอง  รุ่งรัศมี
1999


พิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ กิ่งไผ่และดวงโคม สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับวันที่ 3-9 เมษายน พ.ศ.2542 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น