คนจีนไว้ผมเปียตั้งแต่เมื่อไร ?
พูดให้ชัดไปกว่านั้น คือ ผู้ชายจีนไว้ผมถักเปียตั้งแต่เมื่อไร ?
ค้นหาข้อมูลย้อนไปในประวัติศาสตร์จีน
พบว่าประวัติศาสตร์วัฒนธรรมการแต่งกายโบราณของจีนนั้นไล่ย้อนกลับไปได้ไกลมาก รูปปั้นในสุสานฉิน
และรูปวาดโบราณอื่นๆ อีกมากมาย เป็นหลักฐานยืนยันว่าเดิมนั้นคนจีนใส่เสื้อผ้าแบบหลวมๆ
ไม่รัดตัว แขนเสื้อกว้าง ทั้งหญิงและชายล้วนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ไม่รัดรูป ผมของคนทั้งสองเพศมีการเกล้าเป็นมุ่นมวย
แต่ไม่มีการถักเป็นเปีย แม้แต่เด็กก็ไม่ถักเปีย
มีเอกสารข้อมูลบันทึก
ภาพวาด รูปปั้น ยืนยันข้อมูลนี้ได้อย่างชัดเจน
การโกนผมครึ่งหัวและถักผมเปียเป็นวัฒนธรรมของแมนจู
วันที่ 22 เดือน 4 ปี 1644 กองทัพชิงรุกเข้ายึดเมือง วันที่ 15 เดือน 8 ปี 1644 มีคำสั่งอย่างเป็นทางการจากราชสำนักชิงให้ชายจีน
ไม่ว่าจะเป็น ขุนนาง, ทหาร, และประชาชนทั่วไป
โกนหัวครึ่งหัวและผูกผมเปียตามอย่างวัฒนธรรมแมนจู คำสั่งให้ปฏิบัติตามใน 10
วัน ผู้ใดขัดขืนคำสั่งนี้ถือเป็นขบถ
อันที่จริงแล้วการถักผมเปียและสวมใส่เสื้อผ้ารัดรูป
เป็นวัฒนธรรมร่วมของชนเผ่าร่อนเร่ ที่เลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์แบบร่อนเร่ในท้องทุ่งกว้าง ชนเผ่าที่ทำปศุสัตว์ทางเหนือของแผ่นดินชาวฮั่นแต่งตัวคล้ายกัน
การสวมใส่เสื้อผ้ารัดรูปสะดวกต่อการใช้ชีวิตบนหลังม้าในทุ่งกว้าง
นอกจากชาวปศุสัตว์ที่ใส่เสื้อผ้ารัดรูปแล้ว
พวกมีอาชีพหาปลาก็สวมใส่เสื้อผ้ารัดรูปด้วยเช่นกัน
คนแมนจูในยุคเจงกีสข่าน
(1162/1/7 - 1227/8/25) ก็โกนผมครึ่งหัวและถักผมเปีย
ญี่ปุ่นก่อนสมัยเมจิก็มีทรงผมคล้ายกัน ในเอเชียอาคเนย์ก็ไว้ทรงผมคล้ายคลึงแบบนี้
ทรงผมโกนครึ่งหัวของแมนจู กำหนดโดยใช้ด้ายพาดจากมุมหน้าผากหนึ่งพาดไปยังอีกด้าน
โกนหัวส่วนนั้นไปตามรอยด้ายที่พาด ด้านหลังไว้ผมยาวถักเป็นเปีย
ทรงผมนี้เป็นลักษณะเฉพาะในยุคที่แมนจูครองจีน กินเวลาจากปี 1644 - 10 / 10 /1911 ที่คณะก่อการปฏิวัติของหมอซุนยัตเซน
ทำการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลชิงสำเร็จ และสถาปนาสาธารรัฐจีนขึ้นได้
น่าสนใจว่าในช่วงปี
1644 นั้น ชาวจีน(ชาวฮั่น) มีประชาการราว 3 ร้อย - 4 ร้อยล้านคน แต่คนแมนจูมีประชากรเพียงราว 1
ล้านคน ทว่า แมนจูเป็นชนเผ่าที่รบเก่ง
ผู้นำของแมนจูในเวลานั้นคือ อ้าย ซิน เจวี๋ย ลว๋อ (AISIN GIORO ) นำทัพบุกยึดเมืองหลวงได้
คำว่า อ้ายซินเจวี๋ยลว๋อ
(AISIN GIORO) เป็นภาษาหนวี่เจิน (女贞)
AISIN แปลว่า ทอง GIORO แปลว่า แดนไกล
ทายาทของอ้ายซินเจวี๋ยลว๋อสืบทอดอำนาจราชชิงต่อเนื่องมา
267 ปี จนถึงสมัยของปูยี ( 溥仪) เป็นกษัตริย์คนสุดท้ายของราชวงค์ชิง.
ทว่าว่ากันตามข้อมูลแล้ว ปูยียังไม่ใช่กษัตริย์คนสุดท้ายของจีน เพราะยังมี หยวนซื่อไข่
(袁世凯) สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์อีกคนเป็นเวลาสั้นๆ
ยุคสมัยของปูยี เป็นวันเวลาช่วงเดียวกับซูสีไทเฮา
และเป็นช่วงเวลาเดียวกับการเคลื่อนไหวความคิดปฏิวัติของหมอซุนยัตเซน
ช่วงคาบเกี่ยวจากปลาย
1800 - ต้น 1900 โลกกำลังเคลื่อนไปสู่ความเป็นสมัยใหม่
วิทยาการด้านต่างๆ กำลังเคลื่อนไปข้างหน้า มีเครื่องจักรใหม่ๆถูกผลิตขึ้นมา
มีกล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายหนัง ระบบการผลิตแบบสายพาน ความคิดเรื่องเสมอภาค
ภราดรภาพ โลกไม่อาจปฏิเสธพัฒนาการแห่งความก้าวหน้าได้อีกต่อไป ความเชื่อที่ว่าคนเราล้วนเท่ากันนั้นได้สถาปนาแน่นหนาถาวรในใจของมนุษย์ทั่วโลกแล้ว
วันที่ 10 ตุลาคม 1911 การเคลื่อนไหวปฏิวัติของหมอซุนยัตเซนก็ประสบผลสำเร็จจนสามารถสถาปนาประเทศสาธารณรัฐขึ้นได้
ระบบกษัตริย์ถูกยกเลิก
มีการประกาศให้ใช้ปีคริสตศักราชในการระบุวันเวลาอย่างเป็นทางการ
รัฐบาลประชาธิปไตยมีคำสั่งให้ตัดผมเปีย พลพรรคนักปฏิวัติที่มีความคิดก้าวหน้าส่วนหนึ่งได้ตัดผมเปียของตนออกไปตั้งแต่ในยุคกษัตริย์แล้ว
เป็นการแสดงออกถึงการต่อต้านอำนาจกษัตริย์ที่เปิดเผย ชัดเจน
แม้ว่าการตัดผมเปียจะมีโทษถึงตัดหัวก็ตาม
วันที่ 2 พฤษภาคม 1922 หนังสือพิมพ์ "เซินเป้า" (申报) ลงข่าวว่า "ปูยีได้ตัดผมเปียแล้วเมื่อวานนี้"
ในที่สุดกษัตริย์จากสกุลที่สั่งให้ชายจีนโกนผมครึ่งหัวและถักเปีย
ก็ต้องทำตนเยี่ยงเดียวกับชายจีนทั่วไป
เปียนามธรรมของความเป็นทาสยังติดอยู่บนหัวของใคร ?
เรืองรอง
รุ่งรัศมี
5/10/2012
5/10/2012
พิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “Dragon Square” นิตยสาร Mix เดือนพฤศจิกายน 2012
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น