ลักษณะอย่างหนึ่งในวัฒนธรรมจีนที่น่ารัก
คือ การทำให้ตำนานที่ขรึมขลังต่างๆ ลงมาชิดใกล้กับผู้คนธรรมดาสามัญทั่วไป พระ
และเทพต่างๆ ที่ชาวจีนนับถือ จึงมีภาพลักษณ์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียว
และดูกลมกลืนกับความเป็นมนุษย์เป็นอย่างมาก
เจ้าแม่กวนอิม, จี้กง, โป๊ยเซียน, พระสังกัจจาย (พระศรีอารยเมตไตรย) ฯลฯ
ล้วนแต่มีความเป็นมนุษย์สูง ยิ่งความเชื่อที่ว่า
สิ่งมีชีวิตทั้งหลายล้วนมีจิตแห่งพุทธะอยู่ในตัว ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า
เราท่านต่างสามารถบรรลุสู่ความเป็นพุทธะด้วยกันทุกคน
จีนเชื่อพุทธศาสนาสายปฏิบัติ
ทั้งนี้ อาจเป็นผลเนื่องมาจากความเชื่อเดิมในสายเต๋าที่มุ่งเน้นการปฏิบัติเช่นกัน
เมื่อความคิดแบบพุทธเข้าไปทำปฏิสัมพันธ์กับความคิดเต๋า ซึ่งมีอยู่เดิมในแผ่นดินจีน
จึงเกิดลักษณะผสมผสานกัน ตำนานความเชื่อของฝ่ายหนึ่ง
จึงเข้าไปผสมปนเปอยู่ในความเชื่ออีกฝ่ายหนึ่งอย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้
โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องโพธิสัตว์
โพธิสัตว์
คือผู้ที่ยินดีช่วยให้สัตว์โลกพ้นทุกข์จนสิ้น
แล้วตนจึงเข้าสู่ภาวะบรรลุอรหันตผลเป็นคนสุดท้าย ด้วยความเชื่อเช่นนี้เอง เทพ
หรือเซียนของจีนจึงมักแปลงกายลงมาช่วยมนุษย์โลกในร่างต่างๆ เสมอๆ
เทพ
และเซียนทั้งฝ่ายพุทธ และฝ่ายเต๋า
จึงอยู่ในตำนานอันผสมปนเปกันในการช่วยเหลือมนุษย์
พระสังกัจจาย
หรือพระศรีอารยเมตไตรย ตามคติพุทธเชื่อว่า จะเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปที่จะมาตรัสรู้
เมื่อสิ้นสุดศาสนาของพระสมณะโคดมแล้ว คติมหายานถือว่าพระเมตไตรยโพธิสัตว์
ดำรงฐานะอยู่ในตำแหน่งสูงสุดองค์หนึ่ง จีนนิยมสร้างพุทธศิลป์เกี่ยวกับท่านมาก
รูปพระโพธิสัตว์เมตไตรย
หรือพระสังกัจจาย มักสร้างเป็นพระพุงพลุ้ย หน้าตายิ้มแย้มเบิกบาน
เนื่องจากรูปพระเมตไตรยพุงพลุ้ยหน้าตายิ้มแย้มอารมณ์ดี
จึงมีบทกลอนอันเป็นเสมือนโศลกธรรมบรรยายถึงตัวท่านว่า
"พุงพลุ้ยสามารถบรรจุเก็บรับไว้ได้
บรรจุเก็บรับเรื่องอันยากจะรับได้ในโลก
เมตตาหัวร่อเบิกบาน
หัวร่อผู้คนอันน่าหัวร่อในโลก"
นี่คือจิตใจอันเมตตาและปล่อยวาง
เป็นหลักธรรมอันใกล้ชิดกับชีวิตของผู้คนเป็นอย่างยิ่ง
พระเมตไตรยพุงพลุ้ยหน้าตายิ้มแย้มของจีน
มีอิริยาบถต่างๆ กัน มีทั้งที่นอนหนุนถุงผ้าหัวเราะอารมณ์ดี
และมีที่เดินแบกถุงผ้าท่องไปอย่างสบายอารมณ์ จุดร่วมคือใบหน้ายิ้มแย้ม ท่าทางผ่อนคลาย
เป็นสัญลักษณ์ของการไม่ถูกรัดรึงด้วยพันธนาการต่างๆ นานา
รูปปั้นจีนที่อยู่ในอิริยาบถผ่อนคลาย
ไม่ถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ ไม่ได้มีเฉพาะพระเมตไตรย รูปปั้นจี้กง และรูปปั้นหานซาน, เส่อเต๋อ, ก็มีลักษณะนุ่งเสื้อผ้ารุ่ยร่าย กิริยาอาการไม่สำรวมเคร่งครึม นั่นคือสัญลักษณ์ของปรัชญาแห่งการปล่อยวาง
การปล่อยวางคือการไปพ้นแบบแผนเคร่งครัดตายตัว
เป็นการอยู่เหนือพ้นลัทธิคัมภีร์ เป็นการปฏิบัติแบบ 'ถือแก่นทิ้งกาก' ซึ่งท้าทายความคิดแบบตื้นเขินเคร่งแต่รูปแบบ
รูปปั้นพระเมตไตรย
หรือพระสังกัจจายแบบจีน มีลักษณะเฉพาะ ถือเป็นเทพแห่งความเมตตา
รูปปั้นพระเมตไตรยแบกถุงผ้าหรือนอนหนุนถุงผ้า ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า 'บรรพชิตถุงผ้า'
(bu dai he Shang : ปู้ ไต้ เหอ ซ่าง)
เกี่ยวกับบรรพชิตถุงผ้า
หรือพระสงฆ์ถุงผ้านี้ มีตำนานบอกเล่าที่ไม่เหมือนกัน
ตำนานหนึ่ง
เล่าว่า สมัยเหลียงหลังสมัย 5 ราชวงศ์ (ค.ศ.907-960) ที่เมืองเพิ่งฮว่า
มณฑลเจ้อเจียง มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ ชี่ฉื่อ ชี่ฉื่อเป็นคนอ้วนเตี้ยพุงพลุ้ย
เขามักจะแบกถุงผ้าเดินบิณฑบาตไปทั่วเมือง ลักษณะการพูดจาของเขาแปลกประหลาด
สามารถพยากรณ์ดินฟ้าอากาศแม่นยำ และมักมีคำสอนให้คนพ้นจากเรื่องร้ายได้ พระภิกษุชี่จื่อมีนิสัยแปลก
คือ ชอบนอนไปตามที่ต่างๆ ทั่วเมือง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่ว
ชี่ฉื่อเป็นพระแปลก
แม้ยามมรณภาพก็ยังพิเศษกว่าผู้อื่น ท่านมรณภาพในขณะท่องโศลกอยู่บนแผ่นหินว่า
เมตไตรยเมตไตรยแท้
เปลี่ยนรูปกายหลากหลายนัก
ปรากฏกายต่อผู้คนอยู่เสมอ
หากแต่คนไม่รู้จัก
ท่องโศลกนี้จบแล้วท่านก็มรณภาพ
ผู้คนจึงได้รู้ว่าท่านคือพระเมตไตรยที่แปลงร่างมา
อีกตำนานหนึ่ง
เป็นข้ออ้างของพวกลัทธิบัวขาว (bai lian jiao) ในสมัยซูสีไทเฮา (ci
xi tai hou) อ้างพระเมตไตรยเพื่อก่อการปฏิวัติ โดยอ้างว่าชี่ฉื่อ
เป็นตัวแทนของพระเมตไตรยที่ลุกขึ้นนำการก่อการพื้นที่บริเวณเจียงหนาน
บางครั้งก็เรียกพระเมตไตรยว่า พระโพธิสัตว์ฮาลา (ha la pu sa)
เรืองรอง รุ่งรัศมี
ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ "สายลมในกิ่งหลิว"
เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 637
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น