ค้นหาบทความ

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ตื่นอยู่และมีอยู่

ตื่นอยู่และมีอยู่
กลับไปอ่านวรรณกรรมเรื่อง  “ผู้บริสุทธิ์” ของ  อัลแบร์  กามูส์

พอเส้นผมหงอกเริ่มแซมบนหัว คนเราก็มักจะกำชับกำชาและเตือนตัวเองให้มีชีวิตอยู่กับความจริง  เหมือนกับว่าความใฝ่ฝันและความมุ่งมั่นต่อสู้เพื่อส่วนรวมนั้น เป็นสมบัติเฉพาะที่ครอบครองได้เพียงในวัยเยาว์ และความเป็นจริงของคนวัยกลางคนคือการเอาชีวิตเฉพาะส่วนตัวให้รอด ซึ่งเพียงเท่านี้ก็นับว่าหนักหนาสาหัสพอแล้วสำหรับคนมือเปล่าตีนเปล่า ที่มีความสามารถระดับธรรมดาๆ
การวิพากษ์วิจารณ์สำรวจความคิดและสำนึกของตัวเองดูเผินๆ ก็เป็นสิ่งที่ดี ถ้าผู้วิจารณ์จะรู้จักจริงใจกับตัวเองจริงๆ ไม่ใช่พูดถึงความผิดของตัวเองแล้วเป็นเสร็จธุระ ดังกลาม็องซ์ตัวละครในเรื่อง  “มนุษย์สองหน้า” พูดไว้ว่า “เอาละ  เมื่อเราทุกคนต่างมีความผิดด้วยกันทั้งนั้นแล้ว  นั่นแหละคือประชาธิปไตย
วรรณกรรมที่ดีมักนำพาเราสู่ภาวะของการตื่นขึ้นมา  บางครั้งแถมอาการข้างเคียงเป็นความเจ็บปวด และนี่เองที่อาจเป็นเหตุผลที่ผู้คนจำนวนหนึ่งไม่ชอบวรรณกรรมที่ดี เพราะว่ามันนำพาความเจ็บปวดมาให้ ทำให้มองเห็นด้านอัปลักษณ์ของตนเองชัดเสียจนตามหลอกหลอนในบ่อยครั้ง และสำหรับโลกอันรีบเร่งและเหน็ดเหนื่อยเช่นปัจจุบัน บางเรื่องของวรรณกรรมที่ดีนั้นอ่านแล้วเหนื่อยและมึนหัว มันเป็นดอกไม้ที่มีหนามแหลม และหนามคมนั้นสามารถเกี่ยวหัวใจและจิตสำนึกให้เลือดไหลซิบ
แต่หากมนุษย์สูญเสียความรู้สึกเจ็บปวดไปโดยสิ้นเชิง มนุษย์จะแตกต่างอันใดกันกับหุ่นยนต์หรือท่อนไม้ หุ่นยนต์นั้นแม้จะเคลื่อนไหวได้แต่ว่าไร้ซึ่งชีวิต ท่อนไม้มีแต่รอวันผุพังเน่าเปื่อย ไม่สามารถแตกใบให้ดอกได้อีก ชีวิตที่เหมือนไม่ใช่ชีวิตเช่นนี้มีอยู่มากมาย ใกล้ตัวใกล้ตาจนเราเลอะเลือน
เช่นนี้แล้วมนุษย์ที่มีเป้าหมายแจ่มชัด มิได้เป็นเพียงเศษสวะที่ลอยเปะปะไปตามลำคลองชีวิต จะเป็นผู้สูงค่าเลิศล้ำใช่ไหม ยังคงต้องกลับมามองสัมพันธ์ที่คำว่า การตื่นขึ้นมาและความรู้สึกเจ็บปวด

การตื่นขึ้นมาทำให้ต้องแยกแยะพิจารณาสิ่งทั้งหลายด้วยความมีอยู่ของตน เมื่อตระหนักในการมีในการมีอยู่ของตน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้วิธีการอะไรก็ได้ทำในสิ่งใดก็ได้ต่อชีวิต เมื่อตระหนักในการมีอยู่ของตน จึงทำให้เป็นผู้ที่เรียกร้องในรายละเอียด จึงไม่สามารถทำอย่างที่เคยทำตามแบบอย่างที่เคยมีมาโดยไม่ไตร่ตรอง ผู้มีอยู่จึงไม่ยินยอมทำสิ่งใดแบบตามๆ กันไป เขาทำในฐานะผู้ตื่นอยู่ ผู้มีอยู่ ผ่านการไตร่ตรอง ผ่านการตัดสินใจ
            การมีอยู่ การเป็นผู้ตื่นอยู่ การเป็นผู้กระทำโดยผ่านการไตร่ตรอง ผ่านการตัดสินใจนี้เป็นคนละกรณีกับการเป็นคนเจ้าเล่ห์แสนกลมากเพทุบาย การรู้ในความมีอยู่ของตนไม่ใช่การวางหมากกลและขาดความจริงใจต่อโลกต่อชีวิต หากแต่คือการรู้จักอ่อนน้อมค้อมหัวยอมรับดอกผลที่เกิดจากการกระทำด้วยการมีอยู่ของตน
            ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้แสนงาม หรือบาดแผลปวดร้าว ผู้มีอยู่ควรพร้อมรู้จักค้อมหัวน้อมรับ
การมีอยู่ การมีสำนึกโดยตัวตนตื่นขึ้นมานั้น ทำให้ชีวิตมิใช่ความว่างเปล่า เมื่อเกิดบาดแผล แผลนั้นย่อมมิได้ประทับในความว่างแปล่าแล้ก็เลือนหายไร้ซึ่งร่องรอยเสมือนหนึ่งไม่เคยมี ไม่เคยเกิดไปอย่างรวดเร็ว      
            แผลของผู้มีอยู่ย่อมเกิดขึ้นที่ตัวตนของตน ไม่ว่าจะเริ่มขึ้นโดยการตื่นรู้หรือว่าเริ่มโดยมิได้ตระหนักรู้ ถึงที่สุดแล้วเมื่อตัวตนตื่นขึ้นมาในตอนท้าย บาดแผลความเจ็บปวดย่อมเป็นของตัวตนผู้ที่ตื่นนั้น และความเจ็บปวดของมนุษย์ที่มิได้อยู่ในภาวะสะลึมสะลือนั้นย่อมจะเจ็บปวดลึกซึ้ง
และนั่นก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะความเจ็บปวดจะคอยเตือนมิให้สติเลอะเลือน ความเจ็บปวดจะเตือนถึงความรับผิดชอบของตน เตือนให้ไม่ตีโพยตีพาย ให้รู้จักระมัดระวังยั้งคิดในการย่างเท้าก้าวเดินไปในหนทางชีวิต
เช่นนี้แล้ว ชีวิตจะมิเป็นการดื่มด่ำประทับความทุกข์แต่เพียงด้านเดียวล่ะหรือ ชีวิตที่รู้ถึงการมีอยู่จะต้องเต็มไปด้วยริ้วรอยบาดแผลใช่ไหม
           
ต้นไม้ชีวิตก็เป็นเช่นเดียวกับพืชพันธุ์มากมายในโลก ริ้วรอยบาดแผลหลายครั้งช่วยให้เกิดมีดอกผล  การทำอะไรโดยไม่คิด ไม่รู้ มักสร้างบาดแผลซ้ำซากให้กับโลกและผู้คนรอบข้าง จนพืชพันธุ์ชอกช้ำเกินให้ดอกผลใดได้ แต่การรู้ในการมีอยู่ การอยู่ในภาวะที่ตื่นขึ้นมาช่วยให้ชีวิตในความเป็นปัจเจกบุคคลนั้น ตั้งมั่น เติบโต และช่วยให้โลกเกิดบาดแผลน้อยลงจากการกระทำที่ไม่รู้ตัวของคนทั้งหลาย
            ระหว่างหนทางชีวิตย่อมมีดอกไม้งดงาม ย่อมมีอากาศสดชื่น ย่อมมีสิ่งดีๆ หล่อเลี้ยงชีวิตไม่ให้สิ้นไร้เรี่ยวแรงเร็วเกินไปนัก โลกที่ไม่มีบาดแผลซ้ำซากเหลือดินอุดมให้พันธุ์ไม้ดอกไม้ผลเติบโตได้มากกว่าโลกใบที่พรุนด้วยรอยแผล ผู้คนที่ไม่บาดเจ็บปวดร้าวเกินไปร้อยยิ้มของเขาคงจะเบิกบานแจ่มใสมากกว่าความหมองรันทด
            เรายังเหลือพื้นที่ว่างให้กับความบริสุทธิ์ถูกต้อง และการเจริญเติบโตงอกงาม ทั้งที่หัวใจและที่พื้นโลกของเราหรือไม่เพียงไร
ผู้มีอยู่  ผู้ตื่นรู้ทั้งหลายควรหาคำตอบให้กับตนเอง  เพื่อโลกและชีวิตที่เขามีอยู่


เรืองรอง  รุ่งรัศมี


พิมพ์ครั้งแรก : นสพ.ผู้จัดการรายวัน 28-29 ตุลาคม 2538

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น