ระบำกระบี่
เฉิน อวี้
นางแซ่กงซุน ไม่มีคนรู้ชื่อแซ่ที่แท้จริงของนาง ดังนั้น
กวีจึงเรียกขานนางว่า แม่นางคนดีกงซุน ทว่า
ในหมู่ชาวบ้านเรียกขานนางว่ากงซุนต้าเหนียงเสียมากกว่า คำว่า ต้า ในที่นี้
มีความหมายว่ายอดเยี่ยม
นางเป็นคนแตกต่างไปจากสตรีทั่วไป
แม้ว่านางติดกลีบดอกไม้เหลืองประดับหน้าผาก เกล้ามวยอย่างที่นิยมกันในยุคนั้น
อาชีพของนางคือนางรำ
สอนเหล่าสตรีที่หาเลี้ยงชีพด้วยการเต้นรำ ระบำของนางก็พิเศษอย่างยิ่ง
ไม่ใช่ระบำแขนเสื้อแพรพลิ้วไสว และก็ไม่ใช่เต้นระบำบนฝ่ามือผู้ใด นางเต้น ‘ระบำกระบี่’ มือกุมกระบี่สั้นสองเล่มร่ายรำ
เวลาบ่ายสองของทุกวัน
ยามที่ตะวันคล้อยเคลื่อนไปทางตะวันตกส่องจ้องเสาต้นแรกริมระเบียงทางเดิน
นางจะปรากฏกายตรงเวลา ที่พลับพลาสูงนอกหงเจี้ยวฟาง ริมฝีปากแดง ชายแขนเสื้อแดง
คล่องแคล่วปราดเปรียว สวยงามราวปีศาจจิ้งจอกในตำนานเรื่องเล่า ยามนั้น
เบื้องล่างพลับพลาสูงนอกหงเจี้ยวฟาง ผู้คนที่มารอชมนางเริงระบำ
ได้ล้อมวงกันจนแน่นขนัดแล้ว
คนช่างมากมายเสียจริง! เป็นทะเลคนภูเขาผู้คนจริงๆ ดำมืดดั่งนกกา พวกเขาเบียดเสียดเยียดยัด
เสียงเอะอะอึกทึก เป็นเสมือนคลื่นที่ซัดสาดกระทบยังเสาเวที รอคอยการมาถึงของนาง
เสียงนั้นพลันเงียบลงในทันที ราวกับคลื่นไหลลงสู่ทะเลกระนั้น
เหลือไว้เพียงความสงบเงียบของหาดทรายราวกับกลั้นใจระวังสุ้มเสียง
เงียบเสียจนกระทั่งได้ยินเสียงเข็มหล่นกระทบพื้น
นางกวาดตาไปยังที่ใดที่หนึ่งด้านล่างเวที
จากความเงียบสงบนั้น กวาดตาไปมา ยังคงยิ้มพราย มือทั้งสองถือกระบี่ร่ายรำอ่อนช้อย
ตอนเริ่มแรก ผู้คนด้านล่างเวทียังสามารถมองเห็นประกายกระบี่เย็นเยือกของนางวาววับ
ยังแยกแยะดอกเหมยที่ปักอยู่บนเสื้อของนางได้ อย่างช้าๆ ค่อยๆ แยกแยะคนกับกระบี่
กระบี่กับคนจากกันไม่ได้แล้ว รู้สึกเพียงว่ามีประกายเส้นความสว่างอันนับไม่ถ้วน
หมุนวนปกคลุมไปบนเงาร่างเลือนๆ ฟ้อนบินขึ้นลงไปกับวงเงาสีขาวนั้น
ประเดี๋ยวไปทางซ้าย ประเดี๋ยวไปทางขวา บัดเดี๋ยวขึ้นบน บัดเดี๋ยวลงล่าง
ทะยานขึ้นทะยานลงสลับซับซ้อน มีเสียงกระแสลมชัดเจนบ้าง แผ่วเบาบ้าง ไกลบ้างใกล้บ้าง
ตลบม้วนมาจากทั่วทุกทิศ ราวกับกองทัพม้าศึกนับพันนับหมื่นโอบล้อมมาจากที่ไกล
พริบตานั้นรู้สึกถึงกระแสเย็นเยือกคุกคามรุนแรง
ในชั่วขณะที่ผู้ชมกำลังรู้สึกหนาวะเยือกไปถึงสันหลังหายใจติดขัดนั้นเอง
บนเวทีพลันกลับคืนสู่ความเงียบสงบเมื่อตอนเริ่มแรก ยังคงเป็นสตรีริมฝีปากแดง
ชายแขนเสื้อแดง กระโปรงสีขาวแต้มประดับด้วยดอกเหมยกระจัดกระจาย
มองลงไปทางเบื้องล่างเวทีรอบหนึ่ง ยิ้มอย่างหยาดเยิ้ม แล้วหมุนตัวจากไป
บนเวที : “พลันดั่งโฮวอวี้ยิงดวงตะวันเก้าดวงร่วงหล่น ปราดเปรียวดั่งปวงราชาควบขี่มังกร
เหาะเหินมาดั่งฟ้าคำรามข่มกราดเกรี้ยว หยุดดั่งสายธารและทะเลเรียบสะท้อนประกายแสง”
ด้านล่างของเวที
: “ผู้ชมดูดั่งภูเขาซึม ก้มเงยดูฟ้าแลมองพื้น”
ผู้ชมดูมืดฟ้ามัวดินดั่งนกกาเบื้องล่างเวทีสูงหงเจี้ยวฟาง
เพียงแต่วันนี้ ในหมู่ผู้ชมพลุกพล่านดั่งนกกานั้น มีหนุ่มชุดขาวเพิ่มขึ้นมาคนหนึ่ง
เด็กหนุ่มประดับกระบี่ยาวไว้ข้างกาย แต่งตัวอย่างจอมยุทธ์
ที่แตกต่างจากผู้ชมนั้นคือ เด็กหนุ่มมาและจากไปด้วยความสงบกระไรปานนั้น ดังนั้น
ในหมู่คนอันอลหม่าน เขาจึงแลดูโดดเด่น และได้กลายเป็นจุดเร้าสายตาผู้คนก็ด้วยเหตุนี้
ทว่า ก็ไม่มีผู้ใดใส่ใจตัวเขา เพราะว่าพวกเขาล้วนต่างมาจากที่ใกล้และไกล
เพียงมีจุดประสงค์หนึ่งเดียว คือสตรีที่ร่ายรำกระบี่บนเวที
แต่หากท่านหันกลับไปมองดูสักแวบ ท่านก็จะพบว่าแววตาอันชื่นชมสรรเสริญเหลือคณา, เสียดายเหลือคณาของเด็กหนุ่ม เหมือนดั่งสายน้ำเย็นใสกับสายน้ำขุ่นข้น
เหมือนดั่งน้ำแข็งและไฟ
ยามบ่ายต่อเนื่องกันหลายวัน เบื้องล่างเวทีสูงนอกหงเจี้ยวฟาง ในหมู่คนอันคลาคล่ำดั่งฝูงนกกา
จะปรากฏกาย เด็กหนุ่มชุดขาวที่ประดับกระบี่ข้างกาย เขามาเพราะนงคราญโฉมงาม
จากไปตามเงาของโฉมสะคราญ ทุกๆ เวลาบ่ายสอง เบื้องล่างเวทีสูงนอกหงเจี้ยวฟางจะเต็มไปด้วยฝูงชน
คลาคล่ำเหมือนดั่งนกกา เพียงแต่วันนี้ พวกเขาชะเง้อมองจนคอเมื่อยแล้ว
ยังคงมิได้พบสตรีที่ฟ้อนระบำกระบี่นางนั้น เหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้
ทำให้พวกเขาครุ่นคิดอย่างไรก็ไม่อาจเข้าใจ นี่คือยามบ่ายธรรมดาๆ
วันหนึ่งของปีไคหยวนสมัยราชวงค์ถาง
เสียงอึกทึกวุ่นวายด้านล่างเวทียาวนานกว่าครั้งใดๆ
ไม่มีผู้ใดทำให้มันสงบลงได้ กระทั่งพวกเขาไม่รู้ว่าจะกระทำการใดได้อีก
จึงต่างค่อยแยกย้ายกันไป
ครั้นศตวรรษหลังจากบ่ายวันนั้น เด็กชายวัยหกขวบคนหนึ่งที่เคยชมนางกงซุนร่ายรำกระบี่
ได้ย้อนเวลายามนึกถึงภาพยามชมระบำกระบี่ เขามองย้อนกลับไปช้าๆ ในบทกวีของเขา
ก่อนนั้นมีนงคราญแสนงามนามกงซุน
เพียงร่ายรำกระบี่สะท้านเลื่องลือไปทั่วทิศ...
กาลเวลาย้อนคืนช้าๆ
ราวว่าทุกสิ่งทุกอย่างย้อนคืนสู่อดีต
เด็กน้อยอายุหกขวบผู้นั้น
คือกวีนามตู้ฝู่นั่นเอง
เรืองรอง รุ่งรัศมี แปล
บันทึกผู้แปล : ตู้ฝู่ เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในสมัยราชวงศ์ถาง ถูกยกย่องให้เป็นกวียิ่งใหญ่ที่มีจิตสำนึกต่อสังคม เมื่อศึกษาบทกวีจีนโบราณ จะพบว่า ชื่อของตู้ฝู่จะถูกให้ความสำคัญเคียงคู่กับ “หลี่ไป๋” เสมอ
บทกวีที่เขียนถึงกงซุนต้าเหนียงของตู้ฝู่ ก็มีอยู่จริง บทกวีเขียนบรรยายถึง กงซุนต้าเหนียง นางระบำกระบี่ และการร่ายรำกระบี่อันอ่อนช้อยพิสดารของนาง เป็นผลงานบทกวีสูงค่าชิ้นหนึ่งที่แพร่หลายในวงกว้างมาก
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในหนังสือ มือสังหาร สำนักพิมพ์ openbooks ตุลาคม 2551
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น