ค้นหาบทความ

วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ความสุข



            ขงจื่อเดินทางไปยังไท่ซาน ขณะนั้น ที่หมู่บ้าน “เฉิง” สุดปลายเขตแดนของแคว้นหลู่กว๋อ ขงจื่อได้พบ ยร๋ง ฉี่ ฉี ซึ่งแต่งกายโดยนุ่งห่มด้วยอาภรณ์อันตัดเย็บมาจากหนังกวางอย่างหยาบๆ เข็มขัดของชายชรา ยร๋ง ฉี่ ฉี นั้นเล่าก็ใช้เส้นเชือกผูกเอาไว้แทน ขงจื่อพบว่าชายชราอายุ 90 ปีผู้นี้แต่งกายด้วยอาภรณ์หยาบๆ และเรียบง่าย อีกทั้งยังดีดพิณบรรเลงดนตรีขับขานบทเพลงอยู่ด้วยความสำราญ ด้วยความใคร่รู้ ขงจื่อจึงถาม ยร๋ง ฉี่ ฉี ขึ้นว่า
ท่านผู้เฒ่า ไยท่านจึงทำตัวเสมือนช่างมีความสุขเหลือล้ำอย่างนี้ ?

ยร๋ง ฉี่ ฉี เมื่อฟังดั้งนั้น จึงได้ตอบว่า
“สำหรับข้าแล้ว เรื่องราวอันจะทำให้เป็นสุขช่างมีมากมาย ท่านลองคิดดูสิว่า ในสรรพสิ่งอันพระเจ้าได้สร้างมานั้น สิ่งที่สูงล้ำค่านั้นคือมนุษย์ใช่ไหม และข้าก็ช่างโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ นี่คือความสุขประการที่ 1 ของข้า
และยิ่งกว่านั้น ในมนุษย์ชายหญิงด้วยกันนั้นเล่า เพศชายมักถูกให้ความสำคัญและถูกยกย่องเสียยิ่งกว่าหญิง และข้าก็ช่างโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์เพศชาย นี่คือความสุขในประการที่ 2 ของข้า
และยิ่งกว่านั้น แม้จะโชคดีที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว แต่ก็มีมนุษย์อยู่จำนวนหนึ่ง ที่ได้ตายไปโดยยังมิได้พบเห็นตะวันและเดือน กระทั่งบางคนยังมิได้ผ่านพ้นช่วงวัยอันได้ละแล้วซึ่งผ้าอ้อม ก็ต้องตายไป ส่วนข้านั้นเล่า กระทั่งบัดนี้ มีชีวิตยืนยาวมาถึง 90 ปีแล้ว และนี่คือความสุขในประการที่ 3 ของข้า
ความยากจนนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคน อีกทั้งความตายก็เป็นจุดสุดท้ายแห่งชีวิตมนุษย์ การสามารถมีชีวิตอันปกติอยู่ในเรื่องปกติเช่นนี้ตราบกระทั่งถึงจุดสุดท้ายของชีวิต จะมีเรื่องอันใดให้ต้องกลัดกลุ้มกังวลด้วยเล่า

เมื่อขงจื่อได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวด้วยความนับถือว่า
ช่างไม่ใช่เรื่องอันง่ายดายเสียเลย ที่สามารถพิจารณาชีวิตได้อย่างแจ่มแจ้ง กระทั่งสามารถใช้เป็นเครื่องประโลมชีวิตตนเอง กระทั่งเรื่องกลัดกลุ้มกังวลใดๆ ในโลก ก็อาจละไว้เสียได้ด้วยความเบิกบาน

          เลี่ยจื่อ

เรืองรอง  รุ่งรัศมี แปล
1987


พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในหนังสือ มณีปัญญา ปรัชญานิพนธ์จีนโบราณ กรกฎาคม พ.ศ.2530

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น