ค้นหาบทความ

วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ธุลีดาวของยุคสมัย



เราคือธุลีดาว
เราคือละอองทองของยุคสมัย

กลางคืนทำให้สมองตื่น และวันคืนเก่าๆ หวนกลับคืน ไม่ได้ตั้งใจจะจมติดอยู่ในอดีต แต่บ่อยครั้งที่อดีตเป็นสิ่งที่เราไม่อยากละทิ้งหรือลืมเลือน
อาจเป็นเพราะความทรงจำ เพลงบทเก่าจึงให้ความหมายล้ำลึก ด้วยความผูกพัน ถ้อยคำ ประโยค วลี จึงมีพลังมากมายส่งผลต่อชีวิต แม้ผ่านเวลาเนิ่นนาน
กี่ปีผ่านไป “เสียงแห่งความเงียบ” ก็ยังทักทายเราอย่างคุ้นเคย “สวัสดีความมืดเพื่อนเก่า ฉันมาพูดคุยกับเธออีกแล้ว”

จากเด็กวัยรุ่นที่เริ่มฟังเพลงฝรั่ง เดินซื้อหนังสือย่านเวิ้งนาครเขษม วังบูรพา สนามหลวง เราเริ่มแสวงหา “หัวใจที่เป็นทอง” เราไปดูหนังที่โรงหนังฮอลลีวู้ด เราประทับใจวีรกรรมของขุนโจรแห่งป่าเชอวู้ด เราอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง และฟังอภิปราย
ย่างเท้าเข้าสู่มหาวิทยาลัย เราเริ่มรู้จักการเดินขบวน เราเยาว์ เราเขลา เราทึ่ง เราต่างมองหาความหมาย
เราสดับฟังเสียงแห่งความเงียบ ปะปนไปในหมู่คนนับหมื่นนับแสน เราฟัง หากแต่หูไม่ได้ยิน ผู้คนพูดคุยโดยมิเอื้อนเอ่ยวาจา เราคือธุลีดาว เราคือละอองทองของยุคสมัยที่เคยคิดเสียบดอกไม้บนปลายกระบอกปืน

ในการแสวงหาอันสับสนขณะยังเป็นนักเรียนนุ่งกางเกงขาสั้น บางวันเราหนีโรงเรียน ไม่ได้ปีนรั้วเพื่อไปดูหนังหรือเล่นสเกตที่ลานสเกต เราไปนั่งจมกับความคิดสับสนกับหนังสือพ็อกเกตบุ๊ค 2-3 เล่ม ที่วัดริมคลองนอกเมือง พยายามฟังเพลงงานศพวังเวงโดยคิดว่า นั่นคือบทเรียนชีวิตที่ไม่อาจเรียนรู้ได้ในห้องเรียน นั่งดูผู้ใหญ่เล่นหมากรุกที่ร้านกาแฟริมคลองด้วยความแปลกแยก สับสน
เราอ่านชัยพฤกษ์ อ่านสังคมศาสตร์ปริทรรศน์ อ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิต เพื่อน และทัศนะ เราเริ่มประทับใจในละครแห่งชีวิต พลับพลามาลี ปักกิ่งนครแห่งความหลัง เจียงเฟ รัชนีและสาย สีมา เราอ่านบทความพูดถึงขบวนการเซนกูกาเรนด้วยความคิดฝันของคนเริ่มหนุ่ม เราอ่านบทความเรื่องหนังใต้ดินด้วยความกระหาย เราไว้ผมยาว ก่อความคิดขบถ และเริ่มมีความคิดต่อต้านสงคราม
บทกวีของโฮจิมินห์นั้นแสนไพเราะ หัวใจของเขาก็ช่างกร้าวแกร่ง ในคืนที่ถูกจองจำสิ้นไร้อิสรภาพ เขายังมองเห็นความงามของดวงจันทร์ผ่านซี่กรงเหล็ก
เสื้อเชิ้ตผ้าดิบย้อมสีฟ้าของเพื่อนพิมพ์รูปเชกูวารา เราลุ่มหลงบทเพลงของโจน ไบแอช, บ๊อบ ดีแลน, นีล ยังก์ และไซมอน แอนด์ การ์ฟังเกิ้ล เราเริ่มท่องบทกวี “กูเป็นนิสิตนักศึกษา” ของสุจิตต์ วงษ์เทศ ด้วยเสียงเย้ยหยันตัวเองและพวกพ้อง โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เรากลายเป็นแองกรี้ ยัง แมน (Angry young man) ไปกับความอึดอัดคับข้องต่อสังคมรอบตัว
ศูนย์กลางนักเรียนคริสเตียนที่เชิงสะพานหัวช้างเป็นที่จัดเสวนาวรรณกรรมบ่อยๆ เราต่างคุ้นหน้าคุ้นตากันในงานเช่นนี้ คนหนุ่มสาวที่หิวกระหายในความรู้ ขบถสังคมที่ “เพียงแต่อยากออกไปข้างนอก” ผู้รักศิลปะวรรณกรรมหัวใหม่ เราต่างเป็นคนที่อยากสื่อสารเรื่องราวความคิดของเราสู่ผู้คนในสังคม เราต่างแสดงความคิดเห็น ถกเถียง พูดคุย กระทั่งตะโกนด่าแม่สังคม
ในยุคสมัยเช่นนี้ เคยมีคนปีนขึ้นไปยืนเยี่ยวรดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เคยมีคนจุดไฟเผามัน เคยมีคนหนุ่มคนหนึ่งพยายามจี้เครื่องบินเพื่อไปรัสเซีย

เราพากันเขียนเรื่องสั้น บทละคร บทกวี และบทความ แสดงออกถึงความคิดเห็นและอารมณ์ภายในของเรา เราเชื่อมั่นในความคิดภายใต้กะโหลกที่ไว้ผมยาว เราสะพายย่ามหาดเสี้ยวที่ใส่หนังสือแสงเดือน แสวงหาอยู่ในสังคมขัดแย้ง
เราระเบิดเสียงตะโกนก่นด่าเผด็จการทรราชที่ถือประเทศเป็นเสมือนกิจการภายในครอบครัว เราต่างก้าวร้าว เจ็บปวด คับแค้น และประพฤติตัวนอกลู่นอกรอยสังคมแบบเดิม
เราหวีผมแสกกลาง ใส่แว่นตากลมแบบจอห์น เลนนอน และจอห์น เดนเวอร์ เรากินเหล้าเมา เราสูบกัญชา บางครั้งบางคราวเราลองโอสถหลอนจิต เราพูดถึงวู้ด สต๊อก เราเริ่มสนใจสำเนียงซีตาร์ของระวี ซังการ์ และเราร้องเพลงอิเมจินของจอห์น เลนนอน ด้วยความเคลิบเคลิ้มฝันใฝ่

สงครามเวียดนามนั้นอยู่ใกล้ตัว ปี 52 บินนำไข่เหล็กไปทิ้งจากโคราชและอู่ตะเภา หัวเข็มขัด กลัดกระดุม ปุ่มเนกไท ตอกย้ำเราว่าโรงเรียนตายแล้ว เด็กหญิงเนื้อตัวล่อนจ้อนที่วิ่งหนีระเบิดนาปาล์มบีบคั้นความรู้สึกเรา
และแล้วอเมริกาก็ต้องพ่ายแพ้กลับไป ทิ้งร่องรอยสงครามไว้ที่เวียดนาม ทิ้งเมียเช่าและลูกจีไอไว้ที่เมืองไทย เรามีคำถามไม่สิ้น ร.อ.จันทรคีรี สะท้อนคำถามต่อยุคสมัย
โง่คิ่น สงครามเสร็จแล้วหรือ
เขาหยุดซื้อดวงวิญญาณแล้วใช่ไหม
มือเจ้ากำปืนหรือดอกไม้
เจ้าร้องไห้หรือดีใจหลังสงคราม

เรารับรู้ เราสะเทือนใจ ผู้คนหนุ่มสาวพยายามเปลี่ยนแปลงแก้ไข
ในขบวนแถวยามเดินขบวน เรามีแต่เพียงหัวใจซื่อ เราเดินออกมาสู่ท้องถนน เราเดินออกมาจากมหาวิทยาลัย จากโรงเรียนอาชีวะ จากโรงเรียนมัธยม เราพากันเดินออกมาจากซอกหลืบต่างๆ ของสังคม เปล่งเสียงออกมาพร้อมกัน
ตื่นเถิดเสรีชน
อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน
ดาบหอกกระบอกปืน
ฤาทนคลื่นกระแสเรา

เราเปล่งเสียงร้องและก้าวเดินไป
เป็นนกสีเหลืองที่ใฝ่เสรี เป็นพิราบขาวที่ใฝ่สันติ

เราผ่าน 14 ตุลาคม 2516 ด้วยความฮึกห้าว เราผ่าน 6 ตุลาคม 2519 ด้วยความปวดร้าว เราผ่านวันเวลาชีวิตด้วยการต่อสู้ฝันใฝ่ เราหลอมหัวใจของเราให้กลายเป็นทอง สามปี ห้าปี สิบปี สิบเก้าปี และยี่สิบปี เราต่างเติบโตผ่านหนาว ผ่านร้อน ผ่านประสบการณ์ชีวิตมากมาย
เราจะยังคงรักษาหัวใจดวงเดิมของเราเอาไว้
เราคือธุลีดาว เราคือละอองทองของยุคสมัย
ครั้งหนึ่งเราเคยคิดเสียบดอกไม้ที่ปลายปืน



เรืองรอง  รุ่งรัศมี


พิมพ์ครั้งแรก : นสพ.ผู้จัดการรายสัปดาห์ กันยายน 2536

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น