ค้นหาบทความ

วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

จีนวิทยา : อักษรจีน จากการคลี่คลายตัวถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์


ความรู้ด้านจีนวิทยาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสาขาความรู้สังคมศาสตร์ ศิลปะศาสตร์ ปรัชญา อักษรศาสตร์ ภาษาและนิรุกติศาสตร์นั้น ถือได้ว่าเป็นส่วนที่นักจีนวิทยา (Sinology) โดยทั่วไปให้ความสนใจและร่วมสนุกด้วยมากที่สุด
ครั้งหนึ่งก่อนที่คอมพิวเตอร์จะเฟื่องฟูและนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เคยมีนักวิชาการท่านหนึ่งจุดประเด็นเรื่องคอมพิวเตอร์ภาษาจีนขึ้นมา จากนั้นประเด็นเรื่องคอมพิวเตอร์กับภาษาจีนก็เริ่มแตกขยายตัว กลายเป็นวิวาทะครั้งใหญ่ในนิตยสารภาษาจีน แพร่จากฉบับหนึ่งไปสู่อีกฉบับหนึ่ง ถกเถียง อภิปราย ยืนยันหลักการ อ้างอิงข้อมูลและทฤษฎีกันอย่างมีแง่มุมหลากหลาย
เมื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ถือกันว่าก้าวหน้าและซับซ้อน ต้องมาบรรจบพบกับภาษาอันเก่าแก่ที่ตกทอดกันมายาวนาน แง่มุมและทฤษฎีจึงถูกเสนอถูกอภิปรายกันอย่างคึกคัก

ก่อนสู่วิวาทะเรื่องคอมพิวเตอร์ภาษาจีนนั้น ก็เคยมีวิวาทะครั้งใหญ่เรื่องภาษาจีนควรคลี่คลายพัฒนาไปอย่างไร เป็นประเด็นที่นักจีนวิทยาทั่วโลก ถกเถียง อภิปรายกันผ่านหน้าหนังสือจีน
ตัวอักษรจีนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นแยกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้ คือ ตัวอักษรแบบ “ตัวเต็ม” (แบบตัวเก่าซึ่งคลี่คลายตัวมาจากครั้งการปฏิวัติและจัดระบบอักษรจีนในยุคจิ๋นซีฮ่องเต้) ตัวเต็มนี้ ภาษาจีนกลางเรียกว่า “ฝานถี่จื้อ” อีกแบบหนึ่งคืออักษรจีนที่ย่อและลดขีดให้ซับซ้อนน้อยลง เรียกว่า “ตัวย่อ” หรือ “เจี๋ยนถี่จื้อ
ปัจจุบันนี้หนังสือที่พิมพ์ในไต้หวันทุกเล่มจะใช้อักษรจีนแบบตัวเต็ม หรือฝานถี่จื้อ ส่วนหนังสือจีนที่พิมพ์ในจีนแผ่นดินใหญ่ทุกเล่มจะใช้อักษรจีนแบบตัวย่อหรือเจี๋ยนถี่จื้อ
ส่วนหนังสือจีนที่พิมพ์ในที่อื่นๆ นั้น บางเล่มใช้ตัวเต็ม บางเล่มก็ใช้ตัวย่อ

หนังสือภาษาจีนในเมืองไทยที่เป็นหนังสือเล่มนั้น มักใช้อักษรแบบตัวเต็มกันเกือบทุกเล่ม ส่วนในหนังสือพิมพ์รายวันบางเล่มใช้ตัวเต็มบางเล่มใช้ตัวย่อ ถ้าดูโดยสัดส่วนแล้ว หนังสือภาษาจีนที่พิมพ์ในเมืองไทยจะใช้อักษรตัวเต็มมากกว่าตัวย่อ
หนังสือจีนในฮ่องกงก็มีทั้งส่วนที่พิมพ์ด้วยตัวเต็มและตัวย่อเช่นกัน สังเกตดูแล้ว ดูเหมือนหนังสือเล่มส่วนใหญ่ของฮ่องกงจะใช้ตัวเต็มเป็นหลัก นิตยสารและหนังสือพิมพ์รายวันนั้นมีทั้งที่เป็นตัวย่อและตัวเต็ม
ในสิงคโปร์ หนังสือจีนใช้อักษรจีนตัวย่อมากกว่า ทั้งในนิตยสารและหนังสือเล่ม แต่เล่มที่ใช้อักษรจีนตัวเต็มก็มี
ในมาเลเซีย ส่วนที่เป็นนิตยสารและหนังสือพิมพ์ มีทั้งใช้อักษรจีนตัวย่อและตัวเต็ม ส่วนหนังสือเล่ม ผู้เขียนยังสัมผัสมาน้อย คือไม่มีข้อมูลพอที่จะสรุปลงไปในข้อเขียนชิ้นนี้
หนังสือจีนที่พิมพ์ในประเทศตะวันตก ดูเหมือนว่าจะนิยมใช้อักษรจีนเต็มตัวกันเป็นส่วนใหญ่
การที่หนังสือจีนในพื้นที่ต่างๆ เลือกใช้ตัวอักษรแบบตัวย่อหรือตัวเต็มนั้น ย่อมมีเหตุผลพื้นฐานรองรับ ส่วนหนึ่งคำนึงถึงฐานการตลาด เพราะหนังสือภาษาจีนสามารถส่งขายได้ทั่วโลก แต่อีกส่วนหนึ่งนั้นเป็นเรื่องการแสดงสถานะของตนเองทางด้านสังคมและการเมือง

แน่นอนว่าจีนแผ่นดินใหญ่ต้องใช้อักษรจีนแบบตัวย่อ เพราะการปฏิวัติอักษรจีนครั้งมโหฬารเกิดขึ้นในยุคของเหมาเจ๋อตง โดยมีเหตุผลและทฤษฎีพื้นฐานรองรับการปฏิวัติอักษรจีนว่า เพื่อให้เขียนง่าย จำง่าย ลดความยุ่งยาก เพื่อให้ภาษาสามารถเป็นที่เรียนรู้ของมวลชนวงกว้างได้ง่ายและรวดเร็ว หากจีนแผ่นดินใหญ่ยอมใช้ระบบอักษรตัวเต็มในหนังสือที่ตนพิมพ์ก็เท่ากับเป็นการเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองว่า ทฤษฎีพื้นฐานของตนผิดพลาด จะเป็นที่อับอายต่อสังคมวิชาการและสังคมการเมืองไปทั่วโลก
ทางด้านไต้หวันยืนยันใช้อักษรจีนแบบตัวเต็ม เหตุผลหนึ่งนั้นเพราะอักษรจีนแบบตัวเต็มได้ใช้สืบต่อกันมายาวนานนับพันปี มีผู้ที่อ่านเขียนภาษาจีนอักษรตัวเต็มอย่างคุ้นเคยอยู่แล้วอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งก็เป็นเครื่องมือแสดงจุดยืนทางการเมืองเช่นกันว่า มีความเป็นตัวของตัวเอง มีจุดยืนที่มั่นคง เพราะหากยอมรับว่าทฤษฎีอักษรตัวย่อถูก ก็เท่ากับเป็นการเพลี่ยงพล้ำและเสียหน้าทางการเมือง
ส่วนในประเทศอื่นๆ ที่มีใช้ทั้งอักษรตัวเต็มและอักษรตัวย่อ เพราะแต่ละอย่างก็มีจุดเด่นจุดด้อยในตัวเอง อีกทั้งในด้านการตลาดก็มีผล หากคนในท้องถิ่นนั้นคุ้นกับอักษรจีนแบบไหน ต้องเลือกแบบนั้น และนี่ก็มีผลให้คนเลือกพิมพ์หนังสือด้วยอักษรจีนเต็มตัวมากกว่า เพราะคำนึงถึงผู้อ่านซึ่งเรียนภาษาจีนมาในระบบเก่า คนรุ่นอายุมาก และการเชื่อมโยงไปอ่านหนังสือยุคเก่า ซึ่งล้วนแต่ใช้ตัวอักษรจีนแบบตัวเต็ม ซึ่งนั่นเท่ากับว่าตลาดการขายของหนังสือจีนที่พิมพ์ด้วยตัวอักษรแบบตัวเต็มจนถึงปัจจุบันนั้น จะมีโอกาสทำกำไรเป็นเม็ดเงินที่มากกว่า เนื่องจากคนนอกดินแดนจีนแผ่นดินใหญ่โดยทั่วไป ยังคุ้นกับอักษรจีนแบบตัวเต็มมากกว่าตัวย่อ และหนังสือที่พิมพ์ขายนอกดินแดนจีนแผ่นดินใหญ่ก็ตั้งราคาขายได้สูงกว่าในดินแดนจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะสัมพันธ์กับต้นทุนและกำลังซื้อ ซึ่งนั่นย่อมสัมพันธ์กับผลกำไรตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบทุนนิยม

การวิวาทะเรื่องการคลี่คลายตัวของอักษรจีน การพัฒนาอักษรจีนสัมพันธ์ไปถึงทฤษฎีทางภาษาศาสตร์และนิรุกติศาสตร์ ทั้งสิ่งเหล่านี้ยังถูกผูกโยงกับความคิดเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ภาษาจีนอีกทีหนึ่ง ว่าใครจะสามารถพัฒนาไปได้เร็วกว่า ก้าวหน้ากว่า สมบูรณ์ลึกซึ้งกว่า
ใครที่ไปถึงหลักชัยได้โดยสมบูรณ์ ก็จะได้ทั้งชื่อเสียง หน้าตา ผลประโยชน์ เงินทอง ความก้าวหน้าทางวิชาการ ตลอดจนสถานะในสังคมวิชาการ และสถานะในสังคมโลกในอีกหลายๆ ด้าน

ปัจจุบัน คอมพิวเตอร์ภาษาจีนมีทั้งระบบอักษรตัวเต็มและอักษรตัวย่อ โดยทั่วไปแล้วโปรแกรมคอมพิวเตอร์ภาษาจีนมักออกแบบให้ผู้ใช้มีสิทธิ์เลือกใช้อักษร ในรูปแบบที่ตนคุ้นเคยและถนัดได้ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ภาษาจีนพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและไม่หยุดยั้ง การครอบครองส่วนแบ่งตลาดและความก้าวหน้าทางวิชาการทางวิชาการสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง
จากการคลี่คลายและพัฒนาตัวของทฤษฎีตัวอักษรจีน ปลายด้านหนึ่งนั้นผูกโยงกับความรู้ทางภาษาศาสตร์ อักษรศาสตร์ และนิรุกติศาสตร์ ขณะที่ปลายอีกด้านหนึ่งมาสัมพันธ์กับทฤษฎีคอมพิวเตอร์ ทั้งหลายทั้งปวงนี้ล้วนต้องยืนอยู่บนรากแก้วที่สำคัญยิ่ง คือความรู้พื้นฐานภาษาจีน
นี่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความรู้จีนวิทยา ซึ่งผูกโยงสัมพันธ์กับชีวิตตั้งแต่ยุคโบราณยันยุคเทคโนโลยีอวกาศในวันนี้


เรืองรอง  รุ่งรัศมี


พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในหนังสือ มังกรซ่อนลาย แพรวสำนักพิมพ์ พ.ศ.2541

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น