ราวปี ค.ศ.1981 กระมังที่ได้ยินเพลง "สายน้ำ" 流水 จากเสียงร้องของ จาง อ้าย เจีย 張艾嘉 เป็นครั้งแรก. ในวันเวลานั้นข้าพเจ้าเป็นนักเรียนภาษาที่ยากจนอยู่ที่ไต้หวัน,
ละทิ้งการงาน ความผิดหวัง ปวดร้าว ต่ออุดมคติ มาร่อนเร่โดดเดี่ยว,
ด้วยหวังจะต่อสู้แสวงหาครั้งใหม่. และพร้อมๆ กัน
ก็หวังจะเยียวยาบาดแผลของชีวิตและความฝัน
มิตรสหายทยอยกันออกจากป่ามาก่อนหน้านั้นคนแล้วคนเล่า
และยังทยอยกันออกมาด้วยความเจ็บปวด คับแค้น และโรยล้า
ผ่านเหตุการณ์ฆ่าหมู่นักศึกษา ประชาชน
อย่างโหดร้ายที่ท้องสนามหลวง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มาเพียง 5 ปี บาดแผลความเจ็บปวดยังไม่จางคลายดี
ก็ต้องมาพบกับความร้าวรานครั้งใหม่
ตลาดนัดวันเสาร์ - อาทิตย์ ที่ท้องสนามหลวงถูกขับไล่ไสส่งให้ออกไปพ้นหูพ้นตา.
แหล่งหนังสือเก่าตรงบริเวณพระแม่ธรณีบีบมวยผมถูกบีบให้ต้องย้ายออกไปในปีไหนก็จำไม่ได้แน่ชัด
ชีวิตวัฒนธรรมแบบคนสามัญธรรมดาถูกมองว่าเป็นเรื่องระคายตา วัฒนธรรมไร้ค่าไร้ความหมายกว่าความโล่งว่าง ฝุ่นดินปลิวฟุ้งยามลมพัด
สนามหลวงกลายเป็นที่ร้างตายซาก
เหงื่อของคนคงเหม็น
กรวดเม็ดร้าวค่อยๆ
กร่อนบิ่นเป็นเศษหินสกปรกข้างทาง. ลืมค่าความแข็งแกร่ง และเงาก็ค่อยๆ
ไร้ความหมาย
โลกถูกเปลี่ยนไปในทางที่เลวร้าย ทั้งอย่างรวดเร็ว
เปิดเผย และแฝงเร้น
ท่าพระจันทร์ ย่านวังหลัง แล้วค่อยๆ กัดกินจิตวิญญาณ
คนเหงื่อเหม็นรู้สึกต่ำต้อย. ความครั่นคร้าม
แปลกแยก มากขึ้น.
รถยนต์คลาคล่ำเต็มพื้นที่
ล้อบดไปบนร่องรอยเลือดและเหงื่อของอุดมคติ.
สายน้ำเจ้าพระยาที่เคยรองรับร่างนักศึกษาประชาชนยังคงไหล
แต่บางสิ่งถูกทำให้เปลี่ยนไป.
เสื้อกี่ตัว ชีวิตกี่ชีวิต น้ำกี่ขัน
ความปวดร้าวและความผูกพันร่วมกัน
เปลี่ยนมาเป็นภาพเด็กอนุบาลตัวโข่งอายุยี่สิบกว่า
สวมเสื้อครุยปริญญาอุ้มตุ๊กตาหมีตัวโตเดินน้ำลายยืดไปตามถนน
ธารน้ำสายหนึ่งยังคงเป็นสายน้ำ
สองฟากฝั่งเปลี่ยนไปยังจำได้
ผู้คนผ่านมาเพื่อซื้อขาย
สายน้ำเอย
นำเอาสิ่งใดมา และพัดพาสิ่งใดไปพร้อมกับวันเวลา.....
ธารน้ำใสสายหนึ่งหน้าเรือนพัก
สองฟากฝั่งหลิวลู่อยู่สองแนว
ทิวทัศน์คงเดิมทุกขวบปี
มีเพียงธารสายนั้นไหลไปไม่หวนคืน
สายน้ำเอย
โปรดอย่าได้นำเอาวันเวลานั้นจากไป
流水
作詞:/ 作曲:呂泉生
唱 :張艾嘉
門前一道清流
夾岸兩行垂柳
風景年年依舊
只有那流水總是一去不回頭
流水啊 請你莫把光陰帶走
เพลง : หลิว สุ่ย 流水 (สายน้ำ)
คำร้อง / ทำนอง : หลวี่ ฉวน เซิง
ขับร้อง : จาง อ้าย เจีย
เรืองรอง รุ่งรัศมี : แปล
พิมพ์ครั้งแรก : สายลมในกิ่วหลิว ฉบับที่ 426/28 พ.ค.-3 มิ.ย. 2001
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น