ค้นหาบทความ

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กิน


ดูหนังจีนแล้วบางทีก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าสิ่งที่เห็นในจอนั้นใกล้เคียงความจริงอยู่แค่ไหน ?
จีนเป็นชาติช่างบันทึก ร่องรอยหลักฐานจึงมีมาก
อักษรจีนยุคแรกๆอยู่บนกระดองเต่าและกระดูกสัตว์ จีนเรียกว่า "เจี๋ยกู่เหวิน甲骨文(jiaˇguˇwenˊ) พิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์แล้วมีอายุกว่า 4,000 ปี 
ตัวอักษรบนภาชนะสัมฤทธิ์  บนหิน บนภาชนะดินเผา กระเบื้องเคลือบ บันทึกบนซี่ไม้ไผ่ที่ผูกเป็นผืน การแกะสลักแม่พิมพ์ไม้ จนมาถึงการเขียนลงบนกระดาษ ล้วนแต่เป็นร่องรอยหลักฐานที่หนักแน่น
เมื่อจีนคิดประดิษฐ์กระดาษได้ การจดบันทึกลงบนกระดาษได้เป็นโลกของข้อมูลเข้าสู่หน้าใหม่ การจดบันทึกเป็นประเพณีนี้ทำให้เกิดเอกสารหลักฐานที่ใช้อ้างอิงมากมาย จนมาถึงยุคของกระดาษและกล้องถ่ายรูป ทุกอย่างก็ดูชัดเจน แจ่มแจ้ง ไม่ต้องตีความแบบคาดเดามากๆ อีกแล้ว
เรื่อง “กิน” เป็นเรื่องใกล้ตัวของคน มีเรื่องน่ารู้มากมาย น่าสนใจว่าจีนมีการเขียนหนังสือเรื่องสิ่งละอันพันละน้อยมากมาย ช่วงที่ค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับชาทำให้จำชื่อหนังสือ “ชิงเป้ยเล่ยชาว(清稗类钞) ในสมัยชิงอ(เช็ง) ได้ว่ามีข้อมูลเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างชวนฉงน เอกสารลักษณะนี้มีน้อยมากในสังคมของเรา

มนุษย์ นอกจากกินเพราะความหิวแล้วยังกินเพราะความอยาก กินตามความคุ้นเคย กินตามสถานะทางชนชั้น
เรื่องกินอย่างวิจิตรบรรจงของจีนส่วนหนึ่งปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเรื่อง “ความฝันในหอแดง” (红楼梦)ของ ฉาวเสว่ฉิน (曹雪芹) วรรณกรรมยิ่งใหญ่เรื่องนี้เขียนถึงชีวิตอันฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อของพวกขุนนางครอบครัว “ไฮโซ” เวลาบรรยายถึงอาหารบนโต๊ะของพวก “ผู้ดีตีนแดง” ละลานตาชวนให้พิศวงว่า คนเรามันจะฟุ้งเฟ้อกันเรื่องกินได้กันขนาดนี้เลยหรือ
แค่อ่านแล้วนึกภาพให้ออกว่าหน้าตาอาหารแต่ละอย่างเป็นอย่างไรก็หูอื้อตาลายแล้ว ยังไม่รวมไปถึงการจินตนาการว่ารสชาติอาหารอันละลานตาที่ไม่เคยกินนั้นจะเป็นอย่างไร ความที่จริตไม่ตรงกับรสนิยมของวรรณกรรมเรื่องนี้ จึงทำให้จนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใจจะหาหนังสือฉบับเต็มมาอ่าน ได้แต่อ่านบทความที่ศึกษาวิเคราะห์ หรือที่ขนาด “ตามไปกิน” แล้วมาเขียนถึง แบบนั้นดูจะน่าสนใจกว่าในความรู้สึกของตน

แค่ครอบครัวขุนนางชั้นสูงในเรื่อง “ความฝันในหอแดง” ยังกินวิลิศมาหราถึงขนาดนั้น แล้วในรั้วในวังเขาจะกินกันล้ำลึกพิสดารขนาดไหน ?
ใครๆ ก็รู้ว่าจีนมีอาหารที่เรียกว่า “อาหารฮ่องเต้” ภาษาจีนเรียกว่า “หม่านฮั่นฉวนสี (满汉全席) ถ้าเอาอย่างหรูหราอาหารฮ่องเต้นั้นใน 1 มื้อมีกว่า 100 อย่าง ในจำนวนนั้นมีทั้ง รังนก หูฉลาม เป๋าฮื้อ อุ้งตีนหมี ของป่า ของทะเล เนื้อวัว เนื้อหมู เป็ด ไก่ ห่าน นก กระต่าย เห็ด ผัก ฯลฯ อย่าคิดว่าอาหารแบบนี้เขาไม่ได้กินกันในชีวิตประจำวัน มีเอกสารอ้างอิงว่าบนโต๊ะอาหารของซูสีไทเฮา (禧太后 1835-1908)และจักรพรรดิปูยี (溥仪1906-1967) แต่ละมื้อมีอาหารละลานตาไม่ต่างจากนี้เท่าไหร่
จักรพรรดิปูยีต้องสละอำนาจอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 1912 ภายหลัง ดร.ซุนยัตเซนทำการปฏิวัติโค่นล้มระบบราชาธิปไตยได้สำเร็จ และสถาปนาระบบประชาธิปไตยขึ้นในปี 1911

น่าสนใจว่ามีเอกสารหลักฐานยืนยันว่า เดือนเมษายน 1912 รัฐบาลชั่วคราวของ ดร.ซุนยัตเซน ซึ่งใช้เมืองนานกิง (หนานจิง南京) เป็นเมืองหลวงชั่วคราวนั้น ตัวเลขของรัฐบาลติด “ตัวแดง” จนไม่มีเงินเดือนจะจ่ายข้าราชการ แม้แต่ค่าอาหารของท่านประธานาธิบดีก็ยังต้องประหยัด กินข้าวต้มกับปาท่องโก๋เป็นอาหารหลัก ในงานเลี้ยงต่างๆ ก็คิดรายการอาหารที่ประหยัดที่สุด
แต่รายการอาหารเช้าของฮ่องเต้น้อยวัย 6 ขวบในพระราชวังกลับมี เป็ด, ไก่, เนื้อหมู, เนื้อวัว, เนื้อแพะ, ของสดจากทะเล, เต้าหู้, ผัก ไม่น้อยกว่า 28 อย่าง

มีเอกสารชิ้นหนึ่งแสดงรายละเอียดอาหารที่ปูยี ไทเฮา ฮองเฮา และสนม บริโภค ใน 1 วัน เป็นตัวเลขเชิงสถิติที่น่าสนใจดังนี้
ส่วนของจักรพรรดิปูยี
เนื้อหมูสำหรับทำอาหารวันละ 22 ชั่ง         = เดือนละ 660 ชั่ง
เนื้อหมูสำหรับทำน้ำแกง 5 ชั่ง                   = เดือนละ 150 ชั่ง
น้ำมันหมู 1 ชั่ง                                       = เดือนละ 30 ชั่ง   
ไก่ 2 ตัว                                                 = เดือนละ 60 ตัว   
เป็ด 3 ตัว                                               = เดือนละ 90 ตัว
ไก่สำหรับประกอบอาหารอื่น 3 ตัว             = เดือนละ 90 ตัว

ส่วนของไทเฮา ฮองเฮา และสนม รวมเป็นปริมาณใน 1 เดือน มีดังนี้
ไทเฮา  太后               เนื้อ 1860 ชั่ง ไก่ 30 ตัว เป็ด 30 ตัว
            สนมจิ่น  
瑾贵妃       เนื้อ 285 ชั่ง ไก่ 7 ตัว เป็ด 7 ตัว
            สนมอวี๋
 瑜皇贵妃 เนื้อ 360 ชั่ง ไก่ 15 ตัว เป็ด 15 ตัว
            สนมสวิน 
珣皇贵妃 เนื้อ 360 ชั่ง ไก่ 15 ตัว เป็ด 15 ตัว
            สนมจิ้น
 瑨贵妃       เนื้อ 285 ชั่ง ไก่ 7 ตัว เป็ด 7 ตัว

รวมแล้วทั้ง 6 คน คือ จักรพรรดิน้อย ฮองไทเฮา สนมจิ่น สนมอวี๋ สนมสวิน สนมจิ้น ในแต่ละเดือนจะบริโภค เนื้อ 3960 ชั่ง ไก่และเป็ด 388 ตัว ในจำนวนนี้ยังไม่รวมที่ใช้ในครัวของขันทีและข้าราชบริพาร
ถ้ารวมขุนนางใกล้ชิด,ขันที,มหาดเล็ก ในแต่ละเดือนในวังจะใช้เนื้อ 31844 ชั่ง, น้ำมันหมู 840 ชั่ง , เป็ดไก่ 4786 ตัว, ปลา, กุ้ง, ไข่ น้ำหนัก 14,794 ตำลึง ยังไม่รวมขนมผลไม้อื่นๆ

อ่านข้อมูลเหล่านี้แล้วเราอาจเผลอคิดว่ามันห่างไกลตัวมาก แต่พอมองดูที่วันเวลา นี่มันเป็นยุคที่โลกมีกล้องถ่ายหนัง มีดนตรีแจ๊ส มีรถยนต์ กันแล้วนี่
การใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยอยู่ในเวลาเดียวกับการต่อสู้รบพุ่งกันทั้งกับต่างชาติและรบกันเอง กบฏนักมวย กบฏชาวนาอี้เหอถวน สงครามฝิ่น    
ในเวลานั้น อาวุธแบบใหม่ ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ การเคลื่อนสู่ความเป็นสมัยใหม่ ความคิดเรื่องเสรีภาพ ความคิดเรื่องประชาธิปไตยกำลังเคลื่อนเข้าไปในทุกพื้นที่ของโลก

ดร.ซุนยัตเซนศึกษาวิชาการแพทย์แผนตะวันตก แต่งตัวแบบเสื้อผ้าฝรั่ง  ขบถด้วยการตัดผมเปียที่เป็นขนบแมนจู แล้วรวบรวมกำลังคนเพื่อก่อการปฏิวัติ เรื่องราวเหล่านี้ปรากฏอยู่ในเอกสารมากมาย และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแล้วเรื่องเล่าตลอดระยะเวลาร่วม 100 ปีที่ผ่านมา
การก่อการของ ดร.ซุนยัตเซนประสบความล้มเหลวหลายครั้ง ขบวนการปฏิวัติประชาธิปไตยสูญเสียทั้งกำลังคน กำลังทรัพย์เป็นจำนวนไม่น้อย แต่ในที่สุดสิ่งที่ก้าวหน้ากว่า และเป็นผลดีต่อคนหมู่มาก ก็ได้รับชัยชนะในที่สุด
แม้เมื่อได้รับชัยชนะแล้วทุกสิ่งก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปอย่างราบรื่น การขาดความคล่องตัวทางการเงินของรัฐบาลนานกิง จนไม่มีเงินคงคลังสำหรับจ่ายเงินเดือนเป็นตัวอย่างหนึ่ง

แต่ด้วยแนวความคิดเรื่อง “ไตรราษฎร์”  (三民主义) ระบอบประชาธิปไตยในจีนก็ค่อยๆคลี่คลายตัว
จากช่วงเวลาที่ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนข้ารัฐการ จนการสร้างเครื่องบินที่แม้แต่น็อตทุกตัวก็ผลิตด้วยตัวเองนั้น รัฐบาลประชาธิปไตยของ ดร.ซุนยัตเซนใช้เวลาไม่นานเลย น่าเสียดายที่ท่านอายุสั้น สิ้นชีวิตหลังจากอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีไม่นาน ทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจเพื่อหวังครองความเป็นใหญ่ในหมู่ขุนศึกต่างๆ และโชคไม่ดีซ้ำเข้าไปอีกที่ต้องรบกับฝรั่งและญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลก แล้วต่อด้วยการรบกันภายในกับกองทัพแดงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเวลาต่อมา
วันนี้จีนมีเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของตัวเอง และสามารถส่งยานอวกาศขึ้นไปโคจรสำรวจอวกาศแล้วหลายครั้ง ส่วนไทยที่เคลื่อนตัวสู่โลกสมัยใหม่ในเวลาไร่เรี่ยกัน ยังคิดหาวิธีกำจัดหมัดบนรถไฟด้วยความภาคภูมิอยู่เลย

เรืองรอง  รุ่งรัศมี
5/2012


พิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “Dragon Square” นิตยสาร Mix เดือนมิถุนายน 2012

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น