5 ตุลาคม ในและนอกโรงภาพยนตร์ กับมิติกาลเวลา
5 ตุลาคม 2539
ในโรงภาพยนตร์
ภาพบนจอเป็นเรื่องราวช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เด็กโก๊ะ เด็กชายอายุราว 13-14 ปี วิ่งออกไปกับอังศุมาลิน ผู้หญิงวัยกลางคนที่ยังคงเค้าของความงามไว้อย่างสมบูรณ์ด้วยสีหน้าหวั่นวิตก
ผู้คนวิ่งวุ่นกันอย่างพลุกพล่าน
ควันไฟพวยพุ่งขึ้นเป็นกลุ่ม มีเสียงระเบิด เสียงปืนดังอยู่เป็นระยะ ๆ
ผู้คนที่วิ่งอย่างสับสนอลหม่านอยู่บนจอภาพยนตร์นั้นเหมือนจะคุ้นเคย
แต่ก็แลดูห่างเหิน สีหน้าท่าทางของพวกเขาดูเหมือนคนที่ขาดความจริงจังกับชีวิต
เครื่องแบบนักศึกษาของพวกเขาดูใหม่และสะอาด ตัวตนภายในของเขาไม่เหมือนกับผู้คนที่วิ่งหลบกระสุนด้วยความกลัวผสมความกล้าและคลั่งแค้นบนท้องถนนเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน
กาลเวลาทำให้เกิดช่องว่างขึ้นกับตัวตนภายในของคนได้มากกระไร
ทั้งภาพบนจอและผู้ทำให้ภาพเหล่านี้ปรากฏบนจอ พวกเขามีช่องว่างกับตัวตนภายในและความเป็นจริงเพียงใด
5 ตุลาคม 2519
ในที่ทำงาน
ข่าวการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชน
เพื่อขับไล่สามเณรถนอมที่บวชมาจากสิงคโปร์ปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ วิทยุยานเกราะออกอากาศปลุกระดมลูกเสือชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา
สถานการณ์ที่ธรรมศาสตร์และทั่วทั้งกรุงเทพฯ อยู่ในภาวะตึงเครียด
ข้าพเจ้าค้างคืนอยู่ในสำนักงานของนิตยสารดาราฉบับเล็กๆ
ฉบับหนึ่ง เป็นคืนที่เท่าไหร่ก็จำไม่ได้แล้ว เสียงจากวิทยุดังอยู่ตลอดเวลา ช่วงปีนั้นข้าพเจ้ายังเป็นนักศึกษาที่ทำงานหารายได้พิเศษด้วยการรับหน้าที่จัดหน้าหนังสือนิตยสารและพ็อคเกตบุ๊ค
งานที่อยู่ตรงหน้าวางอยู่อย่างไม่มีกะจิตกะใจจะทำให้สำเร็จลุล่วง จิตใจความรู้สึกของข้าพเจ้าโลดแล่นไปอยู่ที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขณะที่ตัวของข้าพเจ้าตื่นเต้นละล้าละลังอยู่กับที่ทำงาน
เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ไม่ได้มาทำงาน สำนักงานนิตยสารดาราฉบับนั้นมีคนทำงานทั้งหมดเพียง
5 คน
ข้าพเจ้าในเวลานั้นยังไม่พ้นระยะเวลาของคนทำหนังสือหัดใหม่ งานจัดหน้านิตยสารดาราไม่ใช่เรื่องต้องเคร่งเครียดกับมันนัก
การทำนิตยสารยังไม่ใช่ธุรกิจวงเงินมหาศาลอย่างเช่นทุกวันนี้ นายจ้างและเจ้าของทุนของนิตยสารฉบับนี้ไม่ได้เข้ามาที่สำนักงานบ่อยนัก
และเขาก็ไม่ค่อยได้สนใจในตัวของข้าพเจ้าและเพื่อนๆ บางคนที่แอบมาพบปะเสวนากันในที่ทำงาน
เราใช้สำนักงานนั้นเป็นที่อาบน้ำ ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า กระทั่งเป็นที่พักนอนในบางคืน
ช่วงบ่ายคล้อยเย็นของวันที่ 5 ตุลาคม 2519
เพื่อนๆ ทยอยกันเข้ามาใช้ห้องน้ำในที่ทำงานของข้าพเจ้า
สีหน้าของพวกเขาจริงจัง เจือด้วยความหวั่นวิตก แต่ละคนต่างก็เหนื่อยล้ากับการอยู่ท่ามกลางฝูงมหาชนมาหลายเดือน
หากแต่ทุกคนต่างก็ยังมีความกระตือรือร้นและท่าทีเอาจริงเอาจังอย่างเต็มเปี่ยม
ช่วงเวลาค่ำคืนหลายคืนมานี้ นักศึกษาที่ทำงานเคลื่อนไหวต่างก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบตามความถนัดและความสมัครใจ
บางคนอยู่ฝ่ายเสบียง บางคนอยู่ฝ่ายรักษาความปลอดภัย บางคนคอยรวบรวมข่าวส่งต่อให้หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์
และอีกจำนวนหนึ่งต้องทำหน้าที่เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อปิดโปสเตอร์กระจายให้ทั่วเมือง
งานปิดโปสเตอร์ในยามค่ำคืนดึกดื่นภายใต้สถานการณ์ตึงเครียดเป็นงานเสี่ยงอันตรายที่ต้องการความรวดเร็วฉับไว
ทุกคนต้องทำงานแข่งกับเวลาก่อนรุ่งสาง หน่วยโปสเตอร์กระจายกันไปกับรถกระบะ และพาหนะอื่นๆ เท่าที่สะดวกจะใช้
คนหนึ่งหิ้วกระป๋องแป้งเปียกทาไปที่เสาไฟฟ้าหรือผนังกำแพงอย่างรวดเร็ว
อีกคนหนึ่งรีบเอาโปสเตอร์ที่เตรียมไว้ปิดทับลงไปจากนั้นเคลื่อนที่ออกไปให้เร็วที่สุด
ความชักช้าอืดอาดอาจก่ออันตรายให้กับตนและเพื่อนร่วมหน่วยถึงชีวิต
การเมืองที่แบ่งขั้วความคิดออกเป็นซ้ายขวาอย่างชัดเจนไม่เพียงจะทำให้นักศึกษาประชาชนฝ่ายก้าวหน้าต้องคอยหลบหลีกคนของทางการ
แต่ยังต้องเอาตัวให้รอดพ้นจากอันตรายโดยหน่วยล่าสังหารพลเรือนฝ่ายขวาอีกด้วย
การชุมนุมใหญ่ที่สนามหญ้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เกี่ยวเนื่องมาจากการแสดงเจตนารมณ์ไม่ให้สามเณรถนอมอยู่พำนักในประเทศไทย
และเพื่อแสดงพลังคัดค้านที่หน่วยโปสเตอร์ของฝ่ายประชาชนถูกจับแขวนคอที่นครปฐม
เพื่อนๆ ที่เข้ามาอาบน้ำผลัดเปลี่ยนเครื่องแต่งกายหน้าตาเคร่งเครียด
ข้าพเจ้าถามพวกเขาถึงเหตุการณ์ในธรรมศาสตร์ ทุกคนต่างพูดกันว่าคืนนี้เหตุการณ์น่าจะตึงเครียด
อาจมีอะไรรุนแรงที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นก็ได้ เพื่อนๆ
สั่งอาหารข้างสำนักงานมารับประทาน พอให้ร่างกายมีเรี่ยวแรงสำหรับภาระหน้าที่ของดึกคืนนี้
ข้าพเจ้าเก็บงานที่ค้างขอติดตามเพื่อนไปที่ธรรมศาสตร์ด้วย
แต่ทุกคนไม่อนุญาตให้ข้าพเจ้าซึ่งร่างกายไม่แข็งแรงติดตามไปเลย
ทุกคนห่วงกังวลว่าหากเกิดอะไรขึ้นข้าพเจ้าคงไม่อาจดูแลตัวเองได้
ดูเหมือนว่าในใจลึกๆ ของเพื่อนแต่ละคน ต่างก็รู้อยู่ว่าคืนวันที่
5 ตุลาคม 2519 เป็นคืนอันตราย
พวกเขาขอให้ข้าพเจ้าอยู่แต่ในที่ทำงาน ดึกๆ ให้ปิดประตูให้แน่นหนา
ทุกคนบอกว่าถ้าเขาจะกลับมาก่อนรุ่งสางจะเคาะประตูตามรหัสที่เรานัดแนะกันไว้ เวลาโทรศัพท์ก็บอกให้ข้าพเจ้าปล่อยให้โทรศัพท์ดังไปก่อน เขาจะวางหูทิ้ง 2 ครั้ง
ครั้งที่ 3 จึงให้ข้าพเจ้ารับสาย
ในเวลานั้นเราต่างเป็นเด็กหนุ่มสาวที่ยังอ่อนต่อโลกและชีวิต เราคิดไปตามประสาซื่อว่าเรารู้จักระมัดระวังตัวรอบคอบ
เราคิดไปตามประสาคนไร้เดียงสาว่าความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นนั้นคงเป็นเพียงแค่ใครถูกรุมกระทืบหรือใครถูกจับกุม
น้อยคนที่จะเตรียมใจรับเหตุการณ์รุนแรงขนาดสงครามกลางเมือง
ดึกของคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ข้าพเจ้านั่งฟังวิทยุยานเกราะด้วยหัวใจร้อนรนอยู่ตลอดทั้งคืน
ความรู้สึกและสมองสับสนมึนงงทำอะไรไม่ถูก ความรุนแรงเกิดขึ้นจริงๆ และมันรุนแรงยิ่งกว่าที่ราจะคาดคิดไปถึงมาก
ตลอดทั้งคืนไม่มีโทรศัพท์จากเพื่อนแม้แต่ครั้งเดียว รหัสสัญญาณเคาะประตูที่ข้าพเจ้าตั้งใจเงี่ยหูฟังอยู่ก็ไม่มีเลย
ข้าพเจ้านั่งอยู่ในความมืดตลอดค่ำคืนอันน่าหวาดหวั่นนั้นคนเดียวจนรุ่งเช้า การกระจายเสียงของวิทยุยานเกราะทำให้ข้าพเจ้านั่งลุกไม่เป็นปกติ
เช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ข้าพเจ้าหรี่เสียงวิทยุในที่ทำงานให้เบาที่สุด ไม่กล้าเปิดไฟ ไม่กล้าเปิดประตูที่ทำงาน
พยายามทำให้ผู้คนแถบนั้นเข้าใจว่าเช้าวันนี้ไม่มีใครมาทำงาน ข้าพเจ้าแอบมองลอดช่องเล็กๆ
ของประตูออกไปข้างนอกอยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกเป็นห่วงเพื่อน ความหวาดวิตกในความปลอดภัยของชีวิตคละเคล้าวุ่นวาย
ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าในช่วงวันที่ 5 ตุลาคม 2519 และ 6 ตุลาคม 2519
หูของข้าพเจ้าแว่วได้ยินเสียงของนักเขียนสตรีชื่อดังคนหนึ่งดังอยู่ทางวิทยุยานเกราะ
วันเวลา 20 ปีทำให้ข้าพเจ้าจดจำถ้อยคำเนื้อหาที่เธอพูดในวันนั้นไม่ได้
แต่ข้าพเจ้าจำอารมณ์ความรู้สึกในน้ำเสียงของเธอได้พอสมควร มันไม่ใช่น้ำเสียงสงบเย็นหรือให้สติข้อคิดอันใดแก่ผู้ได้ยินเสียงนั้นเลย
ข้าพเจ้ายิ้มขื่นๆ
ให้กับตนเองและผู้คนที่หนังเรื่องนี้พูดถึง
5 ตุลาคม 2539
นอกโรงภาพยนตร์
เสียงปืนเสียงระเบิดจางหายไปกับภาพสุดท้ายบนจอภาพยนตร์
ข้าพเจ้าเดินไปเข้าห้องน้ำนอกโรงภาพยนตร์ด้วยจิตใจว่างเปล่า และสงบอย่างไม่น่าเชื่อตัวเอง
ภาพที่เหมือนคุ้นเคยนั้นเหมือนกับห่างเหินยิ่งนัก
คนบ่อน้ำตาตื้นเช่นข้าพเจ้าแปลกใจตัวเองไม่น้อยที่ตนเองเพียงน้ำตาซึมนิดเดียวในช่วงหนึ่งของภาพยนตร์
เสียงของนักเขียนสตรีชื่อดังคนนั้นพูดข้อความเช่นใดหนอในช่วงวันที่
5-6 ตุลาคม เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ข้าพเจ้าอยากรู้ถึงความรู้สึกที่แท้จริงของคนๆ
หนึ่งในช่วงเวลาเดียวกันที่อยู่ต่างกันกว่ายี่สิบปี
จากวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ย้อนกลับไปช่วงเวลาใกล้กันของปี 2516 แล้วต่อมาเป็นวันที่
5 ตุลา 2539 ขณะที่ภาพยนตร์จากนวนิยายของเธอปรากฏเป็นภาพบนจอ
ข้าพเจ้าไม่อาจรู้เลยว่าระหว่างข้อมูล-จินตนาการ-และจิตสำนึกของคนๆ หนึ่ง ได้มีสิ่งใดเกิดขึ้น
นักเขียนคนที่เขียนเล่าเรื่องเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนกลายเป็นภาพบนแผ่นฟิล์ม จะคิดถึงช่วงเวลาวันที่ 5-6 ตุลาคม 2519
ด้วยความรู้สึกเช่นใดบ้างไหมข้าพเจ้าก็ไม่รู้ แต่หนังเรื่องนั้นมีคนซื้อตั๋วเข้าดูไม่น้อย
6 ตุลาคม 2519
ในที่ทำงาน
ข้าพเจ้าแอบซ่อนตัวอยู่ในที่ทำงานอย่างเงียบที่สุด
เสียงปืนดังแว่วมาจากวิทยุยานเกราะตลอดเวลา ข้าพเจ้าหวาดหวั่นขวัญเสีย
และไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่กล้าเปิดประตูออกไปข้างนอก ไม่กล้ากลับบ้าน
โลกวันนั้นมืดและโหดร้ายสิ้นดี
เรืองรอง รุ่งรัศมี
พิมพ์ครั้งแรก นสพ.ผู้จัดการ ฉบับวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 12-13 ตุลาคม 2539
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น