ค้นหาบทความ

วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กิ่งไผ่และดวงโคม




ปราศจากเนื้อรับประทานชีวิตก็อยู่ได้
เรือนอาศัยปราศจากไผ่ ไม่บังควร
ไร้เนื้อรับประทานทำให้ผอมผ่าย
ปราศจากไผ่ ไร้บุคลิก ความหมายใด
ผู้ผอมผ่ายยังบำรุงให้อ้วนท้วนสมบูรณ์ได้
ผู้ดาษดื่น ไร้ความหมาย ไม่อาจเยียวยารักษา
............
ซู ตง ปวอ กวีจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง เคยสรรเสริญความสูงส่งทระนงของไผ่เอาไว้ในบทกวีบทหนึ่งเช่นนี้

ไผ่จึงมีความหมายพิเศษในจินตภาพแบบจีน
ไผ่คือความสงบ สง่า ทระนง และแฝงนัยของความสันโดษ บริสุทธิ์ในคุณธรรม
ในครรลองชีวิตตามขนบจารีตโบราณ เรียวไผ่ของมารดาใช้โบยตีทำโทษเด็กน้อยให้รู้คิด รู้จำ และรู้ปฏิบัติตามครรลองครองธรรมชีวิต เรียวไผ่ได้สร้างบัณฑิตที่แท้ให้เติบใหญ่ เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยวในคุณธรรมมาแล้วมากมาย และวิญญูชนที่แท้ ย่อมแกร่งทระนง สง่างามข้ามยุคข้ามสมัย
ไผ่สูง ลำต้นแทงยอดสู่ฟ้า สง่า แต่ไม่เย่อหยิ่ง แม้ว่าไหวเอนเมื่อยามต้องลม แต่ว่าลำไผ่ย่อมตรง ไม่เคยคดงอ สง่า สันโดษ และทระนงในความเป็นไผ่ธรรมดาสามัญ มิเคยเปลี่ยนแปลง

ดวงโคม ส่องแสงสว่างยามมืด เป็นเครื่องส่องนำทางในยามเดินทาง แสงสว่างเรื่อเรืองจากดวงโคม เยือกเย็น มิได้ร้อนเร่ารุนแรง เป็นเพื่อนชีวิตอันสนิทชิดเชื้อ แฝงความอบอุ่น แม้ว่าจะดูสันโดษ เปลี่ยวเหงา
ดวงโคม เป็นเพื่อนของผู้ที่ต้องตรากตรำเหนื่อยยากในยามค่ำคืน เป็นเพื่อนในการศึกษาอ่านเขียน เพ่งพินิจ ครุ่นคิด ไตร่ตรอง ของบัณฑิตผู้ใฝ่รู้ในภูมิปัญญา คือมืออ่อนโยนลูบปลอบประโลมผู้ซึ่งคงความฝันใฝ่ คือความหวังเรื่อเรืองของผู้บากบั่นหมั่นเพียรในการกระทำ
ดวงโคม ส่องแสงแต่เพียงเรื่อเรือง แลดูริบหรี่แต่มิดับง่าย แม้เมื่อสายลมกรรโชกรุนแรง เรืองรองอยู่ในความมืด ให้เห็นหนทาง ให้เห็นขวากหนาม ให้เห็นฝีเท้าที่ก้าวมุ่งไป มิได้ร้อนแรง หากแต่อบอุ่นอ่อนโยน


เรืองรอง  รุ่งรัศมี


พิมพ์ครั้งแรกเป็น “คำนำ” หนังสือ กิ่งไผ่และดวงโคม ฉบับรวมเล่ม สำนักพิมพ์ ผู้จัดการ พ.ศ. 2537

1 ความคิดเห็น: