ชา : สีอะคริล บนแคนวาส
|
การต้อนรับอาคันตุกะ หรือแขกผู้มาเยือนด้วยน้ำชานั้น
มีหลักฐานบันทึกมาเนิ่นนาน อย่างน้อยในสมัยจิ้นตะวันออก (ค.ศ.314-420)
มีบทกวีบทหนึ่งของหวางเหมิงระบุอย่างชัดเจนว่า
ใช้น้ำชาคารวะอาคันตุกะผู้มาเยี่ยมเยือน
สมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279)
มีบทกวีวรรคหนึ่งที่เลื่องลือของตู้ไหล ซึ่งมักนำมาอ้างอิงเสมอ
เมื่อพูดถึงมิตรสหาย น้ำชา และสุรา ความว่า
“ในคืนหนาวเหน็บ อาคันตุกะมาเยือน
ให้น้ำชาต้อนรับแทนสุรา เตาไฟน้ำเดือด ไฟเริ่มแดง”
สมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911)
เจิ้งชิงได้เขียนบทกวีเกี่ยวกับการใช้น้ำชาต้อนรับแขก เป็นบทกวีวรรคหนึ่งที่ไพเราะและให้ภาพงดงาม
“น้ำค้างวสันต์จอกหนึ่งรั้งอาคันตุกะไว้ได้อีกชั่วครู่
ใต้สองแขนลมเย็นโชยผ่านดั่งว่าเป็นเซียนเหินบินไป”
การต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยน้ำชานี้
หากสืบสาวข้อมูลย้อนกลับไปจะพบว่า เริ่มตั้งแต่ปลายสมัยสามก๊ก (ค.ศ.220-280)
ซึ่งมีเรื่องเล่าดังนี้
ตั้งแต่สมัยที่ตู้คังรู้จักการทำสุรา
การต้อนรับแขกทั้งในราชสำนัก ในสังคมชั้นสูง และในหมู่ประชาชนทั่วไป
ล้วนแต่ใช้สุราเป็นเครื่องดื่มรับรอง แสดงการให้เกียรติของเจ้าภาพทั้งสิ้น
ในสมัยสามก๊ก
กษัตริย์ซุนฮ่าวซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของอู๋กว๋อ
เป็นกษัตริย์ผู้โง่เขลาเบาปัญญา ไม่สนใจกิจบ้านงานเมือง
รู้จักแต่หาความสำราญใส่ตัว ลุ่มหลงในสุรานารี เพื่อความเบิกบานสำราญใจ
จึงมักจัดงานเลี้ยงเหล่าขุนนางข้าราชบริพารเป็นประจำ โดยการจัดงานเลี้ยงแต่ละครั้ง
มักจะดื่มกินกันอย่างฟุ่มเฟือยจากเช้าจรดค่ำ
มีนางสนมกำนัลในและนางระบำรำฟ้อนร่วมอยู่ในงานเสมอ
สิ่งหนึ่งที่กษัตริย์ซุนฮ่าวชอบทำเสมอก็คือ การมอมสุราผู้มาร่วมงานให้เมามาย
มีขุนนางใหญ่คนหนึ่งชื่อเหวยจาง
เป็นคนดื่มสุราได้น้อย เพียงดื่มแค่ 2 จอกก็เกิดอาการเมามายแล้ว
ครั้งหนึ่งในงานเลี้ยง การดื่มสุราเวียนมาถึงรอบที่ 3
กษัตริย์ซุนฮ่าวสนุกกับการดื่มครั้งนี้เป็นอย่างมาก จึงสั่งให้ขุนนางข้าราชบริพารดื่มสุราของตนติดต่อกัน
3 จอก
เหวยจาวดื่มสุราเข้าไป 2 จอกแล้ว
กำลังอยู่ในอาการเมามาย ครั้นได้ยินบัญชาให้ดื่มสุราจอกที่ 3
จึงตกใจมาก ครั้นจะไม่ดื่มก็เกรงจะมีความผิด จึงตัดสินใจยกสุราจอกที่ 3 แล้วกลั้นใจดื่ม ยังไม่ทันวางจอกลงก็มีอาการทรงตัวไม่อยู่ ล้มลงกับพื้นทันที
เป็นอันว่างานเลี้ยงต้องเลิกล้มไปโดยปริยาย
จากการเมามายจนทรงตัวไม่อยู่ของเหวยจาวนี่เอง
เวลาล่วงเข้าเดือนสิบฤดูชิวเทียน ดอกไม้นานาพรรณในอุทยานพากันเบ่งบ่านอวดโฉมงดงาม
เหวยจาวกำลังดื่มน้ำชา ชมดอกไม้ เป็นเพื่อนกษัตริย์ซุนฮ่าว
ขณะหนึ่ง กษัตริย์ซุนฮ่าว ถามว่า “ทำไมความสามารถในการดื่มสุราของท่านจึงไม่พัฒนาขึ้นเลย”
เหวยจาวตอบว่า “ตั้งแต่เมามายครั้งนั้นแล้ว
เมื่ออยู่ที่บ้านข้าก็หมั่นเพียรฝึกฝนดื่มสุราอยู่เป็นนิจ
แต่ละมื้ออาหารข้าล้วนดื่มสุราไปด้วย แต่ทำอย่างไรก็ไม่อาจดื่มให้มากกว่าเดิมได้
ดูท่าชะตากำหนดให้ข้าดื่มสุราได้เพียงสองจอกกระมัง”
กษัตริย์ซุนฮ่าวได้ฟังดังนั้นจึงส่ายหน้าด้วยความระอา
พลางว่า “เป็นถึงขุนนางอำมาตย์ระดับผู้ใหญ่
แต่ความสามารถในการดื่มกินมีน้อยถึงเพียงนี้ ช่างใช้ไม่ได้เอาเสียเลย”
เหวยจาวยกจอกน้ำชาขึ้นพลางกล่าวว่า
“ภาษิตชาวบ้านกล่าวไว้ดีนัก
กบไสไม้นั้นเหมาะกับการใช้ไสไม้ให้เรียบ
ส่วนเลื่อยนั้นเหมาะกับการใช้ตัดไม้ออกเป็นท่อน แต่ละสิ่งแต่ละอย่างล้วนมีข้อเด่นของตนเอง
ไม่อาจนำมาใช้แทนกันได้ ข้าผู้น้อยนั้น แม้ว่าจะดื่มสุราได้เพียงน้อยนิด
แต่หากให้ดื่มน้ำชาละก็ แต่ละครั้งข้าสามารถดื่มชาป้านใหญ่ๆ
ได้เป็นจำนวนหลายป้านเลยทีเดียว หากไม่เชื่อ ข้าจะพิสูจน์ให้ท่านดูให้ประจักษ์ตา”
ว่าแล้วเหวยจาวก็ยกป้านน้ำชาขึ้นดื่มติดต่อกันทีเดียว
3 ป้าน
กษัตริย์ซุนฮ่าวเห็นดังนั้นจึงกล่าวว่า
“ความสามารถในการดื่มชาของท่านนั้นสูงล้ำ
นับแต่นี้ไปในงานเลี้ยงสุราทุกครั้ง ข้าอนุญาตให้ท่านดื่มชาแทนสุราได้
แต่เรื่องนี้ไม่ควรแพร่งพรายออกไปภายนอก
มิฉะนั้นแล้วขุนนางอำมาตย์ท่านอื่นจะเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้”
เหวยจาวยินดียิ่งนัก จึงค้อมคารวะแสดงความขอบคุณ
ต่อมา กษัตริย์ซุนฮ่าวจัดงานเลี้ยงเหล่าขุนนางชั้นสูงในราชสำนัก
มีบัญชาให้ขันทีเตรียมน้ำชาสำหรับเหวยจาว 2 ป้าน
เมื่อพระองค์และเหล่าขุนนางอำมาตย์ดื่มสุราจอกหนึ่ง เหวยจาวก็ดื่มน้ำชาจอกหนึ่ง
ดื่มกันจากเช้าจนเที่ยง ขุนนางใหญ่หลายคนเมามายล้มฟุบกับโต๊ะแล้ว
แต่เหวยจางยังคงกระปรี้กระเปร่า ชักชวนให้ผู้อื่นดื่มกินต่อไป
กระทั่งทุกคนในงานเลี้ยงล้วนเมามาย มีเหวยจาวเพียงผู้เดียวที่ยังครองสติได้อยู่
เมื่อข่าวคราวเรื่องนี้แพร่กระจายออกไป
ภายในราชสำนักและในหมู่ประชาชนทั่วไปจึงหันมานิยมใช้น้ำชาแทนสุราในการรับรองอาคันตุกะ
และกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในวงกว้างจวบถึงปัจจุบัน
เรืองรอง รุ่งรัศมี
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในหนังสือ รวยรินกลิ่นชา ฉบับพิมพ์ครั้งแรก
แพรวสำนักพิมพ์ พ.ศ.2543
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น