ค้นหาบทความ

วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

คนช่างกังวล

            แคว้นฉีกว๋อมีชายช่างกังวลอยู่คนหนึ่ง เขาเฝ้าแต่กลุ้มกังวลไปเสียทุกเรื่อง ประเดี๋ยวเกรงว่าฟ้าจะถล่มลงมา ประเดี๋ยวเกรงว่าแผ่นดินจะทลายลงไป และเขาเฝ้าแต่กลัดกลุ้มกังวลว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ตนเองก็จะไม่มีที่หลบซ่อนตัวเสียให้พ้นภัย กระทั่งเป็นเหตุให้เขาถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ ตกอยู่ในความคิดฟุ้งซ่านอย่างกลุ้มกังวล
            มีชายอีกผู้หนึ่ง ซึ่งเฝ้ามองพฤติกรรมของชายช่างกังวลนี้อยู่ด้วยความห่วงใย ดังนั้น เขาจึงได้ไปว่ากล่าวตักเตือนด้วยความปรารถนาดี
            “นี่แน่ะท่าน ท่านเป็นอะไรไปหรือ ? ลองแหงนมองดูท้องฟ้านั้นสิ ท้องฟ้าน่ะ เป็นเพียงอากาศธาตุที่รวมตัวกันอยู่ เจ้าสิ่งนี้น่ะ จับเอาที่ไหนก็ได้ มันก็เหมือนกับร่างกายของเรา บัดเดี๋ยวหดตัว บัดเดี๋ยวยืดตัว ประเดี๋ยวสูดลมหายใจเข้า และอีกประเดี๋ยวหนึ่งปล่อยลมหายใจออก อากัปกิริยาอันเรากระทำอยู่ทั้งวันนี้ ทั้งท้องฟ้าและแผ่นดินต่างก็กระทำอยู่ทั้งวันเช่นเดียวกัน ที่ท่านเฝ้าแต่กลุ้มกังวลกับเรื่องจำพวกที่ว่าฟ้าจะถล่มลงมานั้น ไยจะมิใช่เรื่องอันชวนขันหรอกหรือ ?
            ชายผู้ปรารถนาดีอธิบายยืดยาว หากแต่ชายช่างกังวลก็ยังคงมีเรื่องอันน่ากังวลของเขาอีก
            ถึงท้องฟ้าจะเป็นอากาศธาตุที่รวมตัวกันก็เถอะ แล้วดวงอาทิตย์เอย ดวงจันทร์เอย กระทั่งดวงดาวที่แขวนอยู่บนท้องฟ้าเอย สิ่งอันแขวนลอยอยู่บนท้องฟ้าเหล่านี้ จะไม่รู้จักร่วงหล่นลงมาบ้างเลยเชียวหรือ ?
            “เอาละ... ไม่ว่าจะเป็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว สิ่งเหล่านี้ต่างก็ยังคงเป็นการรวมตัวกันของอากาศธาตุเหมือนกัน มันเพียงแต่สามารถเปล่งแสงสว่างออกมาได้ก็เท่านั้น เอาละ... ถึงว่าสิ่งเหล่านี้จะร่วงหล่นลงมา แต่ก็จะไม่สามารถทำอันตรายต่อเราแม้เพียงปลายขน”
“ถ้างั้น แล้วถ้าแผ่นดินทลายลงไปบ้างล่ะ จะทำยังไง ?” ชายช่างกังวลยังไม่คลายสิ้นซึ่งความกังวล
“แผ่นดินหรือ ? แผ่นดินก็คือการรวมตัวกันของก้อนดินเท่านั้น ก้อนดินเหล่านั้นอุดช่องว่างทุกด้านเสียจนสนิทแน่น ท่านมองดูสิ ทุกหนทุกแห่งมิใช่เต็มไปด้วยก้อนดินหรอกหรือ ? นี่ก็เปรียบได้กับเรา ซึ่งบัดเดี๋ยวหนึ่งก้าวเดิน บัดเดี๋ยวหนึ่งกระโดดตัวลอย เรานั้นทำอากัปกิริยาเช่นนี้อยู่ตลอดทั้งวัน แผ่นดินก็ทำอยู่เช่นเดียวกัน ที่ท่านเฝ้าแต่กลุ้มกังวลกับเรื่องจำพวกที่ว่าแผ่นดินจะทลายลงไปนั้น ไยจะมิใช่เรื่องอันชวนขันหรอกหรือ ?
ชายช่างกังวลคนนั้น เมื่อได้ฟังคำอธิบายเช่นนี้แล้วก็รู้สึกรื่นเริงขึ้นมา ชายผู้มาชี้ถึงเหตุผลด้วยความปรารถนาดีผู้นั้น เมื่อพบว่าตนสามารถขจัดความกลุ้มกังวลในใจของอีกฝ่ายหนึ่งได้ก็รู้สึกยินดีอยู่ในใจเช่นกัน

เมื่อ “จั่งหลูจื่อ” ได้ฟังเรื่องราวเช่นนี้ จึงได้พูดขึ้นว่า
“สายรุ้ง เมฆหมอก ลม และฝน ต่างก็คือการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ต่างก็คืออากาศธาตุอันรวมตัวซ้อนทับกันและแสดงตัวออกมาบนท้องฟ้า บรรดาภูเขา แม่น้ำ กระทั่งถึงทะเล โลหะ ก้อนหิน ไฟ และไม้ ต่างคือ “รูปทรง” อันรวมตัวกันและแสดงตัวออกมาบนพื้นดิน ถ้าจะกล่าวว่า ท้องฟ้าและแผ่นดินคือการรวมตัวกันของอากาศธาตุและดินแล้วไซร้ ไยจึงสรุปไปอย่างเด็ดขาดว่า มันจะไม่มีการพินาศสลายด้วยเล่า แน่นอนว่าท้องฟ้าและแผ่นดินเป็นเพียงธุลีอันน้อยนิด ซึ่งดำรงอยู่ในอวกาศอันมิรู้สิ้น ในบรรดาสิ่งอันมีรูปทรงนั้น น่าจะเป็นสิ่งที่ใหญ่ที่สุด ดังนั้น มันจึงยากที่จะสิ้นสุด และยากที่จะหยั่งรู้ และมันจำเป็นที่จกต้องเป็นไปเช่นนี้ การที่มัวแต่กลัดกลุ้มกังวลว่ามันจะพินาศสลายหรือไม่เสียแต่บัดนี้ น่าจะเป็นการกังวลที่มากเกินไป ทว่า... การจะสรุปลงไปเด็ดขาดว่า มันจะไม่รู้จักพินาศสลายนั้น ก็น่าจะไม่ถูกต้องนัก ในเมื่อท้องฟ้าและแผ่นดินอาจพินาศสลายได้ ก็ย่อมจะมีสักวันหนึ่งที่มันจะเสื่อมสลายลงไป เมื่อมีจุดเริ่มย่อมมีจุดจบ เมื่อมีรูปทรงก็ย่อมมีการเสื่อมสลาย เมื่อคิดว่าย่อมจะมีวันเช่นนั้น ไยจะไม่ยอมให้มีความกลัดกลุ้มกังวลบ้างเล่า ?

เมื่อ “เลี่ยจื่อ” ได้ฟังคำกล่าวนี้ จึงได้กล่าวว่า
“การกล่าวว่า ท้องฟ้าและแผ่นดินนั้นพินาศสลายลงได้ เป็นสิ่งที่ผิด การกล่าวว่าท้องฟ้าและแผ่นดินนั้นจะไม่พินาศสลาย ก็เป็นสิ่งที่ผิด หากกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว การที่มันจะพินาศสลายหรือไม่นั้น เป็นสิ่งซึ่งเราไม่อาจรู้ได้ การอยากรู้ว่ามันจะพินาศสลายก็ดี หรือไม่พินาศสลายก็ดี เกี่ยวอะไรกับเราด้วยเล่า เรื่องพวกนี้ต่างก็เป็นเรื่องที่ค่อยมาว่ากันเมื่อเหตุการณ์มาถึงทั้งนั้น หากมันไม่พินาศสลาย มันก็จะอยู่ร่วมกับมนุษย์ต่อไปโดยสมบูรณ์ และหากว่ามันจะพินาศสลาย มนุษย์ก็จะพินาศสลายไปพร้อมกับมัน เมื่อมีชีวิตอยู่นั้น ก็ไม่ควรที่จะไปกลุ้มกังวลถึงยามตายไป และเมื่อตายไปก็ไม่ควรจะมัวอาลัยอยู่กับยามที่ชีวิตยังมีอยู่ เมื่อเกิดมาในโลกนี้แล้วก็ให้มันเกิดเถิด เมื่อจากโลกนี้ไปแล้วก็ให้มันจากไปเสียเถิด กลุ้มกังวลอันใดกับการที่ท้องฟ้าและแผ่นดินจะพินาศสลายหรือไม่ไยเล่า...”


เลี่ยจื่อ


เรืองรอง  รุ่งรัศมี  แปล
1987

พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในหนังสือ มณีปัญญา ปรัชญานิพนธ์จีนโบราณ กรกฎาคม พ.ศ.2530

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น