ค้นหาบทความ

วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

รักเธอ


爱 你
รักเธอ 
(บทกวีของ สีมู่หรง)

在我心中荡漾的 是一片飘浮的云
ที่กระเพื่อมอยู่ในหัวใจของฉัน คือปุยเมฆที่ลอยล่องปุยหนึ่ง
你尽管说吧 说你爱我或者不爱
เธอจงบอกกล่าวออกมา บอกว่าเธอรักหรือไม่รักฉัน
你尽管去选择那些难懂的字句
เธอจงเลือกเอาบรรดาถ้อยคำที่ยากแก่การทำความเข้าใจเหล่านั้นเถิด
把它们反反复复地排列开来
เอาคำเหล่านั้นร้อยเรียงออกมาซ้ำๆไปมา

你尽管说吧 朋友
เธอพูดออกมาได้เต็มที่เลย เพื่อนของฉัน
你的心情 我都会明白
ความรู้สึกในใจของเธอ ฉันล้วนเข้าใจ
你尽管变吧 变得快乐或者冷漠
เธอเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เต็มที่เลย เปลี่ยนให้เริงร่าหรือเฉยชา
你尽管去试戴所有的复杂的面具
เธอลองสวมใส่หน้ากากที่ซับซ้อนได้เต็มที่เลย
走一些曲折的路
เพื่อเดินไปบนทางที่วกวน

你尽管去做吧 朋友
 เธอทำให้เต็มที่ได้เลย เพื่อนของฉัน
你的心情我都会明白
ความรู้สึกในใจของเธอ ฉันล้วนเข้าใจ
人世间 尽管有变迁
ชีวิตนั้น แม้จะมีความผันแปรเพียงใด
友朋里 尽管有难测的胸怀
 ในหมู่มิตร แม้จะมีหัวใจที่ยากจะหยั่งคาด
我只知道 朋友
ฉันรู้เพียงว่า มิตรรัก
你是我最初和最後的爱
เธอคือรักเริ่มแรกที่สุดและรักสุดท้ายของฉัน

在迢遥的星空上 我是你的
ในฟากฟ้าที่ดารดาษด้วยดวงดาวไกลโพ้น ฉันเป็นของเธอ
我是你的
ฉันเป็นของเธอ

永远的流浪者 用漂泊的一生
ผู้พเนจรนิรันดร ใช้ชีวิตทั้งชีวิตที่ระเหระหน
安静的守护著
ปกป้องดูแลอยู่อย่างสงบ
你的温柔 和你的幸福
ความอ่อนโยนของเธอ และความสุขเกษมของเธอ
可是 朋友
แต่ทว่า เพื่อนรัก
漂流在恒星的走廊上
 ร่อนเร่อยู่บนระเบียงทางเดินแห่งดวงดาว
想你 却无法传递
คิดถึงเธอ แต่กลับไร้หนทางสื่อสาร

流浪者的心情啊
ห้วงดวงใจของผู้พเนจรเอย
朋友 你可明白
มิตรรัก เธอเข้าใจหรือไม่

爱你 永远
รักเธอ ตราบนิรันดร

席慕容 (1943- )  
สีมู่หรง (1943 - )

เรืองรอง รุ่งรัศมี : แปล
กุมภาพันธ์ 2013

จะไม่ให้คิดถึงเธอได้อย่างไรกัน 教我如何不想他?

บทกวีนี้ของหลิวป้านหนง (1891-1934) เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในฐานะกวีจีนกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มเขียน “กลอนเปล่า” และได้ถูกนำมาทำเป็นเพลง “จะไม่ให้ฉันรักเธอได้อย่างไรกัน” ผู้ใส่ทำนองคือ จ้าว หยวนเริ่น : 趙元任 (1892-1982) เสียงร้องของ ซืออี้กุย : 斯義桂  (1915-1994) นับเป็นเพลงเก่ามากๆ อีกเพลงหนึ่ง ที่รู้จักกันในหมู่ผู้ฟังเพลงจีนอย่างลงลึก เพลงนี้ถูกนำไปใส่ไว้ในภาพยนตร์หลายเรื่อง และหลายยุคสมัย ถือเป็นเพลงจีนระดับ “ขึ้นหิ้ง” ตลอดกาลอีกเพลงหนึ่ง


天上飄著些微雲
地上吹著些微風啊!
微風吹動了我頭髮
教我如何不想他?
月光戀愛著海洋
海洋戀愛著月光啊!
這般蜜也似的銀夜
教我如何不想他?

水面落花慢慢流
水底魚兒慢慢游啊!
燕子你說些什麼話
教我如何不想他?
枯樹在冷風裡搖
野火在暮色中燒啊!
西天還有些兒殘霞
教我如何不想他?



บนฟ้านั้นเมฆบางฟ่องลอย
บนผืนดินสายลมแผ่วพริ้ว
อา !
สายลมแผ่วพริ้วต้องเส้นผมของฉัน
จะไม่ให้ฉันคิดถึงเธอได้อย่างไรกัน

แสงจันทร์พ้อรักกับท้องทะเล
ท้องทะเลพ้อรักอยู่กับแสงจันทร์
อา !
ค่ำคืนสีเงินราวน้ำผึ้งนี้
จะไม่ให้ฉันคิดถึงเธอได้อย่างไรกัน

ดอกไม้โรยร่วงอยู่บนผิวน้ำเรื่อยไหล
ฝูงปลาแหวกว่ายอยู่ในสายน้ำ
อา !
นางแอ่นเจ้าเอยเจ้าเอ่ยเอื้อนคำใดหรือ ?
จะไม่ให้ฉันคิดถึงเธอได้อย่างไรกัน

ต้นไม้แห้งโยกไหวในสายลมหนาว
ไฟป่าไหม้ลามในยามเย็นย่ำ
อา !
ทางเบื้องประจิมยังมีเมฆบางหลงเหลือบางเบา
จะไม่ให้ฉันคิดถึงเธอได้อย่างไรกัน


หลิว ป้าน หนง
กวีจีนรุ่นใหม่ยุคต้น



เรืองรอง รุ่งรัศมี แปล


รวมเล่มพิมพ์ครั้งแรก ในหนังสือ “เพราะฉันอายุสามสิบ” สำนักพิมพ์ฉับแกระ พ.ศ.2530

ฉันในวัยเยาว์ 少年的我

“ฉันในวัยเยาว์” ขับร้องโดย เหลียง ผิง / แต่งคำร้อง, ทำนอง โดย หลี จิ่น กวัง เป็นเพลงปี 1946 ครั้งนั้นเทคโนโลยีการอัดเสียงยังเป็นแบบเก่า แผ่นเสียงยุคนั้นเป็นแผ่นครั่ง การอัดเสียงต้องยกวงดนตรีไปบรรเลงพร้อมกับนักร้อง ทุกอย่างสด และจริง
ช่วงปี 1946 ธุรกิจบรรเทิงของจีนยังเจริญรุ่งเรืองอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ภาพยนตร์เริ่มเปลี่ยนผ่านจากยุคหนังเงียบ ขาวดำ มาสู่ยุคหนังเสียง เพลงต่างๆ ที่โด่งดังในวงกว้างมักจะเป็นเพลงในหนัง และนี่คือเพลงดังเพลงหนึ่งในหนังยุคนั้น


少年的我
ฉันในวัยเยาว์
曲:黎錦光/詞:黎錦光/唱:梁萍 
ทำนอง / คำร้อง : หลีจิ่นกวัง / ขับร้อง : เหลียงผิง

春天的花是多麼的香
ดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิช่างหอมเสียนี่กระไร
秋天的月是多麼的亮
ดวงจันทร์ในฤดูใบไม้ร่วงช่างสว่างเสียนี่กระไร
少年的我是多麼的快樂
ฉันซึ่งอยู่ในวัยเยาว์ช่างมีความสุขเสียนี่กระไร
美麗的她不知怎麼樣
เธอที่แสนงามไม่รู้จะหน้าตาอย่างไร

春天的花會逢春開放
ดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิพอถึงฤดูใบไม้ผลิก็ผลิบาน
秋天的月會逢秋明亮
ดวงจันทร์ในฤดูใบไม้ร่วงพอถึงฤดูใบไม้ร่วงก็แจ่มกระจ่าง
少年的我只有今天快樂
ฉันซึ่งอยู่ในวัยเยาว์มีแต่ความสุขในวันนี้
美麗的她不知怎麼樣
เธอที่แสนงามไม่รู้จะเป็นอย่างไร
寶貴的情像月亮
ความรักอันสูงค่าก็เหมือนดั่งดวงจันทร์
甜蜜的愛像花香
ความรักที่แสนหวานก็เหมือนกับกลิ่นหอมของดอกไม้
少年的我不努力
ฉันซึ่งอยู่ในวัยเยาว์หากไม่ขยันหมั่นเพียร
怎能夠使她快樂歡唱 
จะทำให้เธอมีความสุขร้องเพลงด้วยความรื่นเริงได้อย่างไร
  
เรืองรอง รุ่งรัศมี : แปล 
จากเพลง : เส้าเหนียนเตอหว่อ 少年的我

Check out this video on YouTube:
http://www.youtube.com/watchv=l8NEM2JqHKI&feature=youtube_gdata_player

คนขายตุ๊กตา


























              ตุ๊กตาอัดลมเสียบกับแกนไม้ เขาแบกเดินขายไปทั่ว คนหนึ่งอยู่หน้า คนหนึ่งอยู่หลัง ไม่รู้ว่าเขาเดินมาจากทางไหน และเดินกันมาไกลเท่าไหร่แล้ว
            ตั้งแต่เห็นเขาในระยะสายตา จนกระทั่งเขาเดินลับตาไป ไม่ปรากฏว่ามีคนเรียกซื้อของเล่นอัดลมของเขา
            นั่นคือความหวัง คือการดำรงชีพ คือความอดทน และการต่อสู้ดิ้นรน
            ตุ๊กตาอัดลม แกว่งไกวไปกับแรงเดินและแรงลม หนักและเบาอยู่บนเส้นทางชีวิตของคนทำมาหากิน
            แม้จะเดินลับหายไปจากระยะสายตา แต่ในที่ใดที่หนึ่งบนเส้นทางชีวิต พวกเขายังคงต้องเดินต่อไป

          




          เรืองรอง  รุ่งรัศมี

         
พิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “ย่ำเดือนกลับมาหยาดเหงื่อหอม” นิตยสาร หัวใจเดียวกัน ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๗ เดือนธันวาคม ๒๕๕๒

วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

อาบแสงจันทร์


แม้แสงจันทร์มิได้ส่องฉายมาถึง แต่ในค่ำคืน ก็ยังมีทางที่สามารถก้าวเดินไปได้


            ค่ำวันพระจันทร์เต็มดวงคืนหนึ่ง เกิดความรู้สึกอยากออกไปถ่ายรูปบรรยากาศที่มีดวงจันทร์ เวลานั้นข้าพเจ้ายังไม่ค่อยคุ้นเคยกับกล้องถ่ายรูป ไม่มีความรู้เชิงเทคนิค และเคยถ่ายรูปกลางคืนมานับครั้งได้
             มีเพียงจินตนาการและความตั้งใจ
            ออกจากบ้านไปตั้งแต่แดดยังไม่หมด ไปถึงจุดหมายก็เป็นกลางคืน
            ถ่ายรูปคืนนั้นด้วยการเดาไป เรียนรู้ไป รู้ได้ในการกดชัตเตอร์ไม่มากครั้งว่า ไม่น่าจะได้ผลงานที่ดีกระไรนัก
            คืนนั้นทั้งคืน ไม่ได้รูปบรรยากาศที่มีดวงจันทร์อย่างน่าพอใจเลยแม้แต่รูปเดียว ยังดีที่ถ่ายรูปด้วยกล้องดิจิทัล ซึ่งไม่ต้องสิ้นเปลืองฟิล์ม
            แม้ไม่ได้ภาพบรรยากาศที่มีดวงจันทร์อย่างคาดหวัง แต่ก็ได้ภาพบรรยากาศกลางคืนมาบ้าง
            เวลาที่ทำสิ่งที่คาดหมายไม่ได้อย่างใจ ความรู้สึกสนุกและความมุ่งมั่นตั้งใจจะเจือจางเร็ว
            คืนนั้นข้าพเจ้าเก็บอุปกรณ์ในเวลาไม่เกินสองชั่วโมง ไม่สมหวังแต่ก็ไม่ถึงกับผิดหวัง หงุดหงิด รำคาญใจ
            เลือกรูปไปล้างอัดเมื่อผ่านเวลาไปช่วงหนึ่ง พบว่ามีรูปที่รู้สึกชอบอยู่หลายรูปเหมือนกัน
            รูปหนึ่งเป็นรูปประตูไม้ในตรอกซอย แสงไฟฟ้าส่องไปที่ประตู แสง บรรยากาศอวลอยู่ในรูป
            ประตูบางบานเราไม่ได้เดินผ่านเข้าไป แต่เราก็ได้เดินผ่านที่ตรงบริเวณนั้น
            คืนนั้นข้าพเจ้าเดินถ่ายรูปอาบแสงจันทร์อยู่หลายชั่วโมง แม้จะไม่ได้รูปดวงจันทร์เลย แต่ก็ได้เดินอาบแสงจันทร์


   เรืองรอง  รุ่งรัศมี
   ๒๖ มิถุนายน ๒๐๐๙


พิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “ย่ำเดือนกลับมาหยาดเหงื่อหอม” นิตยสาร หัวใจเดียวกัน ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓ เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๒

อายุการใช้งาน

การไหลผ่านของกาลเวลา
วันเวลา เคลื่อนตัวไปเร็วหรือช้ามันก็เคลื่อนผ่านชีวิตของสรรพสิ่ง.
ใช่เพียงเฉพาะสิ่งมีชีวิตเท่านั้นที่มีกำหนดขอบเขตอายุขัย.
แม้สิ่งไร้ชีวิตและสิ่งที่เป็นนามธรรมก็มีขอบเขตจำกัดที่แน่นอนของมัน
ความลงตัว บางทีก็เป็นความประจวบเหมาะ บังเอิญ ของเหตุการณ์ บุคคล และการกระทำ
ใบไม้ที่ร่วงลงมาในแสงเงาสวยเบื้องหน้าช่างภาพที่อุปกรณ์และอารมณ์พร้อมพรั่งต่อการบันทึกเรื่องราวการไหลผ่านของกาลเวลา เป็นความประจวบเหมาะที่มิใช่เพียงความประจวบเหมาะ เป็นความบังเอิญที่มิใช่เพียงความบังเอิญ ที่คนๆ หนึ่งสามารถเก็บชั่วขณะการไหลผ่านของกาลเวลาเอาไว้เป็นภาพถ่าย
หากช่างภาพคนนั้นมิได้ตระเตรียมอุปกรณ์เอาไว้พรั่งพร้อม เขาย่อมไม่อาจบันทึกภาพในเสี้ยววินาทีนั้นเอาไว้ได้
หากเขาไม่ได้เรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์เชิงเทคนิคการถ่ายภาพจนจัดเจน เขาอาจไม่สามารถบันทึกภาพได้ดีเท่าที่เขาต้องการ
หากเขามิได้มีสายตาที่มองเห็นความงาม เขาอาจปล่อยให้ภาพนั้นผ่านไป
หากเขามิได้มีความคิดและภูมิปัญญาที่จะมองเห็นเรื่องราวความลึกซึ้งของโลกและชีวิต เขาอาจเป็นเพียงคนถ่ายภาพเก่งทั่วๆ ไปคนหนึ่ง ที่ไม่สามารถยกระดับผลงานสู่ความเป็นศิลปะได้
แสง เงา ใบไม้ นั้นอาจเป็นปัจจัยที่เหนือวิสัยที่เราจะควบคุม ความเป็นไปของธรรมชาติ เป็นสิ่งยากที่มนุษย์เล็กๆคนหนึ่งสามารถบงการ ควบคุม ได้
ชีวิตของคนก็เป็นส่วนหนึ่งของวิถีธรรมชาติ เกิด ดับ เจริญ เสื่อมสูญ ไปตามวิถีของสรรพสิ่งที่ต้องเสื่อมสูญ นี่คือกำหนดอายุใช้งานกระมัง เพียงแต่มนุษย์ไม่อาจจะรู้แน่ชัดว่ากำหนดอายุใช้งานของชีวิตตนจะสิ้นสุดลง ณ วินาทีใด
นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่มนุษย์ควรกระทำตนให้เข้าสู่พรมแดนที่ตนเองพร้อมจะ ใช้งานได้ เพราะว่าหากมิเป็นเช่นนั้นแล้ว เขาอาจผ่านชีวิตไปอย่างว่างเปล่า และโดยไม่ทันรู้ตัวก็ล่วงผ่านกำหนดอายุใช้งานเสียแล้ว
การพ้นกำหนดอายุใช้งานของมนุษย์ มิใช่เพียงการตายดับสิ้นอายุขัย หากแต่มีลักษณะคล้ายๆ กับฟิล์มที่หมดอายุ คืออาจยังใช้ถ่ายภาพได้ แต่ก็ไม่ได้ภาพที่มีคุณภาพที่ดี หรืออาจคล้ายอาหารกระป๋องที่พ้นกำหนดอายุ ที่เมื่อกินเข้าไปแล้วร่างกายอาจไม่สามารถทนทานได้
ความหวัง ความฝัน ความมุ่งมาดปรารถนาทั้งหลาย ต้องการความลงตัวเช่นกัน จึงจะเกิดเป็นจริงขึ้นในชีวิตได้
ที่ยุ่งยากซับซ้อนคือ เราไม่อาจมองเห็น "กำหนดอายุใช้งาน" ได้ชัดเจน
วันเวลาเคลื่อนตัวเร็วหรือช้า มันก็ยังคงเคลื่อนตัวของมันต่อไป เราตระหนักถึง "กำหนดอายุใช้งาน" หรือไม่ว่าอาจสิ้นสุด ณ ลมหายใจต่อไป. 

เรืองรอง รุ่งรัศมี
12 / 2002


พิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ "สายลมในกิ่งหลิว" เนชั่นสุดสัปดาห์ 9-15/12/2545