ค้นหาบทความ

วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เซียน และเทพ


            บนหิ้งบูชาของชาวจีน มีรูปเคารพอะไรบ้าง?
            พระพุทธรูป
            เจ้าแม่กวนอิม
            แป๊ะกง
            ตี่จู๋เอี๊ย
            จี้กง
            ฮก ลก ซิ่ว
            ไท่ เสียง เล่า กุน
            ไฉ่ สิ่ง เอี๊ย
            ฮู้ หรือผ้ายันต์
            และ ฯลฯ
            นอกจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ชาวจีนยังเคารพบรรพบุรุษ การกราบไหว้บรรพบุรุษ เป็นคติความเชื่อที่มีลักษณะพิเศษโดดเด่นแตกต่างจากคติธรรมเนียมของชนชาติอื่น
            การกราบไหว้บูชารูปเคารพต่างๆ ของชาวจีน คือปรากฏการณ์ที่สะท้อนอุดมคติอันสืบต่อการมายาวนาน เป็นขนบประเพณีและความเชื่อเชิงจริยธรรม คติความเชื่อนี้ ผสมผสานทั้งแนวคิดฝ่ายพุทธ แนวคิดฝ่ายเต๋า และขงจื๊อ
            พุทธแบบจีน ผสมผสานอุดมคติแบบโพธิสัตว์และการปล่อยวางหลุดพ้นเข้าไว้ด้วยกัน ขณะหนึ่งจึงมีแนวคิดแบบอยู่เหนือโลก แต่พร้อมกันก็มีแนวคิดแบบอยู่กับโลกด้วย พุทธตามอุดมคติแบบจีนจึงออกจะเป็นพุทธแบบไม่นิ่งดูดาย เป็นแนวคิดแบบคาดหวังให้เข้าร่วมแบกรับภารกิจของสังคม และของโลก
            รูปเทพของจีนน่าจะจัดอยู่ในกลุ่มเทวรูป เทวรูปโดยหลักการแล้วคือรูปเทพเทวา หรือ 'เสิน' (shen) (จีนกลางอ่าน 'เสิน' แต้จิ๋วอ่าน 'ซิ้ง)
            ไฉ่สิ่งเอี๊ย (cai shen ye : ไฉ เสิน เหยฺ เสียงจีนกลาง) คือ เทพเจ้าแห่งทรัพย์สมบัติ (ไฉ cai : ทรัพย์สมบัติ, shen เสิน = เทพ, ye : เหยฺ = ผู้เฒ่า, คำที่เติมเข้าไปเพื่อใช้เรียกขุนนาง, คหบดี หรือเทพเจ้า) เป็นเทพเจ้าที่ชาวจีนกราบไหว้ขอพรให้ร่ำรวย ช่วยนำพาทรัพย์สมบัติมาให้
            เทพที่คล้ายไฉ่สิ่งเอี๊ย คือให้โชคลาภความร่ำรวย ยังนิยม ฮก ลก ซิ่ว (fu lu shou : ฝู ลู่ โซ่ว) ฝู หรือ ฮก คือ ลาภสมบัติ, ทรัพย์สิน และความสุข ความโชคดี, ลู่ หรือ ลก คือ ยศสมบัติ ตำแหน่งราชการ หรือสถานะทางสังคม, โซ่ว หรือ ซิ่ว คือการมีอายุยืน  (บางทีแทน ฮก ลก ซิ่ว ด้วยรูปค้างคาว, กวาง และลูกท้อ ในเชิงสัญลักษณ์)
            ความคิดเรื่องมีอายุยืน หรือมีชีวิตอมตะ ไปพ้องกับความคิดเรื่อง 'เซียน (xian) ในลัทธิเต๋า เซียน คือผู้บรรลุมรรคผลเป็นคนเหนือโลกที่ไม่ตาย การบรรลุเซียนอาจจะเป็นผลจากการบำเพ็ญเพียรในทางธรรม หรือจากการได้กินยาอายุวัฒนะ หรือ 'เซียนตัน' (xian dan) ก็ได้
            'เซียน' ในแนวคิดจีนมีมากมาย มีรูปลักษณ์ต่างๆ กัน 'โป๊ยเซียน' หรือ 'แปดเซียน' (ba xian : ปาเซียน) คือเทพ 8 องค์ในตำนาน ที่มีอภินิหาร และชอบช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก เรื่องเล่าเกี่ยวกับ 'เซียน' และ '8 เซียน' นอกจากเป็นเรื่องเชิงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แล้ว หลายเรื่องยังมีลักษณะแบบเรื่องของจอมยุทธ์ด้วย
            ในแนวคิดจีน เซียนกับเทพ จะแยกแยะลักษณะคุณสมบัติที่แตกต่างอย่างเด็ดขาดชัดเจนยาก และเส้นแบ่งระหว่างเทพในแนวคิดเต๋า กับเทพในแนวคิดพุทธ ก็พร่ามัวมากในความคิดของชาวบ้านจีน
            จี้กง (ji gong) และเจ้าแม่กวนอิม (guan shi yin : กวน สื้อ อิน) ถ้าจัดแบ่งตามคติความเชื่อที่มาที่ไปแล้ว น่าจะเป็นแนวความคิดทางพุทธ แต่เมื่อพุทธศาสนาเข้าสู่จีนนั้น ได้ผสานเอาทั้งลัทธิพราหมณ์และลัทธิเต๋าเข้าไว้ด้วย ความเป็น 'พระ' และความเป็น 'เทพ' จึงผสานเข้าหากัน ศัพท์ภาษาจีน : shen fo : เสินฝอ-จีนกลาง, สิ่งฮุก-แต้จิ๋ว) โดยรูปคำแปลว่า เทพ และพระ โดยกินความได้ทั้งความหมาย 'สิ่งศักดิ์สิทธิ์', 'เทพเจ้า' แม้แต่รูปปั้นแทนตัวศวกยะมุนีพุทธะและเจ้าแม่กวนอิม หรือพระอวโลกิเตศวร ก็ใช้คำ 'เสินฝอ' หรือ 'สิ่งฮุก' เรียกแทนได้
            เวลาคนจีนพูดว่า 'ไป้เสิน' (bai shen) แปลโดยเคร่งครัดแล้วควรจะหมายถึงการไหว้เทพในสายคติคิดเต๋า แต่แม้ไปไหว้พระพุทธรูป หรือไปกราบไหว้เจ้าแม่กวนอิม จะใช้คำว่า 'ไป้เสิน' ก็มิได้รู้สึกว่าฟังแปร่งหูนัก
            ที่จริงแล้วพระพุทธรูปมีคำศัพท์เฉพาะว่า 'ฝอเซียง' (fo xiang-จีนกลาง) ส่วนเทวรูปมีศัพท์เฉพาะว่า 'เสิน เซียง' (shen xian) เสินฝอ (shen fo) อันหมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จึงหมายรวมถึงทั้งเทวรูป และพุทธรูป
            ความกำกวมคลุมเครือในแนวคิดอุดมคติเรื่องความดี และกุศลผลบุญของจีนนั้น ยากจะแยกแยะเต๋าและพุทธออกจากกันอย่างเด็ดขาด ถึงอย่างไรอุดมคติ เรื่อง 'ความดี' ความเป็น 'กุศล' และ 'บุญ' นั้น ก็เป็นสภาวะดีงาม เป็นนามธรรมแห่งอุดมคติ และเป็นธรรมภาวะ เป็นภาวะสงบสุข ปลอดจากพันธนาการและความรัดรึงที่ชวนให้อึดอัดคับข้อง
            การผสมผสานแนวคิดแบบพุทธ, เต๋า และขงจื๊อ ปรากฏทั่วไปในวรรณกรรมบู๊เฮี้ยบ หลักการของจอมยุทธ์ แยกออกจากอุดมคติของ 3 สายธารความคิดนี้ยากอย่างยิ่ง นักเขียนเรื่องบู๊เฮี้ยบที่ได้รับการยกย่องสูง ไม่เพียงแต่จะเป็นนักเขียนเรื่องแต่งที่มีความสามารถมาก หากแต่ยังต้องผสานความรู้เชิง 'จีนวิทยา' เข้าไว้ในเรื่องอย่างกลมกลืน
            ความรู้เชิงจีนวิทยา ครอบคลุมทั้งเรื่องปรัชญาจีน ขนบธรรมเนียมประเพณี สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ และประวัติศาสตร์จีน ความรู้เหล่านี้ผสมผสานและแฝงอยู่ในเรื่องบู๊เฮี้ยบชั้นดี การที่ 'กิมย้ง' ถูกยกย่องมากกว่านักเขียนเรื่องบู๊เฮี้ยบคนใดๆ นั้น มิได้เพียงเพราะว่าเขาเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งอย่างยิ่ง แต่คำยกย่องทั้งหลายยังมาจากการยกย่องใน 'องค์ความรู้' ด้านจีนวิทยาอันกว้างขวางและลึกซึ้งอีกด้วย



เรืองรอง รุ่งรัศมี


ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ "ในยุทธจักร" เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 778

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น