ค้นหาบทความ

วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

รุ่นของผู้กำกับ ภาพยนตร์จีนแดงแผ่นดินใหญ่


การแบ่งผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ของจีนแผ่นดินใหญ่เป็นรุ่นต่างๆ แพร่หลายจนกลายเป็นประเพณีขึ้นมาในปัจจุบัน มาจากการเรียกกลุ่มผู้กำกับ “รุ่นที่ 5” เป็นรุ่นแรก
แล้วผู้กำกับรุ่นอื่นๆ คือใคร และเป็นอย่างไร
ข้อมูลจากนิตยสารด้านภาพยนตร์จีน ตามลักษณะเฉพาะทางสุนทรียศาสตร์ที่พวกเขานำมาใช้กับภาพยนตร์ที่เขาสร้าง สามารถแบ่งได้ดังนี้
รุ่นที่ 1 คือ กลุ่มที่บุกเบิกให้มีการสร้างภาพยนตร์จีนขึ้น โดยยึดหลักสุนทรียศาสตร์ของภาพยนตร์ กลุ่มนี้ประกอบด้วย เจิ้งเจิ้งชิว, จางเสอชวน, โหวย่าว เป็นอาทิ
รุ่นที่ 2 มีสมาชิกเป็นผู้กำกับที่อยู่ในช่วงทศวรรษ 1930-1940 อันประกอบด้วย เซี่ยเอี่ยน, ไช่ฉู่เซิง, อู๋หย่งกัง, เฟ่ยมู่, เสิ่นซีหลิง เป็นต้น
รุ่นที่ 3 หมายถึง กลุ่มผู้กำกับช่วงทศวรรษ 1950 อันเป็นภายหลังจากที่ได้มีการสถาปนาประเทศจีนขึ้นใหม่แล้ว ผู้กำกับรุ่นนี้มี สุ่ยฮว๋า, เฉิงอิ่น, ชุยเหวย, เจิ้งจวิ้นหลี่, เซ่จิ้น เป็นต้น
หนังของคนทำหนังกลุ่มนี้ ถือเป็นภาพยนตร์ของฝ่ายซ้ายได้โดยแท้ เพราะยึดถือคติทางศิลปะแบบสังคมนิยมและอัตถนิยม มักเป็นภาพยนตร์ที่มุ่งสะท้อนเรื่องราวชนชั้นกรรมาชีพ คือ กรรมกร ชาวนา และนักปฏิวัติ
รุ่นที่ 4 ผู้กำกับรุ่นนี้คือ นักศึกษาด้านภาพยนตร์ที่สำเร็จการศึกษาช่วงทศวรรษ 1960 แต่เริ่มเข้าสู่แวดวงภาพยนตร์ในช่วงต้นทศวรรษ 1980
ผู้กำกับกลุ่มนี้ประกอบด้วย อู๋อี๋กง, จางหน่วนซิน, เถิงเหวินจี้, เซ่เฟย เป็นต้น พวกเขามักทำหนังที่มีลักษณะของงานบันทึกความเป็นจริง โดยมีความคิดแบบนักมนุษยนิยม
รุ่นที่ 5 คือ ผู้กำกับภาพยนตร์จีนที่กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังในระดับนานาชาติในช่วงปัจจุบัน พวกเขาเข้าสู่แวดวงภาพยนตร์ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1982 เป็นต้นมา เป็นคนสร้างหนังที่เติบโตมากับการปฏิวัติวัฒนธรรม และเริ่มก่อรูปก่อร่างในวงการภาพยนตร์ภายหลังจากนั้น ผลงานของผู้กำกับกลุ่มนี้มักจะได้รับการกล่าวขวัญถึง หรือได้รับรางวัลต่างๆ ในงานเทศกาลภาพยนตร์หรือการประกวดภาพยนตร์ภายนอกประเทศจีน ถือได้ว่าเป็นกลุ่มผู้กำกับที่ชื่อและผลงานกำลังขายได้ดีในตลาดภาพยนตร์ปัจจุบัน
ผู้กำกับที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มรุ่นที่ 5 มี เฉินข่ายเกอ, จางอี้โหมว, เถียนจวงจวง, อู๋จื่อหนิว, หลี่ซ่าวหง เป็นต้น
ภาพยนตร์ของผู้กำกับในรุ่นที่ 5 ได้เข้ามาฉายในโรงหนังบ้านเราหลายเรื่อง และดูเหมือนจะเป็นที่รับได้ของคนดูหนังในเมืองไทยด้วย เช่น เรื่อง “จวี๋โต้ว” (JU DOU), “ลาก่อน แม่นางสนมข้า” (FAREWELL TO MY CONCUBINE) (ขออนุญาตไม่ใช้ชื่อไทยตามโรงหนัง เพราะรับไม่ได้โดยสิ้นเชิงกับการตั้งชื่อหนังจีนในยุคปัจจุบัน อีกประการหนึ่ง การแปลชื่อหนังตามชื่อเรื่องภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษ น่าจะมีประโยชน์กว่าในการศึกษาและอ้างอิงเมื่อวันเวลาผ่านไป)
ภาพยนตร์อย่างเรื่อง “โคมแดงแขวนเอาไว้สูงๆ” (RAISE THE RED LANTERN) หรือ “แจวเอย แจว! แจวถึงสะพานที่บ้านยาย” (SHANGHAI TRIAD) และสองเรื่องที่เอ่ยถึงข้างต้น ล้วนแต่เคยเห็นมีเป็นวิดีโอวางขายอยู่ทั่วไป เพียงแต่บางเรื่องคำบรรยายไทยอาจจะคลาดเคลื่อนไปจากความหมายเดิม ให้รู้สึกรำคาญใจเวลาชมอยู่บ้าง
ดูเหมือนว่าหนังของผู้กำกับรุ่นที่ 5 เรื่องอื่นๆ ก็พอจะหาได้จากแหล่งที่พวกหลงใหลงานภาพยนตร์เขาไปเสาะหากัน แล้วก็อย่าตะขิดตะขวงใจกับการซื้อเทปผีกันเลย เพราะถ้ารอหาที่มีลิขสิทธิ์ก็อาจจะรอเก้อ หรือเทปลิขสิทธิ์บางเรื่องก็แปลคำบรรยายไทยผิดพลาด ดังกรณีเรื่อง “ลาก่อน แม่นางสนมข้า” ที่ข้าพเจ้าเพิ่งดูผ่านตามาเมื่อไม่กี่วันนี้เอง
รุ่นที่ 6 เป็นกลุ่มรุ่นน้องของผู้กำกับรุ่นที่ 5 พวกเขาสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการภาพยนตร์ปักกิ่ง ช่วงปลายทศวรรษ 1980 เริ่มเสนอผลงานสู่สาธารณะในช่วงทศวรรษ 1990 ปัจจุบันแม้ว่าผู้กำกับรุ่นนี้จะยังมิได้มีชื่อเสียงโด่งดังนัก แต่ก็เป็นที่จับตามองของวงการภาพยนตร์โลกแล้ว
ผู้กำกับในกลุ่มรุ่นที่ 6 ประกอบด้วย หวางเสี่ยวซ่วย, หลี่จวิ้น, เหอเจี้ยนจวิน, หูเสวี่ยหยาง, จางหยวน, ก่วนหู, โหลวเย่, หวางญุ่ย, ลู่เสวียฉาง, หม่าเสียวหย่ง, อูตี๋ เป็นต้น
อาจคาดการณ์ได้ว่าในช่วงระยะเวลาข้างหน้านับจากนี้ไป กลุ่มผู้กำกับรุ่นที่ 6 คงจะค่อยๆ แสดงสถานะของตนให้ประจักษ์ชัดต่อสายตาชาวโลกและวงการภาพยนตร์ บางทีชื่อของผู้กำกับรุ่นที่ 6 อาจเป็นรุ่นต่อไปที่จะได้ร่วมงานกับกลุ่มทุนนอกประเทศ ดังเช่นที่รุ่นพี่เคยถากถางหนทางเอาไว้
ทั้งภาพยนตร์จีนของกลุ่มผู้กำกับรุ่นที่ 5 และผู้กำกับรุ่นที่ 6 น่าจะหาได้ไม่ยากที่ฮ่องกง ในรูปของแผ่นเลเซอร์ดิสก์ วิดีโอ วิดีโอซีดี

ภาพยนตร์จีนมีประวัติยาวนานมาถึง 90 ปี เริ่มมีการสร้างหนังในเมืองจีน ภายหลังจากหนังเรื่องแรกของโลกราวๆ 10 ปี และแม้ว่าเอกสารข้อมูล ตลอดจนถึงฟิล์มภาพยนตร์เก่าๆ ของจีน จะมิได้มีอยู่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ แต่การมีสถาบันการศึกษาด้านภาพยนตร์โดยตรงอย่างเป็นทางการ ก็ช่วยให้ข้อมูลต่างๆ ถูกรวบรวมไว้ใช้เพื่อการศึกษา อันเป็นผลให้ภาพยนตร์ (จำนวนหนึ่ง) ของจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นผลงานที่มี “ราก” มีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน ความไม่ใช่ “มวยวัด” เช่นนี้เองที่เอื้อให้เกิดการเติบโตที่มั่นคงแข็งแรงต่อภาพยนตร์จีนในปัจจุบันและอนาคต
ผู้รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์จีนกล่าวว่า ยุคทศวรรษ 1930-1940 และทศวรรษ 1980 เป็นช่วงเวลาอันสำคัญยิ่งของวงการภาพยนตร์จีนในแผ่นดินใหญ่
ยุคทศวรรษ 1930-1940 นั้น เป็นช่วงเวลาที่สามารถสถาปนาอาณาจักรแห่งภาพยนตร์ในประเทศจีนได้อย่างมั่นคง มีตำแหน่งแห่งที่ในฐานะหนึ่งของศิลปะที่ผู้คนยอมรับทั่วไป
ช่วงทศวรรษ 1980 เป็นช่วงเวลาที่สามารถสถาปนาที่ทางของภาพยนตร์จีนต่อโลกภายนอก เป็นช่วงเวลาที่คนทำหนังจีนในแผ่นดินใหญ่สามารถยืนยันถึงตัวตนและความมีอยู่ของภาพยนตร์จีนต่อชาวโลกได้
ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ภาพยนตร์โดยกลุ่มผู้กำกับรุ่นที่ 5 ของจีนแผ่นดินใหญ่ก็ไปคว้ารางวัลจากประเทศต่างๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า
เมืองไทยนั้นคุ้นเคยกับภาพยนตร์จีนมานานหลายสิบปี ก่อนที่ภาพยนตร์ของบริษัท ชอว์ บราเธอส์ แห่งฮ่องกง จะเฟื่องฟูเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในเมืองไทย ช่วงราวทศวรรษ 1960 ภาพยนตร์โดยบริษัท ภาพยนตร์ฉางเฉิง ก็เคยเป็นที่ชื่นชมของคนดูหนังจีนยุคเก่าในเมืองไทย นอกจากนี้ ภาพยนตร์จีนจากแผ่นดินใหญ่เรื่องอื่นๆ ก็เคยฉากแพร่หลายตามโรงหนังทั่วไปในเมืองไทย ก่อนที่จะค่อยๆ ถูกรุกคืบหนังบู๊กวางตุ้ง (ซึ่งสร้างในฮ่องกงยุคก่อน ชอว์ บราเธอส์เฟื่อง) หนังรักจากไต้หวันก็เคยครองใจนักดูหนังจีนที่เป็นแฟนประจำของโรงภาพยนตร์กรุงเกษม (ปัจจุบันถูกทุบทิ้งไปแล้ว) ช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 ภาพยนตร์ฝ่ายซ้ายอย่างเรื่อง “ลูกชาวนา” ก็เคยเข้ามาฉายแถบเยาวราช แล้วยังมีภาพยนตร์งิ้วแต้จิ๋วที่ครองใจคนดูหนังรุ่นจีนอพยพอีก

ปัจจุบัน กิจการภาพยนตร์จีนทั้งจากจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไต้หวัน ต่างก็กำลังเป็นที่จับตามองของวงการภาพยนตร์โลก ภาพยนตร์ฮ่องกงครองตลาดไปทั่วโลก จนมีคำกล่าวยกย่องว่า ฮ่องกง คือ ฮอลลีวู้ด แห่งตะวันออก
หลังจากประสบความสำเร็จอย่างมากกับภาพยนตร์แนวตลาด คนทำหนังฮ่องกงจำนวนหนึ่ง กำลังรู้สึกท้าทายกับการทำหนัง ซึ่งเป็นที่ยอมรับในแง่ศิลปะ
ทางด้านไต้หวัน หลังจากการทำหนังตลาดอย่างสุกเอาเผากินช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนแทบทำลายธุรกิจภาพยนตร์ในประเทศเสียย่อยยับ ผู้คนก็เริ่มได้สติคืนมา ประกอบกับรัฐบาลของเขาเห็นคุณค่าของศิลปะแขนงนี้ และให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ปัจจุบัน ภาพยนตร์ไต้หวันจำนวนหนึ่งก็ยกระดับคุณภาพขึ้นอย่างน่าพอใจ
ด้านจีนแผ่นดินใหญ่นั้น นอกจากผู้กำกับรุ่นที่ 4 และรุ่นที่ 5 ที่ยังคงสร้างงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ผู้กำกับรุ่นที่ 6 ก็กำลังเติบโตและทยอยสร้างผลงานออกมาพิสูจน์ตัวเอง
อีกดินแดนหนึ่งที่อาจก้าวเข้ามามีบทบาทในวงการภาพยนตร์จีน คือ สิงคโปร์ ปัจจุบัน วงการภาพยนตร์โลกยังคงค่อนข้างมองข้ามสิงคโปร์ไป อาจเพราะเนื่องจากวิธีคิดแบบเด็กดีหรือคนเรียบร้อยของชาวสิงคโปร์ ที่เป็นข้อจำกัดต่อการสร้างสรรค์งานทางศิลปะให้แหลมคมและมีพลังเข้มข้น แต่สิงคโปร์วันนี้ก็เริ่มก้าวออกจากแผ่นดินผืนเล็กๆ ของตน เพื่อแสวงหาความร่วมมือกับการทำหนังร่วมกับฮ่องกงบ้างแล้ว บางทีสิงคโปร์อาจก้าวข้ามข้อจำกัดของตนก็ได้ในวันข้างหน้า


เรืองรอง รุ่งรัศมี


พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกใน “เดือน... ดาว... ในเงาฟิล์ม” แพรวเอนเตอร์เทน พ.ศ.2542

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น